tdri logo
tdri logo
21 พฤศจิกายน 2014
Read in Minutes

Views

ประเทศไทยใน 30 ปีข้างหน้า สร้างการเติบโตอย่างเป็นธรรม

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

หากจะมองให้ลึก มองให้ไกล ถึงอนาคตประเทศไทยในอีก 30 ปีข้างหน้า ความท้าทายประการหนึ่งคือการพัฒนาคุณภาพของทุนมนุษย์ ซึ่งมีปัจจัยฉุดรั้งสำคัญคือคุณภาพการศึกษาและระบบสวัสดิการสังคมที่ยังไม่ดีพอ ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรม  อย่างไรก็ตาม ในห้วงเวลาข้างหน้า สังคมไทยยังสามารถฉกฉวยเพื่อสร้างโอกาสที่ดีกว่าได้

โดยในการสัมมนาวิชาการทีดีอาร์ไอ ประจำปี 2557 เรื่อง “ประเทศไทยในสามทศวรรษหน้า: สี่ความท้าทายเพื่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพ” ในวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้ ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ เซ็นทรัลเวิลด์  ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ และ ดร.ตรีนุช ไพชยนต์วิจิตร จะได้นำเสนอผลการศึกษาในหัวข้อ “การเติบโตอย่างเป็นธรรม: การสร้างโอกาสและการลดความเสี่ยงของประชาชน” นำเสนอประเด็นหลักในช่วง 3 วัย ได้แก่ วัยเด็กกับโอกาสทางการศึกษา แรงงานกับโอกาสทางการทำงานและการออม และวัยผู้สูงอายุกับความเสี่ยงด้านสุขภาพและความมั่นคงทางรายได้

ภาพรวมสังคมไทยในอีก 30 ปีข้างหน้า การสร้างสังคมที่ให้โอกาสและคุ้มครองความเสี่ยงทางสังคมแก่ประชาชนอย่างเท่าเทียมกันถือเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายควรตระหนัก เนื่องจากโครงสร้างประชากรจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้นเป็น 35% ในขณะที่วัยเด็กมีเพียง 17%  ซึ่งหากโครงสร้างเปลี่ยนจะส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมด้วยเช่นกัน  ขณะเดียวกันคนในแต่ละช่วงวัยมีปัญหาความเสี่ยงและความเป็นธรรมแตกต่างกัน  การศึกษานี้จึงจะชี้ให้เห็นความเสี่ยงและโอกาสของคนในแต่ละช่วงวัยที่จะต้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงไปพร้อมกันอย่างเป็นระบบจึงจะสร้างทุนมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพและรับมือกับสถานการณ์สังคมสูงวัยในสามทศวรรษหน้าได้

ในวัยเด็ก ความเสี่ยงมาจากระบบการศึกษา ซึ่งปัจจุบันระบบการศึกษาไทยใช้งบประมาณสูง แต่มีคุณภาพต่ำ และมีความเหลื่อมล้ำสูง การปฏิรูปแก้ไขปัญหาเหล่านี้ควรเริ่มจากการยกระดับคุณภาพครู ซึ่งมีโอกาสทองจากการทดแทนครูที่เกษียณในสังกัด สพฐ. ถึงครึ่งหนึ่งในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยปรับระบบการคัดเลือกครูใหม่ให้เป็นการจัดทดสอบมาตรฐานระดับชาติและให้โรงเรียนมีบทบาทคัดเลือกผู้ที่ผ่านการทดสอบดังกล่าว จากเดิมที่แต่ละเขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้จัดการสอบ ซึ่งคุณภาพข้อสอบแตกต่างกันระหว่างเขตฯและโรงเรียนไม่มีบทบาทคัดเลือกครู

นอกจากนี้ ควรต้องพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กซึ่งมักมีปัญหาเรื่องครูไม่ครบชั้นและมีต้นทุนต่อหัวนักเรียนสูง จำนวนโรงเรียนขนาดเล็กทั้งหมดมีถึง 15,000 แห่ง จาก 30,000 แห่ง และ 12,000 แห่งมีครูไม่ครบชั้น ภาครัฐควรสนับสนุนให้โครงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ใกล้กันและมีการคมนาคมที่สะดวกมาจัดการศึกษาร่วมกันและมีการคมนาคมที่สะดวกมาจัดการศึกษาร่วมกันและอุดหนุนค่าใช้จ่ายเดินทางให้นักเรียนสำหรับโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ห่างไกล ควรต้องจัดสรรครูเพิ่มให้เพียงพอต่อการจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ

ส่วนการลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา การจัดสรรทรัพยากรควรต้องคำนึงถึงการสร้างโอกาสให้นักเรียนทุกคนมีผลการเรียนที่ดี ฐานะของนักเรียนและศักยภาพของโรงเรียน โดยมุ่งจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวเพิ่มขึ้นให้แก่นักเรียนจากจนในโรงเรียนขนาดเล็ก จากปัจจุบันที่นักเรียนทุกคนได้รับเงินอุดหนุนรายหัวเกือบเท่ากัน

สำหรับวัยแรงงาน ความเสี่ยงในปัจจุบัน ยังมีแรงงานจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา กลุ่มผู้สูงอายุ และแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้รับค่าจ้างตามมาตรฐานขั้นต่ำ และอยู่นอกกรอบการคุ้มครองของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงกฎหมายให้เกิดความเป็นธรรมกับแรงงานทุกกลุ่มและในทุกอุตสาหกรรมโดยไม่มีข้อยกเว้น เมื่อคนมีรายได้เพียงพอกับการยังชีพ ก็ไม่จำเป็นต้องมีโครงการประชานิยม กฎหมายคุ้มครองแรงงานควรมุ่งเน้นคุ้มครองแรงงาน ไม่ใช่คุ้มครองผู้ประกอบการ อีกความเสี่ยงในวัยแรงงานคือมักมีการออมต่ำ และจะมีผลสืบเนื่องไปซ้ำเติมสู่วัยสูงอายุ ซึ่งจะมีปัญหาด้านสุขภาพ และขาดความมั่นคงทางรายได้

ในด้านสุขภาพ จากปัญหาของระบบหลักประกันด้านสุขภาพของคนไทยในปัจจุบันซึ่งมี 3 ระบบหลัก คือ ข้าราชการ ผู้ประกันตน และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ยังไม่มีมาตรฐานที่เท่าเทียมกัน คุณภาพการให้บริการที่แตกต่างกันมาก ดูได้จากค่าใช้จ่ายต่อหัวที่แตกต่างกันมาก เมื่อประชาชนถึงวัยสูงอายุจะอยู่ใน 2 ระบบหลัก คือสวัสดิการรักษาพยาบาลในกลุ่มข้าราชการ และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งผลการศึกษาเชิงประจักษ์พบว่าผู้สูงอายุระยะสุดท้ายก่อนตาย 1 ปี ในกลุ่มข้าราชการ มีค่าใช้จ่ายและการครองเตียงมากกว่าผู้สูงอายุในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามากกว่า 2 เท่า จำเป็นต้องแสวงหาทางเลือกการการจัดระบบอภิบาลที่ดีในระดับปฐมภูมิ โดยร่วมกับท้องถิ่น

สำหรับความมั่นคงด้านรายได้ จากสัดส่วนผู้สูงวัยร้อยละ 35 พบว่ามี 73 % ของผู้สูงวัยที่ไม่มีหลักประกันด้านรายได้เลย และหากมองในแง่งบประมาณการอุดหนุนแก่ผู้สูงอายุในอีก 30 ปี อัตราเบี้ยยังชีพหรือภาระในส่วนนี้จะเพิ่มสูงขึ้น 5.6 เท่า ซึ่งเป็นภาระงบประมาณที่รัฐต้องดูแล และเมื่อมองในกลุ่มวัยแรงงานที่มีจำนวนน้อยลง ถือเป็นการสร้างภาระของวัยแรงงานในอนาคต ซึ่งการศึกษานี้พยายามแสวงหาทางออก การหามาตรฐานการสนับสนุนให้เกิดการออมในทุกช่วงวัยเพื่อลดการพึ่งพาจากรัฐในอนาคต รวมทั้งการเร่งรัดการใช้กฎหมาย กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว

สำหรับแนวทางการปฎิบัติอย่างเป็นรูปธรรมเพื่ออนาคตประเทศไทยในสามทศวรรษหน้าที่ไม่ไกลและควรเริ่มทำโดยเร็วเสียตั้งแต่วันนี้นั้น ทีดีอาร์ไอขอเชิญชวนผู้สนใจติดตามการถ่ายทอดสดการสัมมนาได้ที่ www.tdri.or.th และร่วมสอบถามหรือแสดงความคิดเห็นได้ทาง www.facebook.com/tdri.thailand และ Twitter: @tdri_thailand

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด