‘ทีดีอาร์ไอ’ ชี้รัฐใช้งบสิ้นเปลือง ทุ่มซื้อสื่อ 8 พันล้าน

ปี2014-12-02

“ทีดีอาร์ไอ”เปิดตัวเลขหน่วยงานรัฐใช้เงินซื้อโฆษณาผ่านสื่อกว่าปีละ 8 พันล้านบาท ครึ่งหนึ่งเป็นของรัฐวิสาหกิจ เสนอออกกฎหมายวางกรอบสกัดนักการเมือง ข้าราชการระดับสูงหาประโยชน์เข้าตัวเอง-พรรค แนะตั้งหน่วยงานกลางคุมการใช้เงิน ดึง สตง.ร่วมตรวจสอบ

นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในระหว่างการเผยแพร่งานวิจัยเรื่อง “การครอบงำสื่อสาธารณะ” ว่า ปัจจุบันการซื้อสื่อประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งรวมทั้งรัฐวิสาหกิจและองค์กรอิสระต่างๆ มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นและมีรูปแบบที่สลับซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งการใช้เงินซื้อสื่อประชาสัมพันธ์จำนวนไม่น้อยที่มีลักษณะการใช้เงินแผ่นดิน ซึ่งประกอบไปด้วยเงินงบประมาณ เงินอุดหนุน หรือรายได้จากการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจไปใช้ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกิดประโยชน์กับนักการเมือง พรรคการเมือง หรือข้าราชการระดับสูงที่เป็นหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ มากกว่าที่จะสร้างประโยชน์ให้กับประชาชน

ทั้งนี้การซื้อสื่อของรัฐในลักษณะดังกล่าวจะกลายเป็นอุปสรรคในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย เนื่องจากอาจจะทำให้การเผยแพร่ข้อมูลหรือการตรวจสอบหน่วยงานภาครัฐของสื่อสารมวลชนขาดความเป็นกลางและโน้มเอียงตามการใช้งบประมาณในส่วนนี้เข้ามาแทรกแซง

นางเดือนเด่น กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลในปี 2556 หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจและองค์กรอิสระ มีการใช้เงินในการซื้อสื่อโฆษณาทั้งสิ้น 7,985 ล้านบาท ซึ่งไม่รวมกับงบประมาณที่ใช้ในการจัดงานนิทรรศการและอีเว้นท์ต่างๆ โดยมีการใช้เงินงบประมาณจำนวนนี้ไปในการซื้อสื่อโทรทัศน์มากที่สุดประมาณ 50% รองลงมาเป็นการใช้เม็ดเงินในการซื้อสื่อในโรงภาพยนตร์ 18% หนังสือพิมพ์ 16% สื่อวิทยุ 11%และสื่ออื่นๆอีก 5%

สำหรับหน่วยงานที่ใช้งบประมาณในการซื้อสื่อมากที่สุดแบ่งตามประเภทหน่วยงานพบว่าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจใช้งบประมาณรวมกัน 3,788 ล้านบาท หรือ 48% ของการใช้เงินซื้อสื่อโฆษณาของภาครัฐ รองลงมาเป็นกระทรวงต่างๆใช้เงินซื้อสื่อโฆษณารวมกัน 3,119 ล้านบาท คิดเป็น 39% ขณะที่หน่วยงานในองค์กรอิสระต่างๆ ใช้เงินในการซื้อสื่อโฆษณา 9% และกรุงเทพมหานคร(กทม.) ใช้เงินในการซื้อสื่อ 3% ของเงินงบประมาณในการซื้อสื่อโฆษณาทั้งหมด ทั้งนี้เมื่อดูในรายละเอียดพบว่าหน่วยงานที่ใช้งบประมาณในการซื้อสื่อเพื่อประชาสัมพันธ์มากที่สุดในอันดับต้น ได้แก่ ธนาคารออมสิน สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงอุตสาหกรรม บริษัท อสมท.จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)

“จากการวิจัยพบว่าการใช้งบประชาสัมพันธ์ในปี 2556 รัฐใช้เงินงบประมาณในการประชาสัมพันธ์ 8 พันล้านบาท ไม่รวมการจัดอีเวนท์และกิจกรรมอื่นๆ โดยครึ่งหนึ่งเป็นของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ”
นอกจากนั้นในการตรวจสอบในเชิงคุณภาพของการโฆษณาของหน่วยงานรัฐในสื่อหนังสือพิมพ์ โดยใช้มาตรฐานการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ของประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งจะไม่มีการใช้สื่อในการโฆษณาชื่อ นามสกุล ตำแหน่ง เสียง และหน้าตาของนักการเมือง และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจต่างๆ ลงในสื่อ แต่พบว่าในประเทศไทยยังมีการใช้สื่อโฆษณาในรูปแบบดังกล่าว

นายธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัยทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า แนวทางในการกำกับดูแลการซื้อสื่อของรัฐเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการแก้ปัญหาคอร์รัปชันโดยขณะนี้ทีดีอาร์ไอได้ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ในการเสนอร่าง พ.ร.บ.การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ พ.ศ….ให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเพื่อเป็นกฎหมายให้มีการบังคับใช้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการใช้เงินในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐในสื่อต่างๆ

สำหรับข้อเสนอแนะในการควบคุมการใช้เงินซื้อสื่อและควบคุมการใช้เงินในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐประกอบไปด้วย 1.การควบคุมในส่วนของเนื้อหา คือห้ามไม่ให้ การโฆษณาของรัฐในสื่อต่างๆ มีชื่อ รูป เสียง ของนักการเมือง หรือหัวหน้าส่วนราชการ 2.ผลักดันให้การโฆษณาของรัฐเป็นการดำเนินการโดยรวมศูนย์ โดยหน่วยงานต่างๆของรัฐมาร่วมกันกำหนดแผนการประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลในแต่ละปีอย่างจริงจัง มีการกำหนดแผน และวงเงินประชาสัมพันธ์รายปีไว้ล่วงหน้า และ 3.การควบคุมในส่วนของการบังคับใช้ ให้สำนักงานผู้ตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย โดยมีอำนาจไม่อนุมัติการเบิกจ่ายได้หากการซื้อสื่อของรัฐไม่เป็นไปตามกฎหมายที่วางไว้

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 2 ธันวาคม 2557