บ้านเมืองรายงาน: ประเทศไทยเตรียมรับสังคมผู้สูงอายุ นโยบายรัฐต้องสอดรับ ใช้เทคโนโลยีช่วย

ปี2014-12-01

เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดสัมมนาวิชาการประจำปี 2557 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาเรื่อง “ประเทศไทยในสามทศวรรษหน้า : สี่ความท้าทายเพื่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพ” โดยระบุว่า ประเทศไทยต้องเร่งหาทางออก 3 เรื่องคือ ปัญหาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำ, ปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและปัญหาสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบในปี 2568 และวางแผนจัดเก็บภาษีให้เพียงพอจากฐานจัดเก็บปัจจุบันที่ยังต่ำมาก พร้อมทั้งประเมินว่าไทยต้องก้าว สู่ประเทศเกษตรทันสมัยและบริการฐานความรู้ ซึ่งสถานการณ์นี้การพัฒนาเศรษฐกิจไทยจะเน้นการพัฒนาเกษตรดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย พัฒนาภาคบริการให้เป็นบริการฐานความรู้ โดยเปิดเสรีภาคบริการ ใช้ระบบไอที และพัฒนาแรงงานทั่วไปให้มีทักษะมีคุณภาพสูง

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2557 ของ ทีดีอาร์ไอ ในหัวข้อ “สู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพ : ความท้าทายและโอกาสของประเทศไทยใน 3 ทศวรรษหน้า” โดยระบุว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ทำให้รัฐบาล ภาคธุรกิจ และประชาชนสนใจเฉพาะปัญหาระยะสั้นมากกว่าปัญหาในเชิงโครงสร้าง เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้พ้นกับดักรายได้ปานกลาง, การปฏิรูปการศึกษา และการรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ทั้งนี้ มองว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2568 และอีก 30 ปีหรืออีก 3 ทศวรรษหน้า ประเทศไทยจะมีคนสูงอายุถึง 36% ซึ่งหากไม่สามารถหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางได้ทัน ไทยจะกลายเป็นประเทศแรกๆ ในเอเชียที่แก่ก่อนรวย และแก่โดยไม่มีสวัสดิการเพียงพอ เพราะกองทุนประกันสังคมอาจจะมีปัญหาถึงขั้นล้มละลายในอีกประมาณ 30 ปีข้างหน้าหากไม่มีการปฏิรูปอย่างทันการณ์

นายสมเกียรติ ยังได้ยกตัวอย่างสถานการณ์ประเทศไทยในอีก 3 ทศวรรษหน้าที่เป็นไปได้ไว้ 3 แนวทาง คือ สถานการณ์แรก : ประเทศไทยไปเรื่อยๆ ซึ่งสถานการณ์นี้คล้ายกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่ไทยเป็นอยู่ แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจจะเฉลี่ยลดลงเหลือปีละ 3.55% คนไทยมีรายได้เฉลี่ย 17,000 ดอลลาร์ในปี 2588 และหลุดพ้นจากระดับรายได้ปานกลางในปี 2579 หรือหลังจากเข้าสู่สังคมสูงอายุกว่าทศวรรษ
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกอย่างรุนแรง จะทำให้การเปลี่ยนผ่านล่าช้าไปอีก 2 ปี, หากรัฐใช้นโยบายประชานิยมโดยใช้เงินราวปีละ 1 แสนล้านบาท จะทำให้ไทยเปลี่ยนผ่านช้าออกไปอีก 4 ปี หรือหากเกิดวิกฤติอัตราแลกเปลี่ยน การเปลี่ยนผ่านจะล่าช้าไปอีก 2 ปี แต่ที่สำคัญที่สุดคือ หากเกิดวิกฤติทางการเมือง การเปลี่ยนผ่านจะยิ่งล่าช้าออกไปอีกมาก ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงที่ใหญ่มากสำหรับสังคมไทย ดังนั้นประเทศไทยจะไปเรื่อยๆ แบบนี้คงไม่ได้

สถานการณ์ที่ 2 : สู่ประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้า เศรษฐกิจไทย จะถูกขับเคลื่อนจากการยกระดับผลิตภาพในภาคอุตสาหกรรม มีการทำ R&D การพัฒนาแบรนด์สินค้า ตลอดจนการย้ายฐานการผลิตในสินค้าที่มูลค่าเพิ่มต่ำไปยังประเทศเพื่อนบ้าน สถานการณ์นี้คาดว่าคนไทยจะมีรายได้ต่อหัว 23,700 ดอลลาร์ต่อปี จากเติบโตเฉลี่ยปีละ 4.6% และทำให้พ้นระดับรายได้ปานกลางในปี 2571 หรือหลังจากเข้าสังคมสูงอายุเล็กน้อย อุตสาหกรรมจะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเป็น 64% ของจีดีพี แต่ทั้งนี้การเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมจะทำให้มีปัญหาสิ่งแวดล้อมสูงขึ้นและความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น เพราะประโยชน์ตกอยู่กับเจ้าของทุน

ดังนั้น ในสถานการณ์นี้ รัฐบาลต้องมีนโยบายที่เหมาะสม เช่น เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีคุณภาพสูง รณรงค์ให้เอกชนเพิ่มผลิตภาพและสร้างนวัตกรรม ขณะที่รัฐบาลไม่ควรดึงดูดแรงงานต่างด้าวทักษะต่ำเข้ามาในไทย เพราะจะทำให้อุตสาหกรรมพึ่งพาแรงงานราคาถูกต่อไป

สถานการณ์ที่ 3 : สู่ประเทศเกษตรทันสมัยและบริการฐานความรู้ ซึ่งสถานการณ์นี้การพัฒนาเศรษฐกิจไทยจะเน้นการพัฒนาเกษตรดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย พัฒนาภาคบริการให้เป็นบริการฐานความรู้ โดยเปิดเสรีภาคบริการ ใช้ระบบ IT และพัฒนาแรงงานทั่วไปให้มีทักษะมีคุณภาพสูง ซึ่งคาดว่าจะทำให้คนไทยมีรายได้ในปี 2588 สูงขึ้นถึง 28,400 ดอลลาร์ โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 5.2% ทำให้ไทยพ้นระดับรายได้ปานกลางในปี 2571 ภาคบริการมีมูลค่าเพิ่มเป็น 59.3% ของจีดีพี ขณะที่ภาคเกษตรเล็กลงเหลือ 3.8% ของจีดีพี แต่สถานการณ์นี้รัฐบาลจะต้องไม่มีนโยบายอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรมากจนทำให้เกษตรกรมุ่งผลิตสินค้าในเชิงปริมาณโดยไม่สนใจคุณภาพ และต้องไม่คุ้มครองบริการที่ผูกขาด ซึ่งก่อให้เกิดต้นทุนสูงต่อเศรษฐกิจ

“เมื่อเปรียบเทียบประเทศไทยใน 3 สถานการณ์ จะเห็นว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่เกษตรทันสมัยและบริการฐานความรู้น่าจะเป็นภาพที่พึงปรารถนาที่สุด เพราะจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงสุด ทำให้ไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางในปี 2571 หลังเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ไม่กี่ปี” นายสมเกียรติ กล่าว

ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านจะเกิดขึ้นได้อย่างราบรื่นจำเป็นต้องมีภาครัฐที่เปิดกว้าง มีวินัยและกระจายอำนาจ ขณะที่ยังสามารถประสานนโยบายภาพรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ความท้าทายที่สำคัญที่สุดในการเปลี่ยนผ่านของไทยในอีก 3 ทศวรรษคือ การปฏิรูปภาครัฐ

พร้อมระบุว่า การเปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคตที่พึงปรารถนาดังกล่าว จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อปัจจัย 4 ด้านนี้เกิดขึ้น คือ มีทุนมนุษย์คุณภาพสูง, การจัดสรรเงินทุนก่อให้เกิดผลิตภาพ, รัฐมีประสิทธิภาพ และระบบเศรษฐกิจต้องเปิดกว้าง

ขณะที่ นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานสภาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า ประเด็นสำคัญ 3 ประการที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องช่วยกันวิเคราะห์แก้ปัญหาเพื่อหาทางออกให้แก่ประเทศ คือ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ, การส่งออก และการดูแลสวัสดิการสังคม

โดยประเด็นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพีนั้น หากมองย้อนไปในช่วงก่อนปี 40 ประเทศไทยมีจีดีพีเฉลี่ยปีละกว่า 7% แต่หลังจากปี 40 เป็นต้นมาจีดีพีของไทยเฉลี่ยเหลือโตเพียงแค่ 3% เท่านั้น ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่จะต้องช่วยกันดูแลในส่วนนี้

ส่วนภาคการส่งออกนั้น พบว่า ในช่วงก่อนปี 56 การส่งออกของไทยจะมีทิศทางที่สอดคล้องกับสถานการณ์การค้าโลก แต่นับตั้งแต่ปี 56 จนถึงปัจจุบันกลับพบว่าการส่งออกของไทยมีการขยายตัวลดลงทั้งๆ ที่การค้าโลกไม่ได้ติดลบ แต่กลับฟื้นตัวดีขึ้น

นอกจากนี้ ประเทศไทยจะเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนจำเป็นต้องมีเงินออมมากขึ้น เพราะต้องใช้ชีวิตอยู่ยาวนานขึ้น แต่จากข้อเท็จจริงกลับพบว่าประชาชนมีหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการดูแลสวัสดิการสังคมในอนาคตให้มากขึ้น ในขณะที่ภาครัฐเองยังสามารถจัดเก็บรายได้ได้เพียง 17% เท่านั้น ซึ่งถือว่าเรื่องนี้จะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต

ด้าน น.ส.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการ TDRI กล่าวในหัวข้อ “การเติบโตอย่างมีพลวัต : การยกระดับความสามารถในการแข่งขัน” ว่า ไทยเผชิญการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยปีนี้ไทยได้ถูกจัดอันดับ 31 จาก World Economy Forum (WEF) ซึ่งยังคงรองจากประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย ขณะที่อินโดนีเซียก็ขยับอันดับมาที่ 34 ในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมองว่า จุดอ่อนของไทย ได้แก่ การจัดการบริหารของภาครัฐ ปัญหาการศึกษา ภาครัฐของประเทศไม่มั่นคง แต่ภาวะเศรษฐกิจมหภาคค่อนข้างดีถือเป็นจุดแข็งของไทย และระบบการเงิน การจัดการหนี้สาธารณะอัตราเงินเฟ้อที่เป็นส่วนดีของไทย
ปัญหาที่พบว่าการลงทุนที่มีผลิตภาพทำ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ ซึ่งใน 30% เป็นการลงทุนผ่านรัฐวิสาหกิจ ซึ่งที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ระหว่างรัฐวิสาหกิจไทย ในช่วง 52-56 มีอัตราต่ำได้แก่

บมจ.การบินไทย (THAI) + 0.5% บมจ.ทีโอที (TOT) -19.5% บมจ.กสทโทรคมนาคม (CAT) -17.5% บมจ.ปตท (PTT) +6.3% บมจ.อสมท. (MCOT) +5.7%. เมื่อเปรียบเทียบกับเอกชนมีอัตราผลตอบแทนสูงมากกว่า

น.ส.เดือนเด่น ได้ให้ข้อเสนอแนะใน 30 ปีข้างหน้าว่า ภาครัฐต้องรู้บทบาท รัฐควรปรับบทบาทไม่ประกอบธุรกิจภาคเอกชน เน้นการร่วมทุนกับเอกชน (PPP) และกระจายอำนาจในการตัดสินในการลงทุนให้ท้องถิ่น ซึ่งที่ผ่านมารัฐเปิดให้เอกชนลงทุนไม่มากเท่าที่ควร พร้อมให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพมากขึ้นโดยการส่งเสริมการแข่งขัน และสร้างแรงจูงใจให้ ผู้ประกอบการลดต้นทุน รวมทั้งสร้างสถาบันที่มีศักยภาพในการกำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ

ทั้งนี้ความสำเร็จหรือล้มเหลวของโมเดลใหม่ของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยใน 3 ทศวรรษหน้าขึ้นอยู่กับภาครัฐ

“สรุปแล้วเศรษฐกิจไทยไม่สามารถเติบโตในอนาคตโดยใช้โมเดล แบบเดิม แต่โมเดลการเติบโตในอนาคตต้องมาจากการยกระดับผลิตภาพของทุนและแรงงาน อย่างไรก็ดีการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีความซับซ้อนมากขึ้น จึงจำเป็นต้องพึ่งพาการลงทุนและการหนุนเสริมของภาครัฐที่มีประสิทธิภาพมากกว่าในอดีต” น.ส.เดือนเด่น กล่าว

นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ นายนณริฏ พิศลยบุตร ระบุว่า 2 ประเด็นสำคัญของวินัยทางด้านการคลังคือ 1.การควบคุมหนี้สาธารณะให้สามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้ในระยะยาว 2. ปิดช่องโหว่ดุลการคลังที่ไม่ตั้งใจเพิ่มขึ้นที่มาจาก 5 วิธี ได้แก่ 1.เงินนอกงบประมาณ ที่ไม่มีการลงบัญชี 2.ภาระการคลังแบบปลายเปิด แม้ว่ารัฐบาลจะมีการตั้งงบประมาณโครงการนั้นๆ แต่ในช่วงหลังจะเห็นงบประมาณถูกขยายออกไปเรื่อยๆ จนเกินกรอบที่ตั้งไว้ 3.สัดส่วนงบกลางที่ปัจจุบันมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นใกล้แตะระดับ 20% จากปกติจะเฉลี่ยอยู่ที่ 8% 4.กลไกการตรวจสอบ จะเห็นว่าคณะรัฐมนตรี สามารถอนุมัติงบประมาณผูกพันได้ แต่ไม่มีการตรวจสอบ และ 5.รัฐบาลสามารถซ้อนภาระการคลังได้ โดยวิธีการโอนหนี้ไปยังสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ยังคงเป็นปัญหาวินัยทางการคลังอยู่

ขณะที่โครงสร้างภาษี 2 ประเภทคือภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) และ ภาษีนิติบุคคล พบว่าภาษีมูลค่าเพิ่ม มีบทบาทน้อยลง อนาคตทำให้รัฐบาลหันมาเน้นภาษีบุคคลธรรมดามากขึ้นโดยมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บและขยายฐานภาษี เพราะเทียบอัตราการจัดเก็บไทยอยู่ที่ 7% อาเซียน 12% และเฉลี่ยทั้งโลก 15%

“สำหรับ วิธีแก้ปัญหาการขาดดุลว่ามี 3 แนวทางด้วยกันคือ 1.การปฏิรูปโครงสร้าง 2.การปฏิรูปกระบวนการแก้ปัญหาตรงจุดที่พบ เช่น เงินนอกงบประมาณจะต้องผ่านรัฐสภา และการสร้างการตรวจสอบบัญชี หรือจัดทำรายงานฉบับประชาชน ซึ่งเป็นแนวโน้มทั่วโลกทำกัน และ 3.ปฏิรูปกระทรวงการคลัง ควรจัดตั้งหน่วยวิเคราะห์งบประมาณประจำรัฐสภา (Parliamentary Budget Office: PBO) ทำหน้าที่ให้ข้อมูล แต่จะไม่เสนอนำหรือมีอำนาจในการตัดสินใจ” นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยทีดีอาร์ไอ กล่าว

โดยภาพรวมเศรษฐกิจยังมีความเปราะบางด้านการคลัง นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวว่า การเติบโตของงบประมาณสวัสดิการและประชานิยมจะมีอัตราเพิ่มขึ้น โดยสวนทางกับรายได้ที่เติบโตประมาณ 1.6 เท่าของจีดีพี แต่เงินงบประมาณ สวัสดิการ-ประชานิยมขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.3 เท่าของ จีดีพี ซึ่งมากกว่างบประมาณการลงทุนที่เติบโตเพียง 2 เท่า ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้งบประมาณสวัสดิการและประชานิยมเพิ่มขึ้น จะมาจากพนักงานภาครัฐ และลูกจ้างในระบบข้าราช การที่เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มี 1 ล้านคน เพิ่มเป็น 2.2 ล้านคน เนื่องจากมีกรมและหน่วยงานเพิ่มขึ้นถึง 20-30 กรม เหล่านี้เป็นตัวบีบเม็ดเงินงบประมาณด้านการลงทุนและกดดันภาคการคลังมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลข้างต้นมาจากวงสัมมนาวิชาการของทีดีอาร์ไอ ถือว่าเป็นประโยชน์ ที่ประชาชนควรรู้ ในขณะเดียวกันผู้กำหนดนโยบายของรัฐบาล ต้องนำไปใช้เป็นข้อมูลในการวางกลยุทธ์ และแผนในการบริหาร และดำเนินนโยบายให้สอดรับกับสถานการณ์ ที่ประเทศไทยต้องเผชิญในอนาคต

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 1 ธันวาคม 2557