tdri logo
tdri logo
19 ธันวาคม 2014
Read in Minutes

Views

ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน: ทางเลือกใหม่สำหรับคนไทย?

อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา

หากพูดถึงการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังหมุนเวียนก็จะมีแต่คนสรรเสริญ เพราะเป็นพลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสามารถลดการพึ่งพาน้ำมันหรือลดการใช้ถ่านหินลิกไนต์ แต่อาจไม่ลดการนำเข้าเท่าไหร่นะครับ เพราะพลังงานหมุนเวียนบางชนิด เช่น พลังลมหรือ พลังแสงอาทิตย์ยังต้องมีการนำเข้ากังหันลมและแผงโซล่าเซลล์จากต่างประเทศในราคาสูงอยู่ แต่ประโยชน์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน คือ การสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน ให้กับประเทศไทยโดยการกระจายฐานวัตถุดิบทำให้การผลิตไฟฟ้า ไม่ต้องพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องนำเข้ามากนัก

ปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตไฟฟ้าได้จากพลังงานหมุนเวียนหลายประเภทได้แก่ พลังงานชีวมวล (เช่น ของเหลือใช้จากการเกษตร) ก๊าซชีวภาพ (เช่น มูลสัตว์) ขยะ พลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานแสงอาทิตย์ เหลืออีกอย่างเดียวเท่านั้นล่ะครับที่ประเทศไทยไม่อยากพูดถึงมันมากนักเพราะกลัววงแตก นั้นคือพลังงานนิวเคลียร์ ส่วนพลังงานชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และขยะนั้น เป็นพลังงานที่น่าส่งเสริมเป็นอย่างยิ่งเพราะนอกจากจะได้ไฟฟ้ามาใช้แล้ว ยังเป็นการลดภาระต้นทุนในการกำจัดของเหลือใช้เหล่านี้ด้วย หรือที่เรียกว่า Waste To Energy นั่นเอง

แต่สิ่งที่ผมอยากให้พวกเราให้ความสนใจมากขึ้นคือวิธีการที่หน่วยงานรัฐนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนนั่นคือการใช้ กลไกการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ประกอบการรายย่อยโดยการไฟฟ้าฯ (กฟน. และ กฟภ.) การไฟฟ้าฯ ใช้วิธีการรับซื้อที่เรียกว่า “ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า” หรือ Adder Cost ซึ่งเป็นการประกาศราคารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับใบอนุญาตเข้าร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าแล้วขายให้กับรัฐตามอัตรา “ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า”ที่รัฐประกาศ

ปัจจุบัน “ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า” ที่รัฐประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่างๆ นั้นไม่เท่ากันครับ สาเหตุเป็นเพราะการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานประเภทต่างๆ มีต้นทุนต่อหน่วยไฟฟ้าสูงต่ำไม่เท่ากัน สำหรับการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานที่มีต้นทุนสูง เช่น พลังงานลม หรือพลังงานแสงอาทิตย์รัฐก็ประกาศราคา รับซื้อที่สูงหน่อยเพื่อให้คุ้มกับต้นทุน ส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงาน
ที่มีต้นทุนต่ำ เช่น พลังงานชีวมวล หรือก๊าซชีวภาพ ก็ไม่ต้องประกาศราคารับซื้อแพงมากนักก็ได้เพราะการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานเหล่านี้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำอยู่แล้ว

ขณะนี้โครงสร้าง “ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า” ของพลังงานประเภทต่างๆ ต่อ 1 กิโลวัตต์ชั่วโมง คือ พลังงานชีวมวล 0.30-0.50 บาท ก๊าซชีวภาพ 0.30-0.50 บาท ขยะ 2.50-3.50 บาท พลังงานน้ำขนาดเล็ก 0.80-1.50 บาท พลังงานลม 3.50-4.50 บาท และพลังงานแสงอาทิตย์ 8.00 บาท นอกจากนั้นยังมีการจ่ายเพิ่มอีกประมาณ 1.50 บาท หากผู้ประกอบการทำการผลิตใน
สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สาเหตุที่รัฐจ่ายแพงสำหรับพลังงานแสงอาทิตย์ เพราะประเทศไทยไม่มีความได้เปรียบด้านการผลิตแผงโซล่าเซลล์ และเราต้องนำเข้าจากต่างประเทศในราคาสูง ในกรณีพลังงานลมก็เช่นกันครับ ประเทศไทยต้องนำเข้ากังหันลมจากต่างประเทศในราคาสูงเช่นกัน

สิ่งที่ผมอย่างฝากไว้ให้ท่านลองนำไปคิดต่อคือ ทำไมประเทศไทยต้องใช้เงินสูงถึง 8.00 บาทเพื่อซื้อไฟฟ้าเพียง 1 กิโลวัตต์ชั่วโมงที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่เราต้องนำเข้าแผงโซล่าเซลล์จากต่างประเทศ ทั้งๆ ที่หากเราใช้เงิน 8.00 บาทเท่ากันแต่ไปซื้อไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล หรือก๊าซชีวภาพในราคาเพียงกิโลวัตต์ชั่วโมงละ 0.50 บาทก็จะทำให้เราได้พลังงานในปริมาณที่เพิ่มขึ้นถึง 16 กิโลวัตต์ชั่วโมง หรือได้ไฟฟ้าในปริมาณที่มากขึ้นถึง 16 เท่า

ผมคิดไม่ออกครับว่าทำไมรัฐต้องใช้เงินเพื่อซื้อของแพง ทั้งๆ ที่ของถูกกว่าก็มี การรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานชีวมวลหรือก๊าซชีวภาพ ยังเป็นการกระจายรายได้ไปยังภูมิภาคอีกด้วย หากจะเอาเหตุผลด้านการค้นคว้าวิจัยมาอ้างก็ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกันเพราะหากต้องการสนับสนุนการวิจัยด้านพลังงานลมหรือพลังงานแสงอาทิตย์ก็น่าจะจัดงบประมาณไปให้มหาวิทยาลัยเขาทำการวิจัยกันเลย ไม่ควรออกมารับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานลมหรือพลังงานแสงอาทิตย์ในเชิงพาณิชย์กันแบบนี้

 

—————————-

ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 18 ธันวาคม 2557

นักวิจัย

ดร. อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา
ที่ปรึกษา นโยบายทรัพยากรธรรมชาติและการลดก๊าซเรือนกระจก และ นโยบายด้านภูมิอากาศและการพัฒนาสีเขียว

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด