‘ทีดีอาร์ไอ’ จี้ปฏิรูปกฎหมายการเมืองซื้อสื่อ ปี 56 ‘ออมสิน’ ใช้งบโฆษณาสื่อ 647 ล้าน

ปี2014-12-02

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ที่โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้จัดงานสัมมนาเรื่อง “การครอบงำสื่อสาธารณะของรัฐ” น.ส.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า จากข้อมูลสำรวจพบว่าปี 2556 หน่วยงานรัฐใช้งบประมาณกว่า 8 พันล้านบาท เพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางสื่อต่างๆ หน่วยงานที่ใช้งบโฆษณามากที่สุดในปี 2556 คือ กลุ่มรัฐวิสาหกิจ ที่สัดส่วน 48% หรือวงเงิน 3.79 พันล้านบาท มีธนาคารออมสินใช้งบสูงสุด 647 ล้านบาท สูงกว่าธนาคารกรุงไทยที่มีรายได้สูงกว่าธนาคารออมสิน 2 เท่า รองลงมาเป็นกระทรวง 39% คิดเป็น 3.12 พันล้านบาท มีสำนักนายกรัฐมนตรีใช้งบสูงสุด 506 ล้านบาท รองลงมาคือ กระทรวงอุตสาหกรรม ส่วนหน่วยงานอิสระที่มีสัดส่วนการใช้งบประมาณ 9% โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ใช้งบ 424 ล้านบาท ที่เหลือเป็นงบโฆษณาสำหรับกรุงเทพมหานคร 3% และจังหวัด 1% และยังพบว่าช่องทางโฆษณาผ่านโรงภาพยนตร์จะถูกหน่วยงานรัฐเลือกใช้มากที่สุด โดยกระทรวงอุตสาหกรรมใช้ที่สัดส่วน 84% และธนาคารออมสิน 74%

“โดยสรุปแล้ว ปี 2556 รัฐใช้งบโฆษณากว่า 8 พันล้านบาท ครึ่งหนึ่งเป็นของรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานรัฐที่ใช้สูงสุดเป็นสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงอุตสาหกรรม ส่วนรัฐวิสาหกิจจะเป็นธนาคารออมสิน ยังพบว่านักการเมืองทั้งสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้สื่อหนังสือพิมพ์โฆษณาเพื่อกลุ่มประโยชน์ต่อนักการเมือง พรรคการเมือง และข้าราชการ สัดส่วนกว่า 7-18% ของงบโฆษณา ถือเป็นสัดส่วนที่มาก สังคมไม่ได้รับประโยชน์เต็มที่ จึงเห็นว่าจะต้องมีการปฏิรูปกฎหมายต่างๆ” น.ส.เดือนเด่นกล่าว

น.ส.เดือนเด่นกล่าวต่อว่า ทีดีอาร์ไอขอเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อควบคุมรัฐ ในการใช้สื่อเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง โดยออกกฎหมายควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณประชาสัมพันธ์ ทั้งเนื้อหาที่ห้ามมีรูป เสียงของนักการเมือง ต้องตรงภารกิจของหน่วยงานนั้นๆ ต้องระบุว่าโฆษณาแต่ละชิ้นใช้งบของรัฐผ่านแผนประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลที่บังคับใช้อย่างจริงจัง โดยการกำหนดงบประมาณประชาสัมพันธ์รายปีล่วงหน้า รวมถึงการรวมศูนย์การจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใส พร้อมเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างต่อประชาชน โดยมีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย มีอำนาจการอนุมัติเบิกจ่ายหากไม่เป็นไปตามกฎหมาย

“ประเทศออสเตรเลียและแคนาดาถือว่ารัฐใช้งบโฆษณาดีสุด กฎหมายห้ามไม่ให้มีรูป ชื่อ เสียง หากใช้งบของรัฐ แต่หากรัฐบาลมีผลงาน สื่อก็จะประชาสัมพันธ์โดยไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณในการซื้อสื่อ ในไทยมีเพียงกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย ที่ควบคุมเนื้อหาโฆษณาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ระดับส่วนกลางมองว่า สตง.ควรทำหน้าที่นี้” น.ส.เดือนเด่นกล่าว

นายบรรยง พงษ์พานิช คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ และกรรมการกลยุทธ์ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าวว่า คุณภาพของประชาชนถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุด ประเทศไทยในยุคปฏิรูปจึงมองว่าการปฏิรูปสื่อช่วงนี้สำคัญมาก อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับคุณภาพของสื่อ น่าจะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อความโปร่งใสและประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณ

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 2 ธันวาคม 2557