ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

ปี2014-12-12

 อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา

 หากพูดถึงการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังหมุนเวียนก็จะมีแต่คนสรรเสริญ เพราะเป็นพลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสามารถลดการพึ่งพาน้ำมันหรือลดการใช้ถ่านหินลิกไนต์ แต่อาจไม่ลดการนำเข้าเท่าไหร่นะครับ เพราะพลังงานหมุนเวียนบางชนิด เช่น พลังลมหรือพลังแสงอาทิตย์ยังต้องมีการนำเข้ากังหันลมและแผงโซล่าเซลล์จากต่างประเทศในราคาสูงอยู่ แต่ประโยชน์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน คือ การสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศไทยโดยการกระจายฐานวัตถุดิบ ทำให้การผลิตไฟฟ้าไม่ต้องพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องนำเข้ามากนัก

ปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตไฟฟ้าได้จากพลังงานหมุนเวียนหลายประเภท ได้แก่ พลังงานชีวมวล (เช่น ของเหลือใช้จากการเกษตร) ก๊าซชีวภาพ (เช่น มูลสัตว์) ขยะ พลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานแสงอาทิตย์ เหลืออีกอย่างเดียวเท่านั้นล่ะครับที่ประเทศไทยไม่อยากพูดถึงมันมากนักเพราะกลัววงแตก นั้นคือ พลังงานนิวเคลียร์ ส่วนพลังงานชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และขยะนั้น เป็นพลังงานที่น่าส่งเสริมเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะได้ไฟฟ้ามาใช้แล้ว ยังเป็นการลดภาระต้นทุนในการกำจัดของเหลือใช้เหล่านี้ด้วย หรือที่เรียกว่า Waste To Energy นั่นเอง

แต่สิ่งที่ผมอยากให้พวกเราให้ความสนใจมากขึ้นคือ วิธีการที่หน่วยงานรัฐนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนนั่นคือ การใช้กลไกการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ประกอบการรายย่อยโดยการไฟฟ้าฯ (กฟน. และ กฟภ.) การไฟฟ้าฯ ใช้วิธีการรับซื้อที่เรียกว่า “ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า” หรือ Adder Cost ซึ่งเป็นการประกาศราคารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับใบอนุญาตเข้าร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าแล้วขายให้กับรัฐตามอัตรา “ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า” ที่รัฐประกาศ

ปัจจุบัน “ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า” ที่รัฐประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่างๆ นั้นไม่เท่ากันครับ สาเหตุเป็นเพราะการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานประเภทต่างๆ มีต้นทุนต่อหน่วยไฟฟ้าสูงต่ำไม่เท่ากัน สำหรับการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานที่มีต้นทุนสูง เช่น พลังงานลมหรือพลังงานแสงอาทิตย์ รัฐก็ประกาศราคารับซื้อที่สูงหน่อยเพื่อให้คุ้มกับต้นทุน ส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงาน
ที่มีต้นทุนต่ำ เช่น พลังงานชีวมวล หรือก๊าซชีวภาพ ก็ไม่ต้องประกาศราคารับซื้อแพงมากนักก็ได้ เพราะการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานเหล่านี้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำอยู่แล้ว

ขณะนี้โครงสร้าง “ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า” ของพลังงานประเภทต่างๆ ต่อ 1 กิโลวัตต์ชั่วโมง คือ พลังงานชีวมวล 0.30-0.50 บาท ก๊าซชีวภาพ 0.30-0.50 บาท ขยะ 2.50-3.50 บาท พลังงานน้ำขนาดเล็ก 0.80-1.50 บาท พลังงานลม 3.50-4.50 บาท และพลังงานแสงอาทิตย์ 8.00 บาท นอกจากนั้นยังมีการจ่ายเพิ่มอีกประมาณ 1.50 บาท หากผู้ประกอบการทำการผลิตใน
สามจังหวัดชายแดนภาคใต้  สาเหตุที่รัฐจ่ายแพงสำหรับพลังงานแสงอาทิตย์เพราะประเทศไทยไม่มีความได้เปรียบด้านการผลิตแผงโซล่าเซลล์และเราต้องนำเข้าจากต่างประเทศในราคาสูง ในกรณีพลังงานลมก็เช่นกันครับ ประเทศไทยต้องนำเข้ากังหันลมจากต่างประเทศในราคาสูงเช่นกัน

สิ่งที่ผมอย่างฝากไว้ให้ท่านลองนำไปคิดต่อคือ ทำไมประเทศไทยต้องใช้เงินสูงถึง 8.00 บาทเพื่อซื้อไฟฟ้าเพียง 1 กิโลวัตต์ชัวโมง ที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่เราต้องนำเข้าแผงโซล่าเซลล์จากต่างประเทศ ทั้งๆ ที่หากเราใช้เงิน 8.00 บาทเท่ากัน แต่ไปซื้อไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล หรือก๊าซชีวภาพในราคาเพียงกิโลวัตต์ชั่วโมงละ 0.50 บาท ก็จะทำให้เราได้พลังงานในปริมาณที่เพิ่มขึ้นถึง 16 กิโลวัตต์ชัวโมง หรือได้ไฟฟ้าในปริมาณที่มากขึ้นถึง 16 เท่า

ผมคิดไม่ออกครับว่า ทำไมรัฐต้องใช้เงินเพื่อซื้อของแพงทั้งๆ ที่ของถูกกว่าก็มี การรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานชีวมวลหรือก๊าซชีวภาพ ยังเป็นการกระจายรายได้ไปยังภูมิภาคอีกด้วย หากจะเอาเหตุผลด้านการค้นคว้าวิจัยมาอ้างก็ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน เพราะหากต้องการสนับสนุนการวิจัยด้านพลังงานลมหรือพลังงานแสงอาทิตย์ก็น่าจะจัดงบประมาณไปให้มหาวิทยาลัยเขาทำการวิจัย
กันเลย ไม่ควรออกมารับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานลมหรือพลังงานแสงอาทิตย์ในเชิงพาณิชย์กันแบบนี้

ซึ่งในประเด็นนี้เองได้เกิดข้อสังเกตว่า การกำหนดราคาที่แตกต่างกัน ตามต้นทุนการผลิตที่แตกต่างกันนั้นนำมาสู่การสูญเสียทางเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การใช้เงิน 8 บาทเพื่อซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์นั้น เราจะได้ไฟฟ้าเพียง 1 กิโลวัตต์ชั่วโมง แต่เงินจำนวนเดียวกันนี้ หากนำไปซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานชีวมวลหรือก๊าซชีวภาพ
ที่มีราคาถูกกว่า เราจะได้ไฟฟ้ามากกว่าถึง 18 เท่า

หากพิจารณาปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่าง ๆ เทียบกับเป้าหมายของแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ 2555 – 2573 (หรือที่เรียกกันว่าแผน PDP 2555 – 2573) (ตารางที่ 1) จะเห็นถึงข้อผิดพลาดในการดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนและนำมาสู่ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ตามมา

 ตารางที่1: แผนการรับซื้อไฟฟ้าและประมาณการที่จะต้องรับซื้อไฟฟ้าจริงจากพลังงานหมุนเวียนในปี 2556

(คำนวนจากการที่การไฟฟ้าฯ มี PPA และ COD แล้ว ณ วันที่ 25/10/2556)

graph1

ตารางข้างต้นแสดงให้เห็นว่า การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในปี พ.ศ. 2556 นั้น เป็นไปตามเป้าหมายเฉพาะพลังไฟฟ้าจากขยะและพลังงานลมเท่านั้น นั่นคือแผนได้กำหนดเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล 885.00 เมกะวัตต์ และรับซื้อจริง 1,884.78 เมกะวัตต์ และแผนได้กำหนดเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานก๊าซชีวภาพไว้ 4.20 เมกะวัตต์ และรับซื้อจริง 234.92 เมกะวัตต์ ซึ่งถือว่าเกินเป้าหมายมากพอสมควร ก็ถือเป็นเรื่องดีที่เราได้ซื้อไฟฟ้าราคาถูกได้เพิ่มขึ้น แต่สำหรับพลังงานน้ำขนาดเล็กที่ตั้งเป้าไว้ที่ 269.70 เมกะวัตต์นั้น การไฟฟ้าฯ รับซื้อจริงได้เพียง 0.80 เมกะวัตต์เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นการดำเนินงานที่ต่างไปจากแผนงานมาก ส่วนพลังงานลมที่เป็นพลังงานที่มีราคาสูงก็ถือว่าการรับซื้อในอยู่เป้าหมาย คือเป้าหมายการผลิตอยู่ที่ 260.90 เมกะวัตต์ รับซื้อจริง 254.88 เมกะวัตต์ แต่ที่ร้ายแรงที่สุดคือ พลังงานแสงอาทิตย์ที่เป็นพลังงานที่มีราคาแพงที่สุด โดยได้กำหนดเป้าหมายการผลิตไว้ไม่มากเพียง 540.70 เมกะวัตต์ แต่การไฟฟ้าฯ ก็กลับไปรับซื้อในปริมาณที่สูงถึง 1,865.79 เมกะวัตต์

การดำเนินงานรับซื้อไฟฟ้าที่คลาดเคลื่อนจากแผนการผลิตไปอย่างมากนั้น ได้สร้างความเคลือบแคลงใจว่า ด้วยสาเหตุใดจึงไม่มีการซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนที่มีราคาถูก เช่น พลังงานชีวมวลหรือก๊าซชีวภาพในราคากิโลวัตต์ชั่วโมงเพียง 0.30 บาท แต่กลับไปออกใบอนุญาตให้มีการผลิตไฟฟ้าและรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีราคาแพงแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้งบประมาณรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีราคากิโลวัตต์ชั่วโมงละ 8.00 บาท ตารางข้างต้นแสดงให้เห็นว่า จากงบประมาณการรับซื้อไฟฟ้าทั้งหมดประมาณ 145,882 ล้านบาท การไฟฟ้าฯ ได้ทุ่มเงินสูงถึง 138,569 ล้านบาท หรือร้อยละ 95 ของงบประมาณที่ใช้ซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด เพื่อซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์

ผมได้ทำการศึกษาเบื้องต้นเพื่อคำนวณว่า การที่ประเทศไทยได้อนุมัติให้มีการรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานที่มีราคาแพง เช่น พลังงานลมหรือพลังงานแสงอาทิตย์ และมิได้เน้นให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบ เช่น พลังงานชีวมวล ก๊าซชีวภาพ หรือพลังงานน้ำขนาดเล็กนั้น ได้สร้างความสูญเสียมากน้อยเพียงใด โดยการคำนวณใช้หลักการว่า การที่การไฟฟ้าฯ ไปรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ในราคา 8.00 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ในขณะที่การไฟฟ้าฯ สามารถนำเงินจำนวนนี้ไปซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานชีวมวลในราคาเพียง 0.30 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงได้ ทำให้เกิดการสูญเสียงบประมาณ 7.70 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง จากหลักการนี้การคำนวณพบว่า ในปี พ.ศ. 2556 การรับซื้อไฟฟ้าในโครงการข้างต้นได้สร้างความสูญเสียคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 134,475 ล้านบาท ถึงแม้หากสมมติให้ราคาวัตถุดิบของเหลือใช้ในภาคเกษตรเพิ่มสูงขึ้นบ้างจนทำให้ราคารับซื้อพลังงานชีวมวล ก๊าซชีวภาพ หรือพลังงานน้ำขนาดเล็กสูงขึ้นเป็น 1.30 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ความสูญเสียก็ยังสูงถึงประมาณ 115,233 ล้านบาท หรือหากจะอนุโลมให้มีการซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์บ้าง แต่ไม่ให้เกินจากเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 260.90 เมกะวัตต์สำหรับพลังงานลม และ 540.70 เมกะวัตต์สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์ ความสูญเสียก็ยังจะสูงถึงประมาณ 78,000 ล้านบาท

การศึกษามูลค่าการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนนี้ เป็นข้อมูลที่รวบรวมได้ยาก เพราะการไฟฟ้าฯ มิได้เปิดเผยมูลค่าการรับซื้อไฟฟ้าให้สาธารณชนทราบโดยทั่วไป ผมจึงต้องทำการคำนวณมูลค่าเหล่านี้เอง ซึ่งหากการคำนวณของผมผิดพลาดไปก็ต้องขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลที่ถูกต้องมาเปิดเผยให้สาธารณชนทราบบ้างแล้วกันนะครับ จะได้เป็นที่เข้าใจตรงกัน เพราะตอนนี้วิธีการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวนับได้ว่าเป็นการสูญเสียที่ไม่ควรเกิดขึ้นในมุมมองของประชาชนทั่วไป เพราะมันเป็นต้นทุนที่สูงและอาจทำให้คนไทยต้องจ่ายค่าไฟฟ้าสูงเกินความจำเป็น แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากไปกว่านั้นคือเงินที่สูญเสียไปกับการรับซื้อไฟฟ้านี้ไปตกอยู่กับใคร ใครเป็นผู้ได้ประโยชน์ และใครเป็นผู้เสียหาย

หากพิจารณาสัดส่วนประมาณการซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเสียนประเภทต่างๆ ในปี พ.ศ. 2556 (รูปที่ 1) ซึ่งดูแล้วก็อาจมิได้แสดงถึงความผิดปกติอะไรมากนักเพราะเป็นการซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในปริมาณที่ใกล้เคียงกับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลในสัดส่วนร้อยละ 43.22 และ ร้อยละ 43.66 ตามลำดับ ส่วนพลังงานประเภทอื่นก็มีสัดส่วนการรับซื้อลดหลั่นลงตามมา

 รูปที่ 1: แสดงสัดส่วนประมาณการซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเสียนประเภทต่างๆในปี พ.ศ. 2556

graph 2

 แต่เมื่อพิจารณาสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าที่คำนวณเป็นมูลค่า (รูปที่ 2) พบว่า ภาครัฐใช้จ่ายเงินสูงถึงร้อยละ 89.67 ของงบประมาณการรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนทั้งหมดเพื่อซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียว ซึ่งพลังงานแสงอาทิตย์นี้เป็นพลังงานที่ประเทศไทยไม่มีความได้เปรียบและต้องนำเข้าแผงโซล่าเซลล์จากต่างประเทศในราคาที่สูง ในขณะที่พลังงานหมุนเวียนที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบ เช่น พลังงานชีวมวลที่ผลิตจากของเหลือใช้จากภาคเกษตรนั้นภาครัฐใช้เงินซื้อเพียงร้อยละ 3.40 เท่านั้น การกระทำเช่นนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นการสูญเสียของประเทศโดยไม่จำเป็น แต่ภาระค่าใช้จ่ายที่สูงจากการทุ่มเงินซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์กลับตกกับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าที่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในราคาที่สูงเกินความจำเป็น ผมได้ทำการคำนวณพบว่าการที่ภาครัฐกระทำเช่นนี้ทำให้ประชาชนเป็นผู้รับภาระโดยต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราที่สูงขึ้นเกินความจำเป็นประมาณร้อยละ 13.44-19.89 ขึ้นอยู่กับสมมติฐานที่ใช้ในการคำนวณ

รูปที่ 2: สัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าที่คำนวณเป็นมูลค่า

graph 3

 ท้ายสุดเรามาลองพิจารณานะครับว่าใครบ้างที่ได้รับประโยชน์จากความสูญเสียจำนวนนี้ ในขณะนี้ การทำธุรกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เป็นที่นิยมมากเพราะให้ผลตอบแทนสูง  ปัจจุบันมีผู้ประสงค์จะครอบครองใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จำนวนมากเกินกว่าที่ภาครัฐจะออกให้ได้จนทำให้มีการนำใบอนุญาตมาขายต่อเพื่อทำกำไรกันมากมาย การครอบครองใบอนุญาตก็มีลักษณะกระจุกตัวกับบริษัทขนาดใหญ่ไม่กี่ราย ถึงแม้ผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีจำนวนมาก แต่ผู้ประกอบการเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกันจนสามารถแบ่งได้ออกเป็น 4 กลุ่มซึ่งผมขอไม่เปิดเผยชื่อผู้ประกอบการโดยขอให้ท่านที่สนใจไปสืบหาเอาเองในเว็บไซต์ (เพราะผมกลัวถูกฟ้องข้อหาเป็นกบฏและถูกอายัดบัญชีเงินในธนาคาร…)

กลุ่มที่ 1 เป็นบริษัทรายใหญ่ที่มีส่วนแบ่งการผลิตสูงถึงร้อยละ 42.03 กลุ่มที่ 2 เป็นบริษัทขนาดใหญ่มากแต่แตกย่อยเป็นบริษัทลูกหลายๆ บริษัทซึ่งก็คือบริษัทเดียวกัน เพื่อขอรับใบอนุญาตและผลิตไฟฟ้าตามอำเภอและจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศมีส่วนแบ่งการผลิตรวมกันร้อยละ 19.99 กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มบริษัทใหญ่อันดับรองจากกลุ่มที่ 2 ซึ่งก็มีการแตกเป็นบริษัทย่อยๆ เหมือนกันและมีการนำไปผลิตไฟฟ้าตามอำเภอและจังหวัดต่างๆทั่วประเทศมีส่วนแบ่งการผลิตไฟฟ้ารวมกันร้อยละ 26.72 และกลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มบริษัทรายย่อยต่างๆ มีส่วนแบ่งการผลิตรวมกันเพียงร้อยละ 10.98

 รูปที่ 3: กลุ่มผู้ประกอบการเอกชนที่ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อขายให้ภาครัฐช่วงปี พ.ศ. 2546-2556

graph-4

ผู้ประกอบการเหล่านี้ไม่ได้ทำความผิดอะไรในการทำธุรกิจขายไฟฟ้าในกับภาครัฐ แต่เป็นภาครัฐต่างหากที่กำหนดโครงสร้างราคารับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนที่ผิดพลาดอย่างมาก เป็นการบั่นทอนขีดความสามารถของประเทศในการพัฒนางานหมุนเวียนอย่างเหมาะสมจากของเหลือใช้จากภาคการเกษตรหรือจากขยะ สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่านับ 100,000 บาทต่อปี ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากเท่าที่ควร ที่สำคัญคือเป็นช่องทางการแสวงหาผลประโยชน์ตามมา และท้ายสุดก็ผลักภาระความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้ประชาชนผู้ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าที่สูงเกิดความจำเป็น ผมอยากถามว่าจะทำกันอย่างนี้อีกนานไหมครับ หรือต้องรอให้ ปปช. เรียกเข้ามาชี้แจงก่อนถึงจะรู้ตัว