tdri logo
tdri logo
9 ธันวาคม 2014
Read in Minutes

Views

ปฏิรูปเกษตรไทย ปฏิรูปผู้บริหารเกษตร

ไชยรัตน์ ส้มฉุน

“จะปฏิรูปภาคเกษตรไทยให้ไปโลด อันดับแรกรัฐบาลต้องกระจายการถือครองที่ดินให้เกษตรกรอย่างเป็นธรรมเสียก่อน เพราะข้อมูลปัจจุบัน ที่ดินทั่วประเทศ 320 ล้านไร่ ออกเอกสารไปแล้ว 33 ล้านฉบับ มีผู้ถือครองอยู่ 3,100,000 คนในจำนวนนี้เป็นผู้ร่ำรวยประมาณ 20% ถือครองที่ดินไว้มากถึง 80% ส่วนที่ดินอีก 20% คนชั้นกลางลงไปถึงชั้นล่าง คนส่วนมาก 80% เลยต้องแย่งกันหากินหาอยู่อย่างแออัด”

นายประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กล่าวเปิดประเด็นในงานสัมมนาเรื่อง “ปฏิรูปอย่างไร เกษตรไทยไปโลด” จัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมแฉ ทุกวันนี้ชาวนามาขึ้นทะเบียนล่าสุดจำนวน 4.8 ล้านคน มีที่ดินเป็นของตนเองแค่ 29% ส่วนอีก 71% ทำนาในที่ดินติดจำนอง กับอีกส่วนหนึ่งเช่าที่ดินจากนายทุนเพื่อทำกิน

มันคือความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน เพราะจากการคำนวณตัวเลขขึ้นทะเบียน ชาวนาถือครองที่ดินเฉลี่ยแล้วแค่คนละ 1 ไร่เท่านั้น ในขณะที่คนรวยถือครองที่ดินกันคนละ 325 ไร่

ปัญหากระจุกตัวของที่ดินนี้ ชี้ให้เห็นว่า ชาวนายากจนทำนาไปอย่างไร ก็ได้แค่มีรายได้ใช้หนี้นายทุนไปตลอดชีวิตเท่านั้นเอง จนต้องหนีเข้าทำงานรับจ้างในเมืองหรือไม่ก็ไปบุกรุกป่าปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่ปลูกไปแล้ว นายทุนรายใหญ่ขายอาหารสัตว์เป็นอันดับหนึ่งของโลกกดราคารับซื้อ หากราคาไม่เป็นดั่งใจ นายทุนจะหาวิธีปั่นราคาข้าวโพดให้ผันผวน แล้วไปซื้อจากลาว เขมร พม่า ในราคาถูกแทน แล้วปล่อยให้ชาวบ้านรุกป่าทำไปเรื่อยๆและถูกจับกุมไปเป็นจำนวนมาก ทำไมรัฐถึงไม่จับคนซื้อที่คอยแอบหนุน หลังให้ชาวบ้านรุกป่าปลูกข้าวโพด…รัฐต้องทำให้เหมือนกับยาบ้า ผู้ซื้อผู้ขายต้องผิดทั้งคู่

ด้าน รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้ความเห็นในวงสัมมนาเดียวกันว่า ปัจจัยหลักของภาคการเกษตร คือ การใช้ที่ดิน และการใช้น้ำในการเพาะปลูก วันนี้เขื่อนใหญ่ 2 เขื่อน มีน้ำต่ำสุดในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา

“ตอนนี้เราขาดน้ำ แต่การใช้น้ำกลับฟุ่มเฟือย การบริหารจัดการน้ำกับบริหารภาคเกษตรมันแยกส่วนกัน ยกตัวอย่าง หลังน้ำท่วมปี 2554 ปีต่อมานักการเมืองไม่มีความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำ ดันสั่งปล่อยน้ำในเขื่อนเกือบหมด แค่นั้นไม่พอ ปีต่อมายังผุดนโยบายรับจำนำข้าว ชาวนาปลูกข้าวกันเยอะ โดยไม่คำนึงถึงการใช้น้ำอย่างประหยัด แล้วปัญหาน้ำแล้งก็มาเยือน ทำให้เกิดการแย่งชิงและนำไปสู่การก่ออาชญากรรมแย่งน้ำ”

ตัวอย่างปัญหาเล็กๆน้อยๆของเรื่องดินและน้ำที่ได้จากเวทีสัมมนา แม้ดูจะเป็นปัญหาซ้ำซากที่เกิดขึ้นบ่อยจนกลายเป็นความชินชา สะท้อน ให้เห็นว่า ปัญหาภาคเกษตรกรรมของไทยสะสมหมักหมมจนเหมือนจะไร้ทางเยียวยา…สาเหตุของปัญหาที่แท้จริงล้วนมาจากผู้บริหารประเทศไร้ความรู้ความสามารถด้านเกษตรเท่านั้นเอง.

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 8 ธันวาคม 2557

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด