เร่งดันกม.จัดซื้อจัดจ้างแก้ทุจริต

ปี2015-01-08

bbn20150108

(รายงาน) เร่งดันกม.จัดซื้อจัดจ้างแก้ทุจริต นักวิชาการแนะเปิดข้อมูล-เร่งดำเนินคดี

วานนี้ (7 ม.ค.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) กรมบัญชีกลาง องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จัดสัมมนาเรื่องแนวทางการเสริมสร้างธรรมาภิบาลในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานราชการและเอกชนเข้าร่วมรับฟังกว่า 200 คน มีประเด็นดังนี้

นางสาวชุณหจิต สังข์ใหม่ รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่ากรมบัญชีกลางและกระทรวงการคลังกำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำร่าง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพื่อนำมาเป็นกฎหมายที่มาใช้บังคับแทนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ที่ปัจจุบันเป็นกฎหมายหลักที่ใช้ในการจัดซื้อจัดจ้าง

ในอนาคต พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐจะมีความทันสมัยเป็นไปตามมาตรฐานสากล และจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบจัดซื้อจัดจ้างของไทยให้คุ้มค่ากับเงินภาษีประชาชน โดยการบังคับใช้พ.ร.บ.ฉบับนี้จะครอบคลุมการจัดซื้อจัดจ้าง และการประมูลของหน่วยงานรัฐทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจรวมทั้งองค์กรอิสระต่างๆด้วย

“ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานราชการต่างๆคาดว่าจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายใน 1 – 2 เดือนนี้”

สำหรับร่าง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในส่วนสำคัญจะมีการกำหนดให้ทุกหน่วยงานเปิดเผยข้อมูลต่างๆในการจัดซื้อจัดจ้างและการประเมิน เช่น ราคากลาง การได้มาซึ่งราคากลางที่ใช้อ้างอิง ขั้นตอนในการประมูล ระยะเวลาในการประมูลและผู้ที่ชนะการประมูล เป็นต้น

นอกจากนั้น จะกำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ ทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ หากโครงการใดมีข้อสงสัยหรือพบความไม่ชอบมาพากล เช่น การใช้จ่ายเงินในการจัดซื้อจัดจ้างอาจได้สินค้าคุณภาพต่ำราคาสูง คณะกรรมการก็จะนำเรื่องส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ โดยอาจมีการกำหนดบทลงโทษไว้ใน พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวด้วย

นอกจากนั้น จะมีข้อกำหนดด้วยว่าเอกชนที่จะเข้ามาเสนอราคาในการลงทุนในโครงการรัฐหรือขายสินค้าให้กับภาครัฐจะต้องมีการลงนามในสัญญาคุณธรรม และบริษัทนั้นๆจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ชัดเจนด้วย

แนะเพิ่มการมีส่วนร่วมประชาชน

นายบัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย กล่าวว่าการจัดซื้อจัดจ้างถือว่าเป็นปัญหาของทุกรัฐบาลเนื่องจากงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐแต่ละปีมีมูลค่าสูงหลายหมื่นล้านบาทและแต่ยังไม่สามารถทำให้มีความโปร่งใสได้จึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องมี พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐขึ้นมาเป็นกฎหมายเฉพาะเนื่องจากที่ผ่านมากฎหมายที่ใช้ยังเป็นเพียงระเบียบสำนักนายกฯ ที่อาจมีจุดบกพร่องที่ทำให้เกิดการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติจนเกิดให้รัฐเกิดความเสียหายได้

ทั้งนี้ มองว่า พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐจะต้องมีความครอบคลุมทุกหน่วยงานและสามารถแบ่งหน้าที่การทำงานได้ทั้ง 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กรมบัญชีกลาง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ให้มีความชัดเจน

นายบัณฑิตกล่าวว่า พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐควรจะมีองค์ประกอบสำคัญ 4 ข้อได้แก่ 1.ความโปร่งใส ซึ่งให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง ที่ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย เพื่อให้สังคมรู้ว่าแต่ละโครงการบริษัทใดประมูลได้ ราคาเท่าไร 2.เพิ่มการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคประชาชนและภาคเอกชนมากขึ้น โดยเปลี่ยนจากที่ผ่านมาการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเป็นผู้ดำเนินการ เป็นผู้ตัดสินและคัดเลือกเท่านั้น หากเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน ภาคประชาชนหรือหน่วยงานราชการภายนอก เข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบหรือคัดเลือกด้วยในรูปแบบของคณะกรรมการอิสระก็จะทำให้มีความโปร่งใสมากขึ้น

3.ในร่าง พ.ร.บ.ควรมีการกำหนดกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบที่ชัดเจน เช่น การกำหนดขนาดโครงการที่จะต้องมีการลงนามในสัญญาคุณธรรมเพื่อให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบโครงการหลังจากมีการลงนามในสัญญาแล้ว รวมทั้งกระบวนการในการตรวจสอบและลงโทษผู้ที่กระทำความผิดต้องมีความรวดเร็วมากขึ้น และ4.ในร่าง พ.ร.บ.ควรมีการสนับสนุนการพัฒนาให้ผู้ที่มีหน้าที่การจัดซื้อจัดจ้างเป็นวิชาชีพมากขึ้น มีการออกใบอนุญาตวิชาชีพ ส่งเสริมการรวมกลุ่มของวิชาชีพเพื่อให้มีการควบคุมกันทางจรรยาบรรณของผู้มีหน้าที่ในการจัดซื้อจัดจ้างมากขึ้น

นักวิชาการทีดีอาร์ไอจี้เปิดเผยข้อมูล

นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าการเพิ่มกฎหมายหรือการออกกฎระเบียบเพิ่มเติมเพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอาจไม่สามารถแก้ปัญหาการทุจริตได้มากนักเนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการแก้ไขรายละเอียดของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุมาตลอดแต่การทุจริตในเรื่องนี้ก็ยังมีอยู่

นอกจากนั้นการเพิ่มกฎระเบียบยังเป็นภาระและต้นทุนของทั้งหน่วยงานราชการและเอกชน

นางเดือนเด่น กล่าวว่า การเพิ่มระบบการตรวจสอบนั้นมีความจำเป็นโดยการตรวจสอบจะทำได้ก็เมื่อมีการเปิดเผยข้อมูลในการจัดซื้อจัดจ้างให้สังคมเข้าถึงข้อมูลได้ ซึ่งการตรวจสอบจะเป็นกลไกที่เกิดขึ้นเองเมื่อมีการเปิดเผยข้อมูล

ขณะที่การตรวจสอบความคุ้มค่าในโครงการ สินค้าและบริการที่รัฐมีการจัดซื้อจะต้องดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญโดยอาจจะกันเงินงบประมาณของโครงการขนาดใหญ่ในสัดส่วน 3% มาใช้ในส่วนนี้เพื่อประเมินความคุ้มค่าของเม็ดเงินที่สูญเสียไป

นอกจากนี้ขั้นตอนในการยับยั้งการเบิกจ่ายเงินก็มีความสำคัญในโครงการที่มีปัญหาก็ถือว่ามีความสำคัญจึงควรจะให้อำนาจส่วนนี้กลับไปอยู่ที่สำนักงานผู้ตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตามเดิม

“การเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทางเว็บไซต์ให้สามารถตรวจสอบได้ถือว่าเป็น Quick Win ที่สามารถดำได้โดยไม่ต้องออกกฎหมาย ตั้งองค์กรเพิ่มเติม เพราะการเปิดเผยข้อมูลทำให้สังคมเข้ามาช่วยตรวจสอบได้โดยอัตโนมัติ การออกทีโออาที่เอื้อประโยชน์กับพวกพ้อง การฮั้วประมูลก็สามารถที่จะลดลงได้ในที่สุด”นางเดือนเด่นกล่าว

ผู้เชี่ยวชาญแนะปรับปรุงการพิจารณาคดี

ด้านนายพีเดอร์ บลูมเบิร์ก ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดซื้อจัดจ้างจากประเทศสวีเดนกล่าวว่าปัจจุบันการกำหนดราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐในประเทศไทยยังไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาการทุจริตและการฮั้วประมูลได้เนื่องจากมีการแทรกแซงจากการเมือง รวมทั้งการกำหนดราคากลางขั้นต่ำให้เป็นราคาเพดานสูงสุดในการจัดซื้อจัดจ้างยังอาจทำให้ภาครัฐสูญเสียประโยชน์ในการได้สินค้าและบริการที่ดีมีคุณภาพได้

“การจัดซื้อจัดจ้างไม่ควรมองที่การกำหนดราคาต่ำเท่านั้นแต่ให้คำนึงถึงเรื่องคุณภาพและความคุ้มค่าของเงินที่ภาครัฐเสียไปด้วย”

นอกจากนี้ประเทศไทยควรมีการปรับปรุงกระบวนการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับการฮั้วประมูลและทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างให้มีความรวดเร็วมากขึ้น

นายพีเดอร์ กล่าวว่าจากสถิติพบว่าคดีที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) รับผิดชอบอยู่ปีละประมาณ 10,000 คดีเป็นคดีที่เกี่ยวกับการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างถึง 60 – 70% แต่สามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้ไม่มากนัก


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 8 มกราคม 2558 ในชื่อ เร่งดันกม.จัดซื้อจัดจ้างแก้ทุจริต