นายกฯ สั่งพลังงานแจง มติ สปช. รัฐทำงานยาก

ปี2015-01-15

นายกฯห่วง สปช.เบรกสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ทำให้รัฐบาลทำงานลำบากขึ้น สั่งกระทรวงพลังงานเร่งแจงข้อมูล

ด้าน “วิษณุ” เตรียมถกสปช. ย้ำหลักการรัฐบาลไม่จำเป็นต้องทำตามข้อเสนอสปช. “อลงกรณ์”ส่งรายงานถึงมือนายกฯสัปดาห์นี้ ขณะนักวิชาการแนะควรฟังความเห็นสปช.

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แสดงความเป็นห่วงกรณีสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติไม่เห็นด้วยกับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 จะทำให้การทำงานของรัฐบาลยากลำบากมากขึ้น

นายประมนต์ สุธีวงศ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่าในการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ร่วมกับพล.อ.ประยุทธ์วานนี้ (14 ม.ค.) นายกรัฐมนตรีปรารภในระหว่างการประชุม กรณีที่สปช.ลงมติไม่เห็นด้วยกับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ทำให้การทำงานของรัฐบาลในเรื่องนี้มีความยากมากขึ้น

นายประมนต์ กล่าวว่านายกรัฐมนตรีระบุว่าจะให้กระทรวงพลังงานส่งหนังสือไปชี้แจงกับสมาชิก สปช.ให้เกิดความเข้าใจว่าการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 มีความจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ

ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าวันที่ 15 ม.ค.มีนัดคุยกับสปช.และกรรมาธิการทั้ง 18 คณะของสปช. และคงคุยกันหลายๆ เรื่อง ทั้งเรื่องการประสานงานกันระหว่างสปช.และรัฐบาลว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ในการทำงาน ส่วนสนช.นั้นค่อนข้างราบรื่น เพราะมีระบบวิป (คณะกรรมการประสานงาน) แต่สปช.นั้นไม่มีวิป จึงต้องไปพูดคุยกัน

“เมื่อได้พูดคุยก็จะได้คุยเรื่องสัมปทานปิโตรเลียมด้วย และคงขอรายงานข้อเสนอแนะที่เป็นลายลักษณ์อักษรจากสปช.” นายวิษณุระบุ

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ได้คุยกับ นายประมนต์ สุธีวงศ์ สมาชิกสปช. ได้ข้อมูลว่าไม่ถึงขนาดตีตกทั้งแผง เพียงแต่ท้วงติงวิธีการเท่านั้น ถ้าหากปรับวิธีการได้คงไม่มีปัญหา รายละเอียดอื่นคงต้องให้กระทรวงพลังงานชี้แจง

ผู้สื่อข่าวถามว่านายกรัฐมนตรีได้ปรึกษาในเรื่องนี้หรือไม่ว่าจะทำอย่างไรต่อไป นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ได้ปรึกษา แต่ถามขึ้นมาในที่ประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ที่มีนายประมนต์อยู่ด้วย จึงชี้แจงให้ทราบว่าท้วงติงในเรื่องวิธีการ

ย้ำหลักการไม่จำเป็นต้องทำตามสปช.

เมื่อถามต่อว่ารัฐบาลต้องยึดตามที่สปช.ท้วงติงมาหรือไม่ หรือรัฐบาลดำเนินการได้เอง นายวิษณุ กล่าวว่า ถูกต้อง นั่นคือหลักการ และสปช.เองก็เคยกล่าวว่าการตัดสินใจขึ้นกับรัฐบาลว่าจะทำอย่างไรต่อ โดยทั่วไปรัฐบาลก็จะให้เกียรติสปช. เมื่อรับรายงานมา หากทำไม่ได้ก็จะไม่ทำ ทำได้ก็จะทำ ทำได้บางส่วนก็ทำบางส่วน ไม่ใช่แค่เรื่องนี้เท่านั้น แต่เป็นทุกเรื่อง เพราะสปช.อาจขาดข้อมูลบางอย่าง หรือไม่ทราบว่ารัฐบาลทำอะไรไปบ้างแล้ว จะมาให้ชะลอคงไม่ได้แล้ว

ส่วนเรื่องเปิดสัมปทานรอบที่ 21 รัฐบาลดำเนินการไปถึงไหนแล้วนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบในรายละเอียด

“อันนี้พูดตามกฎหมายนะ ไม่ได้ไปต่อล้อต่อเถียง ตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ สปช.มีข้อเสนอแนะมายังรัฐบาล รัฐบาลก็สามารถพิจารณาได้ว่าจะทำหรือไม่ทำ เขาอาจจะเสนอแนะให้รัฐบาลออกกฎหมาย แต่ถ้ารัฐบาลเห็นว่าไม่จำเป็นก็จะไม่เสนอ ใครมีอำนาจก็อาจจะไปทำเองก็ได้ เพราะรัฐบาลมีความรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่โดยมารยาทรัฐบาลควรจะฟังสปช. หรือหากทำไม่ได้ ก็ควรชี้แจงกลับไปว่าไม่สามารถดำเนินการได้เพราะอะไร และเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับรู้” นายวิษณุกล่าว

สปช.ส่งรายงานถึงมือนายกฯสัปดาห์นี้

ด้าน นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการประสานงานกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ วิปสปช. แถลงว่า เมื่อวันที่ 13 ม.ค. ที่ประชุม สปช.ได้ลงมติด้วยเสียงข้างมาก ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ กมธ.ปฏิรูปพลังงาน สปช. ที่เสนอให้เปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 หลังจากนี้ สปช. ก็จะส่งมติของที่ประชุมต่อไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายในสัปดาห์นี้ พร้อมกับรายงานอีก 2 ฉบับ ได้แก่ รายงานของ กมธ.ปฏิรูปพลังงาน กับรายงานของ กมธ.วิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติที่จะพิจารณา เพราะความเห็นของ สปช.เป็นเพียงส่วนหนึ่งเพื่อประกอบการพิจารณาว่าจะเดินหน้าหรือทบทวนการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ขณะนี้ที่ประชุม สปช.มีความเห็นเป็น 2 แนวทาง คือ ให้ชะลอการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ไว้ก่อน แล้วให้นำระบบการแบ่งปันผลผลิตมาใช้แทนระบบสัมปทาน

ส่วนข้อเสนอที่ 2 การให้ใช้ระบบผสม คือ ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตในแปลงที่มีศักยภาพสูง และใช้ระบบสัมปทานในแปลงที่มีศักยภาพต่ำ โดยมีข้อเสนอแนะว่าเพื่อให้ไม่เป็นปัญหาต่อความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาว จึงจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าในการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ต่อไป

เผยสมาชิกสนใจ “ระบบผสม”

ทั้งนี้ หากเป็นไปตามข้อเสนอที่ 2 ก็สามารถเลือกแปลงสัมปทานที่มีศักยภาพสูง เช่น แปลงสัมปทานในทะเล 4 แปลงที่อยู่ติดกับแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกชในอ่าวไทย ซึ่งเป็นแปลงที่คาดหมายว่าจะมีปริมาณสำรองสูงและมีอัตราความเสี่ยงน้อย ให้รัฐดำเนินการโดยใช้ระบบการแบ่งปันผลผลิต

สำหรับแปลงแหล่งก๊าซน้ำมันเอราวัณและบงกช เป็นแปลงสัมปทานที่มอบให้กับบริษัทเชฟรอน กับบริษัท ปตท.สผ. จะหมดอายุสัมปทานในอีก 7 และ 8 ปี ตามลำดับ หมายความว่าทั้งแท่นขุดเจาะ อุปกรณ์การขุดทั้งหลายจะตกเป็นของรัฐทั้งสิ้น ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ได้รับความสนใจมาก การที่จะเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมและเพื่อไม่ให้ใช้เวลามากนัก ก็สามารถที่จะแก้ไขกฎเกณฑ์ และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ที่ถูกล็อกไว้เฉพาะระบบสัมปทานเท่านั้น

นักวิชาการแนะรัฐบาลควรฟังสปช.

ด้านนางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่ารัฐบาลควรจะนำข้อเสนอแนะของสมาชิก สปช.ที่ไม่เห็นด้วยกับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมมาทบทวนเงื่อนไขการเปิดปิโตรเลียมในประเทศไทยใหม่ แม้ว่าการสำรวจแหล่งพลังงานใหม่ๆ จะมีความจำเป็นและใช้เวลา 5 – 6 ปีในการสำรวจและเริ่มผลิต

นางเดือนเด่นเห็นว่าเงื่อนไขในสัมปทานปิโตรเลียมของประเทศไทยยังมีหลายส่วนที่ควรมีการปรับปรุง ได้แก่
1.การประกาศเงื่อนไขการประมูลที่ชัดเจนว่ามีพื้นฐานอยู่บนอะไร เช่น การคัดเลือกผู้ประมูลจากสัดส่วนรายได้ที่จะแบ่งให้กับภาครัฐ หรือการประมูลแข่งขันโดยเสนอมูลค่าสูงสุดของสัมปทานที่รัฐจะได้ โดยเงื่อนไขในการประมูลคล้ายกับการประมูลคลื่นความถี่ที่ใช้ในปัจจุบัน
2.มีการเปิดเผยเงื่อนไขสัมปทานปิโตรเลียมให้ประชาชนทราบ เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบเนื่องจากประชาชนเป็นเจ้าของทรัพยากรจึงควรมีส่วนรับรู้ว่าเงื่อนไขในสัมปทานนั้นๆ รัฐได้ประโยชน์สูงสุดหรือไม่ และ
3.การปรับปรุงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการประมูลให้มีความทันสมัย เช่น ข้อมูลเรื่องปริมาณสำรองน้ำมันในแหล่งปิโตรเลียม ข้อมูลทางธรณีวิทยา และต้องมีการปรับปรุงข้อมูลเหล่านี้ให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ ซึ่งการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้จะทำให้ภาคเอกชนสามารถประมาณการต้นทุนในการสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียม และจะช่วยดึงดูดให้มีบริษัทเอกชนเข้ามาประมูลและแข่งขันกันมากขึ้น


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 15 มกราคม 2558 ในชื่อ นายกฯสั่งพลังงานแจง มติสปช.รัฐทำงานยาก