tdri logo
tdri logo
8 มกราคม 2015
Read in Minutes

Views

ปัญหานโยบายแรงงานต่างด้าว กับนโยบายการว่างงาน

สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

ปุจฉา มีผู้ตั้งคำถามกับผู้เขียนว่า “ประเทศไทยไม่ควรทุ่มเทเงินทองมากมายไปช่วยแรงงานต่างด้าว น่าจะเอาเงินนั้นมาช่วยผู้ว่างงาน จะดีกว่า” ท่านว่าอย่างไร

วิสัชนา ผู้เขียนตอบทันทีโดยแทบไม่ต้องเสียเวลาวิสัชนาว่าคงไม่ใช่อย่างนั้น

เรื่องนี้เป็นเพราะผู้ตั้งคำถามยังไม่มีความเข้าใจหรือไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องทั้งด้านแรงงานต่างด้าวและการว่างงานมากกว่า หรือรู้แล้วแต่ลืมไปและที่จริงเรื่องนี้เป็นความเห็นเชิงนโยบายก็นับว่าอันตรายมาก

ผู้เขียนได้ให้เหตุผลไปสั้นๆ เพราะเรื่องนี้น่าจะเป็นที่ทราบดีกันโดยทั่วไปแล้ว เหตุผลของผู้เขียนที่ขอกล่าวสั้นๆ คือ

ด้านแรงงานต่างด้าว

ประการแรก เราไม่ได้ทุ่มเทเงินทองมากมายไปช่วยแรงงานต่างด้าว การจ้างแรงงานต่างด้าวเป็นเรื่องของดีมานด์ซัพพลาย หรือความต้องการแรงงานกับอุปทานแรงงานระดับล่างซึ่งเราขาดแคลน แรงงานต่างด้าวได้เงินจากค่าจ้าง ในขณะที่ผู้ประกอบการได้แรงงานประกอบธุรกิจของตน ส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับทางราชการที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องของการบริหารจัดการแรงงานและเงินที่ใช้จ่ายนี้ก็เรียกเก็บจากแรงงานต่างด้าวและนายจ้าง ปีหนึ่งๆ ไม่ใช่น้อย

อย่างกรณีการขึ้นทะเบียนแรงงานที่ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว (One Stop Service Center) ซึ่งถูกกว่าในอดีต แรงงานต้องจ่ายเงินประมาณคนละ 1,980 บาท แยกเป็น ค่าจดทะเบียน 80 บาท ใบอนุญาตทำงาน 1 ปี 900 บาท ค่าตรวจโรค 500 บาท ค่าประกันสุขภาพ 500 บาท จากจำนวนแรงงานและผู้ติดตามที่มาขึ้นทะเบียน 1.6 ล้านคน คิดเป็นเงิน 3,168 ล้านบาท และจากแรงงานพิสูจน์สัญชาติและแรงงานระบบ MOU ประมาณคนละ 1,800 บาท จำนวน 1.3 ล้านคน คิดเป็นเงิน 2,340 ล้านบาทต่อปี รวมเป็นเงินในส่วนนี้ประมาณ 5,500 ล้านบาท

ทั้งนี้ ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในการอุปโภคและบริโภคของแรงงานต่างด้าวจำนวนเกือบ 3 ล้านคนที่ใช้จ่ายในประเทศไทย ประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยก็ได้รับจากการใช้แรงงานต่างด้าว มีนักเศรษฐศาสตร์คำนวณไว้ว่าช่วยเพิ่ม GDP ระหว่างร้อยละ 0.5-1.2 ซึ่งจากจำนวน GDP (ปี2555) 11,375,349.0 ล้านบาท

ส่วนที่เกิดจากแรงงานต่างด้าวคิดเป็นเงินระหว่าง 57,000-137,000 ล้านบาทต่อปี

ค่าใช้จ่ายภาครัฐ เป็นกรณีที่แรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายเข้าประกันสังคม รัฐต้องออกเงินสมทบประมาณร้อยละ 2.5 ของค่าจ้างเป็นจำนวนเล็กน้อย ส่วนค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลตาม โรงพยาบาลชายแดนนั้นเป็นคนละกรณีกันเพราะหลายแห่งเป็นการข้ามแดนมาใช้บริการและโรงพยาบาลจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม ค่าใช้จ่ายอีกส่วนหนึ่งได้แก่การจัดการศึกษาให้ลูกหลานแรงงานต่างด้าว ระดับอนุบาลปีละ 90.7 ล้านบาท และระดับมัธยมปีละ 192 ล้านบาท ซึ่งบางส่วนมีองค์กรระหว่างประเทศ และองค์กรเอกชนช่วยดูแลอยู่

ประการที่สอง ประเทศไทยมีความขาดแคลนแรงงานและต้องการแรงงานต่างด้าว กล่าวคือ ประเทศไทยมีทั้งความต้องการและความขาดแคลนแรงงานระดับล่างจำนวนเป็นล้าน ผู้เขียนเคยพูดในหลายเวทีถึงเหตุผลทางประชากร 2 ประการคือ การเกิดและการตายของประชากรไทย

อย่างแรกนั้นก็เป็นที่ทราบกันดีว่าประชากรไทยเกิดน้อยลงในแต่ละปี โดยอัตราเจริญพันธุ์หรือจำนวนบุตรต่อมารดาหนึ่งคนอยู่ที่ประมาณ 1.5 ทั้งนี้ เข้าใจง่ายๆ ว่า ถ้าจะให้จำนวนประชากรเท่าเดิม มารดาแต่ละคนจะต้องมีบุตรเฉลี่ย 2 คน (ในตลอดชีวิต)

ดังนั้น ถ้าอัตราการเจริญพันธุ์ดังกล่าวต่ำกว่า 2 แปลว่าในที่สุดจำนวนประชากรจะลดลงซึ่งขณะนี้แนวโน้มดังกล่าวเริ่มปรากฏชัดแล้ว (จากการสัมมนาแผนประชากรแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา) แต่มุมมองด้านการเสียชีวิตไม่ค่อยมีการพูดถึงกัน

ถ้าพิจารณาจากแรงงานระดับล่าง (การศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น) ซึ่งมีจำนวนประมาณ 26 ล้านคน ในจำนวนนี้จะเสียชีวิตไปปีละไม่ต่ำกว่า 2 แสนคน และยังมีการออกจากอาชีพด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น เกษียณอายุ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ย้ายถิ่นไปต่างประเทศ ฯลฯ อีกจำนวนใกล้เคียงกันคือ ประมาณปีละไม่ต่ำกว่า 2 แสนคน
รวมความแล้วในแต่ละปีมีการสูญเสียแรงงานระดับล่างไม่ต่ำกว่า 4 แสนคน ขณะที่แรงงานระดับนี้เข้าสู่ตลาดแรงงานปีละไม่ถึง 1 แสนคน เนื่องจากประชากรชะลอการขยายตัวประกอบกับการขยายการศึกษาทำให้แรงงานระดับนี้ส่วนใหญ่เรียนต่อ

ประการที่สาม เราเพิ่งถูกอเมริกาลดอันดับการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ไปอยู่บัญชี 3 หรือกลุ่มท้ายสุดเมื่อกลางปีนี้เอง ตอนนั้นก็ปริวิตกกันมากมีการออกมาแก้ต่างมากมาย แต่ปัญหาที่แท้จริงก็คือ การจัดการแรงงานต่างด้าวที่ล้มเหลว

ดังนั้น ถ้าจะจัดการแรงงานต่างด้าวอย่างล้มเหลวกันต่อไปโดยความไม่คงเส้นคงวาของนโยบายแรงงานต่างด้าว ประเทศไทยก็คงติดอยู่ที่บัญชี 3 ไปอีกนาน

ด้านการว่างงาน

การแก้ปัญหาการว่างงานกับการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวไม่จำเป็นต้องเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ควรจะทำไปพร้อมๆ กันเพราะเป็นปัญหาคนละด้าน ผู้เขียนใคร่ให้ข้อสังเกตว่าอัตราการว่างงานของไทยที่ประมาณร้อยละ 0.7 นั้นต่ำที่สุดในเอเชียอยู่แล้ว และในความเป็นจริงทั่วโลกไม่มีประเทศใดที่ไม่มีการว่างงานเลยเพราะการว่างงานส่วนหนึ่งเป็นธรรมชาติ เช่น เมื่อสำเร็จการศึกษาออกมาก็มิใช่จะได้ทำงานในทันที (ของไทยในปี 2557 คนว่างงานที่จบมาใหม่ประมาณ 1 แสนคน จากการว่างงานทั้งหมดประมาณ 3 แสนคน) นอกจากแรงงานใหม่แล้วแรงงานที่มีงานทำอยู่แล้วบางส่วนก็มีการเปลี่ยนงานซึ่งในแต่ละครั้งก็จะมีช่วงที่ว่างงานเพื่อรองานใหม่ และในการปรับเปลี่ยนการผลิตก็อาจจำเป็นต้องลดหรือหยุดการจ้างงานบางส่วน

ทั้งนี้ ในสหรัฐอเมริกามีอัตราการว่างงานตามธรรมชาติถึงร้อยละ 3 ที่จริงในทางเศรษฐศาสตร์ถือว่าการว่างงานเป็นตัวส่งเสริมให้มีการแข่งขันและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของแรงงาน เพราะถ้าไม่มีการว่างงานก็ไม่จำเป็นต้องแข่งขันกับใคร

นอกจากนั้นแล้วประเทศไทยมีการประกันการว่างงาน มีการจัดหางานอย่างมีระบบ ผู้ว่างงานไม่ได้ถูกทอดทิ้งแต่อย่างใด รวมทั้งการแก้ปัญหาการว่างงานไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งโดยเฉพาะแต่เกี่ยวข้องกับนโยบายและมาตรการเศรษฐกิจมหภาค เกี่ยวกับการค้า การลงทุน การออม ฯลฯ

ผู้เขียนเคยเชียร์รัฐบาลว่าในเรื่องของนโยบายและการจัดการแรงงานต่างด้าว รัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว

ขอให้เป็นเช่นนั้นตลอดไป


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 26 ธันวาคม  2557

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด