แนะครูสอนเด็กคิดวิเคราะห์

ปี2015-01-16

ดร.ตรีนุช ไพชยนต์วิจิตร นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยใช้ทรัพยากรจำนวนมาก เพื่อพัฒนาการศึกษา โดย 10 ปีที่ผ่านมา ทุ่มงบประมาณถึง 4.2 แสนล้านบาท แต่กลับไม่ดีขึ้น เห็นได้จากผลการทดสอบระดับนานาชาติ (พิซ่า) ที่ระบุว่า ผลการเรียนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ยังไม่พัฒนา ซึ่งอนุมานได้ว่า ปัญหาอยู่ที่ความด้อยประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากร โดยเด็กไทยยังอ่อน ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ส่วนหนึ่งมาจากการขาดแคลนครูที่มีทักษะดังกล่าว

ปัญหาที่สำคัญคือ ความเหลื่อมล้ำของการศึกษา โดยเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี ซึ่งมีค่าใช้จ่ายทางการศึกษามากกว่า จะมีคะแนนสอบดีกว่า เด็กที่ยากจน สอดคล้องกับข้อมูลของสพฐ.ในปี 2553 ซึ่งมีนักเรียน 7.7 ล้านคน นักเรียนครึ่งหนึ่งมีฐานะยากจน ได้รับเงินอุดหนุนเพียงปีละ 1,000 บาทต่อหัวเท่านั้น

การพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน ต้องพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนแต่ละวิชาใหม่ และคำนึงถึง 3 เรื่อง คือ
1.การจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวแก่นักเรียนยากจนเพิ่มเติม
2.เพิ่มความรับผิดชอบของผอ.ร.ร.และครู ต่อผลการเรียนของเด็ก และ
3.ปรับเปลี่ยนการผลิตครูและการคัดเลือกครูที่มีคุณภาพ
นอกจากนี้ ครูควรเปลี่ยนวิธีการสอน ลดการสอนแบบท่องจำ เปลี่ยนเป็นสอนแบบคิดวิเคราะห์ และค้นคว้าหาคำตอบด้วยตนเองมากขึ้น

หน้า 23


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน วันที่ 16 มกราคม 2558 ในชื่อ แนะครูสอนเด็กคิดวิเคราะห์