ปี 58 ห่วงแรงงานอุตสาหกรรมรถยนต์-อิเล็กทรอนิกส์ จับตาปิดโรงงานเลิกจ้าง

ปี2015-01-01

เมื่อวันที่ 1 มกราคม นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานในปี 2558 ว่า สถานการณ์แรงงานคงไม่ได้ดีไปกว่าปี 2557 โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ยังคงได้รับผลกระทบจากนโยบายรถคันแรก ซึ่งรถยนต์ยังขายไม่หมด และบางบริษัทย้ายฐานการผลิตส่วนหนึ่งไปประเทศเพื่อนบ้าน ขณะเดียวกันแรงงานอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจยุโรปและอเมริกาตกต่ำ ทำให้ยอดการสั่งซื้อสินค้าลดลง ดังนั้นรัฐบาลและกระทรวงแรงงานควรสำรวจสภาพคล่องทางธุรกิจเป็นรายอุตสาหกรรมและลงลึกไปถึงระดับบริษัท หากบริษัทใดมีปัญหาก็ต้องสนับสนุนให้อยู่รอดเพื่อไม่ให้เลิกจ้างแรงงาน

“หลังจากสำรวจแล้วก็มาจัดระดับความเข้มแข็งของบริษัทว่าอยู่ในระดับเอ บีหรือซี ถ้าบริษัทไหนอยู่ระดับซีก็แสดงว่าไม่ไหว จะต้องป้องกันไว้ก่อน อย่าให้บริษัทต้องปิดตัวเพื่อป้องกันปัญหาการเลิกจ้าง และรัฐบาลต้องหางานเสริมให้แก่บริษัท รวมทั้งช่วยให้ทุนหมุนเวียนในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อให้บริษัทอยู่รอด ถ้าบริษัทอยู่รอด แรงงานก็อยู่ได้ เมื่อบริษัทดีขึ้นมีผลกำไรก็ต้องแบ่งปันให้แรงงานด้วย” นายชาลีกล่าว

ด้านนายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2558 เติบโตได้ร้อยละ 3.5 ถึงร้อยละ 4 ซึ่งดีขึ้นกว่าปี 2557 เนื่องจากการเมืองมีความมั่นคง และรัฐบาลมีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจและลงทุน ทำให้การจ้างงานเพิ่มขึ้น เมื่อรวมผู้ว่างงานเดิมกับผู้เรียนจบใหม่คาดว่าอัตราการว่างงานจะอยู่ที่ร้อยละ 0.8 – 1 หรือประมาณ 400,000 คน ทั้งนี้กลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือผู้จบปริญญาตรีที่มีกว่า 100,000 คน โดยรัฐบาลและกระทรวงแรงงานจะต้องหาทางส่งเสริมให้คนกลุ่มนี้มีงานทำ รวมทั้งขยายอายุเกษียณจาก 55 ปีเป็น 60 – 65 ปีเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานและส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำ


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์มติชนออนไลน์ วันที่ 1 มกราคม 2558 ในชื่อ ปี 58 ห่วงแรงงานอุตสาหกรรมรถยนต์-อิเล็กทรอนิกส์ จับตาปิดโรงงานเลิกจ้าง