งบด้านสุขภาพพุ่งต้องรีดไขมัน ‘ข้าราชการ’

ปี2015-01-19

หากกล่าวถึงบุคคลที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นคลังสมอง (Think Tank) ของประเทศไทย และมีความเชี่ยวชาญด้านการเงินการคลังในระบบสาธารณสุข ชื่อของ อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) คงปรากฏขึ้นเป็นลำดับแรกๆ

ปัจจุบัน อาจารย์อัมมาร ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 กองทุนสุขภาพ (กองทุนประกันสังคม กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกองทุนสวัสดิการข้าราชการ) ทำหน้าที่ลดความเหลื่อมล้ำ-สร้างความเสมอภาคให้กับระบบสุขภาพไทย

ต่อไปนี้คือมุมมองของนักวิชาการผู้คร่ำหวอด วาดภาพอนาคตระบบสุขภาพที่พึงจะเป็น

เดินหน้าสร้างระบบปฐมภูมิ

ปัจจุบันระบบหลักประกันสุขภาพถือว่าสำเร็จ อย่างน้อยทำให้ประชาชนอุ่นใจว่า ถ้าเจ็บป่วยก็จะได้รับการดูแล เมื่อเป็นโรคหนักๆ เช่น โรคหัวใจ ก็มีโอกาสรอดมากขึ้น รวมถึงยังช่วยให้ความเจ็บป่วยที่เกิดกับกระเป๋าสตางค์ของประชาชนลดลงไปมาก ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ชัดเจนและมีหลักฐานเชิงประจักษ์

“สำหรับโรคร้ายแรงที่ใช้เงินเยอะ สมัยก่อนประชาชนต้องควักกระเป๋าจ่ายเอง วันนี้ทุเลาลงไปมาก นี่เป็นข้อดี เป็นความสำเร็จที่ผมอยากจะขอภูมิใจร่วมด้วย”

อย่างไรก็ดี วิพากษ์กันตรงไปตรงมาก็คือ ยังมีหลายอย่างในระบบที่บกพร่อง เช่น ยังไม่มีระบบบริการสาธารณสุขที่เอื้อต่อการดูแลรักษาแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมืองที่ไม่มีเลย คนในเมืองจึงติดนิสัยว่า เมื่อป่วยต้องไปโรงพยาบาล

“เราผลักให้ทุกคนไปรักษาที่โรงพยาบาลหมด แต่โรงพยาบาลที่มี โดยเฉพาะในโครงการ 30 บาท ก็ยังมีแพทย์ไม่มากพอที่จะรับคนไข้นอก แพทย์แต่ละคนต้องดูแลคนไข้นับร้อยในเวลาไม่กี่ชั่วโมง รวมไปถึงนางพยาบาลและบุคลากรอื่นๆ ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ใช้ไม่ได้”

จากนี้ประเทศไทยจำเป็นต้องลงทุนสร้างระบบปฐมภูมิที่ดี โดยเฉพาะในเมือง เพราะคนทั้งหมดไม่ว่าจากเขตเมืองหรือชนบทก็จะเข้ามารักษาในเมือง ซึ่งจะไปกีดกันใครไม่ได้ ดังนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ควรมีบทบาทในการบริการจัดการหน่วยปฐมภูมิเหล่านี้ ขณะที่คลินิกเล็กๆ ต้องมีการกำกับควบคุมที่ดีพอจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งที่ผ่านมา สธ.บกพร่องมาก

ลงทุนหน่วยบริการ

การมีระบบประกันสุขภาพเกิดขึ้นทำให้งบลงทุนของ สธ.ลดฮวบลงไปมาก แม้ช่วงหนึ่งจะมีงบจากโครงการไทยเข้มแข็ง แต่การจัดการก็อีลุ่ยฉุยแฉก มีการสร้างโรงพยาบาลชุมชนเพิ่มขึ้นทั้งที่บางแห่งไม่จำเป็น ในขณะที่โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปหลายแห่งขาดแคลนทรัพยากร ผู้ป่วยต้องนอนพื้น ห้องผู้ป่วยของโรงพยาบาลบางแห่งทุเรศมาก ดังนั้นจากนี้จึงจำเป็นต้องลงทุนเพิ่มขึ้น

ทว่า ทางกลับกันในโรงพยาบาลที่ลงทุนมากเกินไป เช่น โรงพยาบาลชุมชนในภาคกลาง ก็ควรเปลี่ยนบทบาทเป็นสถานที่รักษาคนไข้ในลักษณะของ Long Term Care แทน

“มันมีความจำเป็นที่จะต้องลงทุน การลงทุนเป็นตัวหล่อลื่นทำให้ความขัดแย้งลดลงไปได้ ขณะเดียวกันโรงพยาบาลศูนย์จะต้องไม่หวงก้าง ประชาชนที่เป็นคนไข้นอก ผ่องถ่ายไปให้คลินิกเอกชนบ้าง เวลานี้มันไม่มีคลินิกเอกชนก็เพราะสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หวงก้าง ไม่ยอมให้หน่วยงานนอกกระทรวงทำ เพราะว่าถ้าให้ทำ เงินก้อนที่โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปได้จากค่าหัวของคนไข้นอก ก็ไปตกอยู่ไปอยู่กับคลินิกเอกชน ขณะที่ สธ.ก็ไม่อยากให้ทำด้วย”

รมว.สธ.ต้องกล้าฟันธง

การบริหารเงินในระบบเป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่าง สธ.กับ สปสช. ดังนั้น รมว.สธ.ต้องฟันธงไปเลยว่าให้หน่วยงานใดจัดการ ซึ่งต้องเคาะบนพื้นฐานว่า การบริหารคืออะไร ใครเหมาะสม และเกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด

“เมื่อมองจากข้างนอก รู้สึกว่า สธ.ใช้เวลาและทรัพยากรมากเกินไปเพื่อจะอุ้มโรงพยาบาลทั้ง 800-900 แห่ง ให้อยู่รอดภายใต้เงื่อนไขของ สปสช. และการออกมาโจมตี สปสช.นั้น ส่วนตัวมองว่าหน้าที่การทำให้โรงพยาบาลอยู่รอดได้ ไม่ใช่หน้าที่ สปสช. และ สปสช.ก็ไม่ได้เป็นแหล่งเงินเดียวที่มีในระบบ ดังนั้นเป็นหน้าที่ สธ.ที่จะต้องเปิดให้หน่วยบริการมีอิสระในการบริหารจัดการได้ในระดับหนึ่ง ไม่ใช่ผูกขาดที่ส่วนกลางหมด”

“ผมคิดว่า สธ.หวงแหนทุกโรงพยาบาลมากเกินไป บางโรงพยาบาลต้องหวง เช่น โรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล ต้องให้งบประมาณและดูแลโดยตรง แต่โรงพยาบาลที่มีความพร้อม ถ้าเป็นไปได้ปล่อยออกไปให้ อปท.ดูแล ผ่องถ่ายออกไปเสียบ้าง ยิ่งเป็นส่วนใหญ่ได้ยิ่งดี เก็บไว้แต่โรงพยาบาลที่มีความจำเป็นทางสังคมที่จะต้องมีอยู่ในพื้นที่นั้นๆ”

เร็วไปที่จะรวม 3 กองทุน

สำหรับข้อเสนอการควบรวม 3 กองทุนสุขภาพเป็นหนึ่งเดียว ส่วนตัวมองว่ายังเร็วเกินไปในช่วงสถานการณ์พิเศษ เพราะในที่สุดแล้วจะกลายเป็นการแย่งเงินกัน ต้องเอาเงินจาก ก. ไปให้ ข. คนที่มีเงินเยอะก็จะมองว่าคนที่มีน้อยมาแย่งเงินไป ดังนั้นเป็นเรื่องที่รัฐบาลประชาธิปไตยควรจะทำ ไม่ใช่ให้ทหารทำ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สามารถวางมาตรฐานบางอย่างได้ เช่นที่กำลังดำเนินการอยู่คือ ให้ทั้งสามกองทุนทำงานร่วมกันในเรื่องจัดระบบเคลียริ่ง ระบบแบ็กออฟฟิศต่างๆ และที่พยายามผลักดันคือ เรื่องการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งปัจจุบันยังมีข้อบกพร่องเยอะ

รีดไขมันกองทุนข้าราชการ

อีกประเด็นที่มีการอภิปรายตลอดมา คือ ภาระการเงินการคลังของรัฐที่ต้องใส่เข้ามาในระบบสุขภาพ เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นทุกปี จนหลายคนเกรงว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งจะทำให้รัฐแบกรับไม่ไหว

————-

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 19 มกราคม 2558 ในชื่อ “งบด้านสุขภาพพุ่งต้องรีดไขมัน ‘ข้าราชการ'”