ค้านระงมปลดล็อกจัดสรรคลื่นความถี่ไม่ต้องประมูล “ทีดีอาร์ไอ” ฟันธง “บิวตี้คอนเทสต์” เปิดช่องใช้ดุลพินิจ “กสทช.” ย้ำยึดเกณฑ์จัดสรรคลื่น 4G ด้วยวิธี “ประมูล” แจงร่างพ.ร.บ.ใหม่ยังมีโอกาสปรับแก้ฟาก “ค่ายมือถือ” ไม่เกี่ยงวิธี พร้อมร่วมวงชิงคลื่น
กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาโดยพลัน เมื่อร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ ครม.เพิ่งอนุมัติ (6 ม.ค. 2558) เข้ามาจัดระเบียบคลื่นความถี่ใหม่ โดยคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทั้งในมาตรา 6 และ 9 ยังระบุให้การจัดสรรคลื่นความถี่ ทั้งในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคม ใช้วิธีการคัดเลือก ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กสทช.กำหนด
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเปลี่ยนวิธีจัดสรรคลื่นจากประมูลเป็นวิธีคัดเลือกแทนนั้น ต้องดูว่าโจทย์ใหญ่ของอุตสาหกรรมคืออะไร ที่ผ่านมาคิดว่าคือความโปร่งใส จากที่เคยเปิดโอกาสให้มีการวิ่งเต้นแสวงหาผลประโยชน์ในทางไม่ชอบสืบทอดมา 20-30 ปี ตั้งแต่ยุคสัมปทาน การปรับเปลี่ยนแก้ไขต้องดูบริบทของประเทศไทย หากเปลี่ยนไปสู่รูปแบบอื่นต้องเห็นผลชัดเจนว่าทำไมต้องเปลี่ยน
“ยังไม่เห็นเหตุผลที่เป็นระบบชัดเจนว่าการประมูลทำให้ติดขัดอย่างไร ที่ผ่านมามีการคัดค้านจากกลุ่มที่ต่อต้านไม่ให้มีการประมูล แต่ยังไม่เคยเห็นเหตุผลที่ทำให้เชื่อได้จริง ๆ ว่าการประมูลเป็นอุปสรรคในการจัดสรรคลื่นความถี่ หากไม่ประมูลจะเปิดช่องให้ใช้ดุลพินิจได้เยอะมากส่วนวิธีคัดเลือกอื่นที่นิยมใช้กันคือ คัดเลือกจากเงื่อนไขหรือบิวตี้คอนเทสต์ ซึ่งไม่น่าเหมาะกับประเทศไทย”
ส่วนแนวคิดที่จะให้ กสทช.กำกับดูแลเฉพาะคลื่นเชิงพาณิชย์ ให้คณะกรรมการดิจิทัลฯ เป็นผู้จัดสรรคลื่นเพื่อความมั่นคงและบริการสาธารณะ เป็นประเด็นที่มีความวิตกกังวล เพราะจะแยกอย่างไรว่าส่วนไหนเป็นคลื่นเพื่ออะไร ประเทศที่มีการแยกแบบนี้ เช่น อเมริกา FCC จัดสรรคลื่นเชิงพาณิชย์ NTIA จัดสรรคลื่นที่ใช้ในภาครัฐ กรณีในไทยจะยิ่งมีปัญหามากว่าจะแบ่งคลื่นความมั่นคงกับพาณิชย์ออกจากกัน อย่างไร ที่ผ่านมามีตัวอย่างมากมายที่อ้างว่าใช้เพื่อความมั่นคง แต่สุดท้ายใช้เชิงพาณิชย์ส่งผลถึงการไม่เสมอภาคในการแข่งขัน ระหว่างกลุ่มที่ต้องประมูลกับกลุ่มที่ได้จัดสรร
ส่วนวิธีการบริการ เพื่อสังคมก็มีกลไกอื่นที่ไม่ต้องให้รัฐวิสาหกิจหรือผู้ประกอบการรายเดิมทำ เพราะเป็นวิธีที่บิดเบือนการแข่งขันมาก ตั้งแต่ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ ปี 2543 จะมีกลไกกองทุน USO ที่ใช้เงินกองทุนพัฒนาโครงข่ายเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ ดีกว่าแบ่งแยกคลื่นไปใช้เฉพาะ เป็นวิธีที่ไม่มีประสิทธิภาพในต่างประเทศ ส่วนในไทยมีความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นได้
ที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจมีประวัติไม่ดีเกี่ยวกับการนำคลื่นของภาครัฐที่ได้รับจัดสรรมา แล้วไปปล่อยให้เอกชนนำไปใช้เชิงพาณิชย์อยู่เสมอ หากกลัวว่าตลาดจะกลายเป็นการผูกขาดคลื่นโดยเอกชน รัฐบาลต้องเปิดเสรี แต่รัฐบาลไม่คิดทำ ที่สำคัญคือเศรษฐกิจดิจิทัลจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าปล่อยให้โครงสร้างตลาดผูกขาดแบบนี้
ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การจัดสรรคลื่นที่ กสทช.กำลังเตรียมการยังใช้วิธี “ประมูล” แน่นอน เพราะกฎหมายใหม่ยังไม่ประกาศใช้ อีกทั้งร่าง พ.ร.บ.ใหม่ยังต้องเข้ากระบวนการของคณะกรรมการกฤษฎีกา เข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ขณะที่หลายคนคัดค้านกรณีระบุให้จัดสรรคลื่นด้วยวิธีการคัดเลือก
“ผมไม่เห็นด้วยกับการไม่ใช้วิธีประมูล เพราะมันจะมีปัญหาตามมาแน่นอน ต่อให้คัดเลือกดีอย่างไร คนก็ไม่เชื่อ จะมีปัญหาทุจริตตามมาอีก ผมเข้าใจว่าดีในต่างประเทศ แต่สังคมไทยมีเรื่องพรรคพวก กสทช.จะกลายเป็นเป้าโจมตีได้ ถ้าต้องไปชี้แจงผมจะยืนยันในหลักการว่าสังคมไทยเป็นแบบนี้ทำไปก็ไม่มีใคร เชื่อใคร ความเชื่อมั่นความเชื่อถือกันด้านนี้ไม่มี ฉะนั้น ประมูลดีกว่า”
ขณะนี้ได้ยื่นหนังสือไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอเตรียมการประมูลคลื่นแล้ว หลังจาก คสช.มีคำสั่งให้ชะลอไป 1 ปี ตั้งแต่ 17 ก.ค. 2557 ที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้มีการตอบกลับแต่อย่างใด
“คำสั่งชะลอที่ คสช.ประกาศ ถือเป็นกฎหมาย ฉะนั้น กสทช.ก็ต้องขึ้นตรงกับ คสช.ถ้าจะทำอะไรต่อต้องไปขออนุมัติ ถ้ากฎหมายใหม่ออกมาแล้วต้องไปขึ้นตรงกับคณะกรรมการดิจิทัลอีโคโนมี แต่ระหว่างนี้ กสทช.ก็ต้องทำตามกฎ ส่วนเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่จะให้ กสทช. มีอำนาจกำกับดูแลได้เฉพาะคลื่นความถี่เชิงพาณิชย์ก็ต้องแล้วแต่รัฐบาลพิจารณา”
ด้าน พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช.และประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่า กทค.ยังเดินหน้าเตรียมการประมูลคลื่น 4G และขณะนี้กำลังรอหนังสือตอบกลับจาก คสช. ส่วนการจัดสรรคลื่นโทรคมนาคมเพื่อการพาณิชย์มีหลายวิธีขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมของแต่ละประเทศ มีทั้งผสมระหว่างบิวตี้คอนเทสต์กับการประมูล หรือบิวตี้คอนเทสต์อย่างเดียว หรือประมูลอย่างเดียว ไม่มีวิธีไหนผิดหรือถูก ขึ้นอยู่กับประเทศมีวัตถุประสงค์อย่างไร สำหรับ กสทช. ตราบใดที่กฎหมายยังไม่ประกาศใช้ ยังใช้การประมูลจัดสรรคลื่น
ก่อนหน้านี้ นอกจากทั้ง 3 ค่ายมือถือ ได้แก่ เอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟจะออกมาแสดงจุดยืนต้องการเห็นการประมูลคลื่นใหม่เพื่อนำมาพัฒนา บริการ 4G เกิดขึ้นโดยเร็วแล้ว ยังแสดงความเห็นเกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นด้วยวิธี “บิวตี้คอนเทสต์”
โดย นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า อยากให้การจัดสรรคลื่นเปลี่ยนมาใช้วิธีบิวตี้คอนเทสต์เพราะวัดที่คุณสมบัติ และข้อเสนอของแต่ละราย แต่วิธีที่เหมาะสมที่สุดในการจัดสรรคลื่นในไทยคือ การประมูล เนื่องจากโปร่งใส และตรวจสอบย้อนหลังได้ แต่ไม่ว่าจะจัดสรรคลื่นด้วยวิธีใดก็พร้อมเข้าร่วมด้วย
เช่นกันกับนาย ซิคเว่ เบรคเก้ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า ทั้งประมูลและบิวตี้คอนเทสต์ บริษัทรับได้ และยินดีให้ความร่วมมือ แต่บิวตี้คอนเทสต์อาจค่อนข้างเสี่ยงต่อข้อครหาว่าไม่โปร่งใส ต่างจากวิธีประมูลที่มีข้อพิสูจน์ชัดเจน ทั้งภาครัฐยังนำเงินจากการประมูลไปใช้บริหารประเทศได้
นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า วิธีบิวตี้คอนเทสต์มีการใช้ในหลายประเทศ ซึ่งประเทศเหล่านี้มีการร่างคุณสมบัติของโอเปอเรเตอร์ที่จะมาใช้คลื่นอย่างชัดเจน เช่น ญี่ปุ่นกำหนดให้ถ้าได้คลื่นไปต้องให้บริการได้ครอบคลุมทั่วประเทศใน 2 ปี และสุดท้ายก็ทำได้ อีกทั้งไม่เกิดข้อครหา จึงเป็นวิธีที่ทำให้โปร่งใสได้เช่นกัน ขึ้นอยู่ที่การตัดสินใจของภาครัฐว่าจะไปทางไหน และต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศเป็นสำคัญ
ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 11 มกราคม 2558 ในชื่อ “ทีดีอาร์ไอ”สับเละ แก้”พ.ร.บ.กสทช.” เอื้อแจกคลื่นมือถือ