กระทรวงแรงงานติดกลุ่มหน่วยงานระดับกระทรวงที่มีการวิจัยน้อยที่สุดในประเทศไทย

ปี2015-01-06

รศ.ดร. ยงยุทธ  แฉล้มวงษ์

ผู้อำนวยการวิจัยด้านพัฒนาแรงงาน, TDRI

จากการศึกษาของโครงการพัฒนาระบบจำแนกงบประมาณภาครัฐซึ่งทำการวิจัย โดยศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯ ซึ่งเป็นโครงการของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พบว่า หน่วยงานที่มีงบประมาณการวิจัยน้อยที่สุดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558  จำนวน 6 ลำดับแรก คือ

หน่วยงาน งบประมาณ (ล้านบาท) สัดส่วนร้อยละงบประมาณวิจัย (%)
กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา 22.49 0.11
หน่วยงานตามรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ 11.69 0.06
กระทรวงการคลัง 9.88 0.05
กระทรวงพาณิชย์ 7.14 0.03
กระทรวงแรงงาน 2.20 0.01
หน่วยงานของศาล 1.50 0.01
รวมย่อย 54.90 0.27
งบประมาณวิจัยโดยรวมของประเทศ 20,709.00 100.00

ที่มา:   โครงการ “พัฒนาระบบจำแนกงบประมาณภาครัฐเพื่อการวิจัย”รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สิงหาคม 2557 บทที่ 6

จากตารางข้างต้นเป็นที่น่าสังเกตก็คือ มีหน่วยงานระดับกระทรวงสำคัญๆ ถึง 4 กระทรวงซึ่งกำลังเผชิญการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในปัจจุบันคือ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงแรงงาน ซึ่งมีงบประมาณการวิจัยรวมกันเพียง 41 ล้านเศษหรือคิดเป็นร้อยละ 0.2 ของงบประมาณที่รัฐจัดสรรเพื่องานวิจัยของรัฐ ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ากระทรวงที่สำคัญๆ เหล่านี้จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากต้องพึ่งความเชี่ยวชาญของเจ้าหน้าที่ (ในทุกระดับ) ของกระทรวงเป็นสำคัญโดยเกือบจะไม่ต้องพึ่งงบประมาณของรัฐมาใช้ทำวิจัยเพื่อตอบโจทย์ปัญหาซึ่งกระทรวงต่างๆ เหล่านี้กำลังเผชิญอยู่ซึ่งแน่นอนทำให้เกิดข้อสังสัยว่าการบริหารงานในการแก้ปัญหาของชาติที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเหล่านี้จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ หรือไม่ คำตอบก็อาจจะพอคาดเดาได้ว่าคงไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรจะเป็นถ้าเพียงแต่จะอาศัยพลังสมองจากการทำงานประจำวัน(routine work) ของเจ้าหน้าที่ตามเวลาราชการมาช่วยแก้ปัญหาของกระทรวงและของชาติ

ที่จริงกระทรวงเหล่านี้มีความสำคัญต่อประเทศชาติมากอาทิ กระทรวงพาณิชย์ต้องดูแลการส่งออกมูลค่านับล้านล้านบาท ดูแลการค้าภายในกับสินค้านับหมื่นชนิด ดูแลผู้บริโภคหลายสิบล้านคน กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาต้องดูแลแหล่งท่องเที่ยวนับหมื่นแห่ง หารายได้เข้าประเทศจากการท่องเที่ยวทั้งในประเทศนับร้อยๆ ล้านคน นักท่องเที่ยวต่างประเทศมากกว่า 24 ล้านคนทุกปี เพื่อนำรายได้เข้าประเทศหลายแสนล้านบาท ยังไม่นับการกีฬาที่มีนักกีฬาต้องดูแลอีกนับแสนคน กระทรวงแรงงานต้องดูแลคนวัยทำงาน 40 ล้านคนทั้งมิติของรายได้ (ค่าจ้าง) มิติของการมีงานทำ ยกระดับผลิตภาพแรงงาน ดูแลสวัสดิภาพของแรงงาน ดูแลเรื่องสวัสดิการ รวมทั้งแรงงานต่างด้าวอีกเกือบ 3 ล้านคน และกิจการอื่นๆ อีกมากมาย แต่หน่วยงานเหล่านี้มิได้มีความสนใจที่จะยกระดับประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาและ/หรือการบริการประชาชนตามบทบาทของตนเองด้วยงานวิจัยหรืออาจจะเป็นเพราะหน่วยงานเหล่านี้ทำงานวิจัยมากมาย โดยใช้งบประมาณของตนเองโดยมิต้องพึ่งงบประมาณจากภาครัฐ จึงไม่ปรากฏตัวเลขในตารางข้างต้น ผลจากการวิจัยของสภาวิจัยฯข้างต้นพบว่าหน่วยงานที่เอ่ยถึงเหล่านี้มีงบประมาณจากแหล่งอื่นน้อยมากหรือไม่มีมากอย่างที่คิด

ผู้เขียนจึงพอจะสรุปได้ค่อนข้างจะมั่นใจว่ากระทรวงที่สำคัญๆ ของประเทศเหล่านี้ตัดสินใจในการบริหารอยู่บนพื้นฐานที่ใช้การวิจัยน้อยมาก (โดยไม่ต้องพึ่งงบประมาณแผ่นดิน) แต่เลือกที่จะใช้ความเชี่ยวชาญของเจ้าหน้าที่ประจำของหน่วยงานของตนเองเป็นหลัก ซึ่งก็โชคดีไปสำหรับหน่วยงานเหล่านี้ที่มีพลังสติปัญญาและประสบการณ์ของข้าราชการที่มากพอที่จะขับเคลื่อนงานประจำไปได้ แต่ถ้าโชคไม่ดีหน่วยงานข้างต้นไม่มีเจ้าหน้าที่ที่มีสติปัญญามากพอและรอบรู้รอบด้านเมื่อมีปัญหาให้แก้เข้ามาเป็นรายวันก็จะส่งผลให้การดำเนินงานอาจจะไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร การที่จะพึ่งพาสติปัญญาที่มีอยู่ในหน่วยงานในการวางแผนทำงานเชิงรุกให้กับหน่วยงานของตนเองและประเทศชาติในอนาคต โดยไม่ทำวิจัยมาเสริมเติมความรู้ในเรื่องที่หน่วยงานรับผิดชอบคงจะไม่เพียงพออย่างแน่นอน (ฟันธง) ดังนั้น จึงจะขอร้องให้เจ้ากระทรวงทั้งหลายโดยเฉพาะกระทรวงและหน่วยงานที่กล่าวถึงข้างต้นได้โปรดหันมาสนใจส่งเสริมการวิจัยให้กับหน่วยงานของตนให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เผื่อว่าหน่วยงานของท่านจะสามารถช่วยเหลือประเทศชาติในการพัฒนาได้มากยิ่งขึ้น โดยอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลเชิงประจักษ์จากงานวิจัยเป็นสำคัญ