เปิดทฤษฎีนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่

ปี2015-01-29

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ผศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เจ้าของ “รางวัลป๋วย อึ๊งภากรณ์ สำหรับนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีผลงานดีเด่น” ประจำปี 2558 กล่าวถึงงานวิจัยที่กำลังศึกษาอยู่ว่า เป็นงานวิจัยที่เน้นการใช้องค์ความรู้เชิงทฤษฎี และนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ในแวดวงเศรษฐศาสตร์ โดยอาศัยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เป็นหลัก งานวิจัยนี้มีเป้าหมายเพื่อศึกษาความล้มเหลวของตลาดอันเนื่องมาจากผลกระทบภายนอกและปัญหาอสมมาตรของข้อมูลที่เกิดขึ้นจากการแลกเปลี่ยนในระบบตลาดและตลาดการเงินที่ไม่สมบูรณ์ งานวิจัยดังกล่าวนับว่ามีบทบาทในเชิงนโยบายต่อการดูแลตลาดการเงินที่ในปัจจุบันมีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก

ผศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ผศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ประเด็นหลักๆ ของงานวิจัย ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1. โครงสร้างตลาดการเงินที่มีอยู่มีอุปสรรคในการแลกเปลี่ยนที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่มีประสิทธิภาพ (inefficient outcomes) ปัญหานี้เกิดขึ้นเนื่องจากอุปสรรคในการแลกเปลี่ยนขึ้นอยู่กับราคาของหลักทรัพย์ ยกตัวอย่างเช่น ปัญหา subprime ที่ทุกคนต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (collateral) โดยหากสถาบันการเงินคาดว่าหลักทรัพย์จะมีราคาสูงก็สามารถใช้กู้ยืมได้มาก แต่หากคาดว่าราคาจะตกต่ำก็จำเป็นจะมีใช้หลักทรัพย์จำนวนมาก ผลที่ตามมาก็คือ โดยรวมแล้วจะมีหลักทรัพย์ในระบบมากเกินกว่าระดับที่เหมาะสม ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์เราเรียกปัญหานี้ว่า ปัญหาผลกระทบภายนอก (externalities) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ (Hamburger crisis) ส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพและส่งผลกระทบต่อเนื่องไปทั่วโลก 2. การสร้างตลาดเพิ่มเติมเป็นทางออกที่ดีที่สุด (market-based solution) งานวิจัยข้างต้นได้แสดงให้เห็นว่า เราสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ด้วยการสร้างตลาดของสิทธิ์ในการซื้อขาย (markets for rights to trade) ที่ช่วยให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องตัดสินใจได้อย่างถูกต้องและทำให้หลักทรัพย์ในระบบมีปริมาณที่เหมาะสม (optimal level) ข้อเสนอนี้แตกต่างจากข้อเสนอของนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากที่มุ่งเน้นการแทรกแซงหรือการกำหนดข้อจำกัดบางประการของภาครัฐ โดย ผศ.ดร.วีระชาติ เชื่อว่า ข้อเสนอนี้มีความเป็นไปได้ในแง่นโยบาย รวมถึงจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ตลาดการเงินมีความเข้มแข็งมากขึ้น

นอกจากนี้ ผศ.ดร.วีระชาติ ยังสนใจงานวิจัยด้านการพัฒนาทุนมนุษย์ (human capital) ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดต่อการพัฒนาประเทศ โดยเชื่อว่า การพัฒนาเด็กและเยาวชนตั้งแต่ปฐมวัยจะสามารถตอบโจทย์ของประเทศได้ 2 อย่าง ไปพร้อมๆ กัน คือ 1. การประสิทธิภาพหรือความสามารถในการแข่งขัน และ 2. การลดความเหลื่อมล้ำในระยะยาว ดังนั้น ผศ.ดร.วีระชาติ และทีมงาน จึงได้ริเริ่มโครงการพัฒนาเด็กปฐมวัยในชนบท ซึ่งจะนำหลักสูตรปฐมวัยที่ได้รับการพิสูจน์จากงานวิจัยว่ามีประสิทธิภาพสูง เข้าไปประยุกต์ใช้ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในเขตจังหวัดมหาสารคามและจังหวัดใกล้เคียง พร้อมทั้งจัดอบรมครูแบบเข้มข้น รวมไปถึงติดตามให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ นอกจากนี้ โครงการนี้จะมีการเก็บข้อมูลของเด็ก ผู้ปกครอง ครู และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อให้ได้มาซึ่งฐานข้อมูลที่จะช่วยให้เราสามารถออกแบบนโยบายด้านการศึกษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต ผู้สนใจสามารถศึกษาและติดตามรายละเอียดของโครงการได้ที่ http://riped.utcc.ac.th/ecd/

ผศ.ดร.วีระชาติกล่าวทิ้งท้ายว่า “รางวัลป๋วย อึ๊งภากรณ์ สำหรับนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีผลงานดีเด่น” เป็นรางวัลที่สร้างความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง และถือเป็นกำลังใจแก่นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ ให้สร้างสรรค์ผลงานวิชาการคุณภาพอันช่วยให้วงการเศรษฐศาสตร์ไทยเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะมีแหล่งความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่จะทำคุณประโยชน์ให้ประเทศต่อไป.