ประชาชาติธุรกิจรายงาน: กสทช.-บอร์ดดิจิทัล ย้อนสู่ยุคสัมปทาน

ปี2015-01-26

ประชาชาติธุรกิจ 26 ถึง 28-01-58  วิพากษ์แก้ กม. เกาไม่ถูกที่คัน'กสทช.-บอร์ดดิจิทัล' ย้อนสู่ยุค...

 

 “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เกี่ยวกับการแก้กฎหมายดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้

– มองร่าง พ.ร.บ.กสทช.ใหม่อย่างไร
ที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ กสทช.มาก เช่น การใช้เงินใช้ทอง แต่ก็มีกรรมการหลายคนไม่ได้เป็นแบบนั้น จึงควรแก้ที่ตัวบุคคล เปลี่ยนเป็นคนคนไป หรือถ้ามองว่ามีจุดอ่อนที่ระบบด้วยก็ต้องไล่แก้กฎหมายเป็นส่วน ๆ ไป แต่ร่างกฎหมายใหม่ของรัฐบาลไม่ได้แก้ในจุดนี้เลย รัฐบาลเลือกสูตรที่ให้มีคณะกรรมการดิจิทัลแห่งชาติ โดยระบุว่า บอร์ดดิจิทัล สามารถทำนโยบายและแผนระดับชาติได้ ซึ่งจากร่าง พ.ร.บ.ยังบอกไม่ได้ว่าแผนที่ออกมาจะล้วงลูกไปถึงขนาดกำหนดบทบาททีโอที-กสท โทรคมนาคมเลยหรือไม่ หากจะใช้ร่างของรัฐบาล ถ้าปิดช่องโหว่ กสทช.เดิม ทั้งการควบคุมด้านงบประมาณ การแก้เรื่องความโปร่งใสและธรรมาภิบาลของ กสทช. และกระชับเรื่องความสัมพันธ์ของรัฐบาลกับ กสทช.ให้แน่นขึ้นก็พอได้ ส่วนเรื่องยุบ 2 บอร์ดให้เหลือบอร์ด กสทช. อย่างเดียวก็เห็นด้วย ส่วนกองทุนวิจัยและพัฒนา ถ้าย้ายไปที่อื่นแต่หัวใจสำคัญของกองทุนยังเป็นการขยายบริการอย่างทั่วถึง USO โดยให้โอเปอเรเตอร์ทุกรายจ่ายเงินสมทบกองทุน เพื่อให้ทุกคนมีสิทธิ์เข้ามาประมูลเพื่อให้ได้สิทธิบริการ USO อย่างเป็นธรรม พร้อมกำกับการใช้เงินกองทุนให้โปร่งใสก็ไม่มีปัญหา

– การแก้วิธีจัดสรรคลื่น
ไม่ควรเปลี่ยนวิธี เพราะการประมูลไม่ใช่ปัญหา ถ้ารัฐบาลคิดว่าเป็นปัญหาต้องยกตัวอย่างมาอธิบายสังคมให้ได้ ซึ่งผมยังไม่เห็นกรณีแบบนี้ และถ้าจะแก้ก็ต้องเฉพาะจุด ไม่ใช่เปิดกว้างให้ไปใช้วิธีการคัดเลือกได้หมด ถ้าเปิดกว้างให้ใช้วิธีการคัดเลือกได้หมดก็เป็นเรื่องใหญ่ ผลประโยชน์เยอะ กลายเป็นช่องว่างที่ใหญ่มากที่ให้ใช้ดุลพินิจได้ และเผลอ ๆ จะกลายเป็นเปิดให้ฝ่ายการเมืองใช้ดุลพินิจผ่านคณะกรรมการดิจิทัลแทน กสทช. โดยเขียนในแผนระดับชาติว่า 4G ไม่ต้องประมูล

– วิธีสรรหาและจำนวนบอร์ดต้องเปลี่ยน
ประเด็นนี้รัฐบาลไม่แตะ สะท้อนความคิดโดยนัยว่า 11 กสทช. นี้โอเคแล้ว ไม่อย่างนั้นจะเห็นการแก้ ลดจำนวนคนลง ฉะนั้นปัญหาเรื่องคน ไม่ได้ถูกแก้ไขเลย และจะทำให้คนมองว่ารัฐบาลที่มาจากทหารไม่แตะทหารด้วยกัน ทั้ง ๆ ที่ตอน คสช.เข้ามาใหม่ ๆ มีการโยกย้ายสับเปลี่ยนเยอะแยะในส่วนที่คิดว่าเป็นปัญหา

– วิธีเดิมได้คนมีปัญหาเหมือนเดิม
เป็นช่องว่างที่ปิดยากมาก ทุกคนที่ยกร่างกฎหมายรู้ดีว่ายังไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด จะมีปัญหาแน่นอน แต่ระดมสมองนานมากจากหลายฝ่ายทั้ง ส.ว. ส.ส. ก็ได้แค่นี้ ปัญหาในการสรรหาเดิมต้องย้อนไปในกระบวนการคือ กรรมการสรรหากับกลุ่มพวกสมาคมต่าง ๆ ที่สมัครกันเอง แล้วไปจบที่วุฒิสภาในการคัดเลือก ซึ่งกฎหมายเดิมเปิดช่องให้วุฒิสภาใช้ดุลพินิจมากเกินไป เพราะให้การสรรหาเสนอมาจาก 2 ทาง ทางละ 2 เท่า จำนวนคนที่มาให้ ส.ว. เลือกจึงเป็น 4 เท่าของกรรมการที่ต้องเลือก ส.ว. จึงมีอำนาจเลือกได้เยอะ ทางแก้ปัญหานี้ไม่มีสูตรไหนที่รับประกันว่าจะไม่ผิดพลาดอีก ผมจึงฝากความหวังไว้ที่กลไกในการตรวจสอบ การเปิดเผยข้อมูล แต่ปรากฏว่าส่วนนี้ไม่ได้ทำตามกฎหมายกัน

– คสช.ต้องการปฏิรูประบบทั้งหมด
รัฐบาลกำลังเอาปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบมาเป็นโจทย์ในการแก้ แต่สิ่งที่ทำคือไม่ได้แก้ที่ตัวบุคคล ไม่ได้เพิ่มกลไกเรื่องความโปร่งใส ตรวจสอบได้ของ กสทช. แต่แยกอำนาจ-ดุลพินิจไปอยู่ที่กรรมการดิจิทัลแทน ต่อไปปัญหาจึงจะไปอยู่ที่บอร์ดดิจิทัลแทน เพราะไม่ได้แก้ที่รากของปัญหาแค่ย้ายที่เกิดปัญหา ขณะที่กรรมการดิจิทัลจะกลายเป็นบอร์ดที่ใหญ่โตมโหฬารมาก มีกรรมการตั้งแต่ 35-39 คน และทำงานซ้ำซ้อนกันข้างใน คือมีนายกรัฐมนตรีที่บังคับบัญชารัฐมนตรีไอซีที และมีปลัดไอซีที มี กสทฯ ทีโอที ผอ.องค์กรต่าง ๆ เต็มไปหมด ถ้าจะบอกว่าเพื่อบูรณาการ คุณก็จะได้บอร์ดที่ใหญ่และเทอะทะมาก มันสะท้อนว่าระบบราชการในกระทรวงไอซีทีและภาครัฐไทยไม่เวิร์กเลยก็ได้ ถึงเขียนกฎหมายออกมาแบบนี้ และจะไม่บูรณาการจริงเพราะยังมีอีกหลายหน่วยงานที่ไม่อยู่ในบอร์ดนี้

– โครงสร้างบอร์ดดิจิทัลซับซ้อนไป
มันฟังดูไม่ค่อยเป็นดิจิทัลเท่าไร เพราะดิจิทัลคือการทำให้คล่องแคล่วคล่องตัว ซึ่งส่วนหนึ่งจำเป็นต้องมีเพราะการขับเคลื่อนรัฐไทยใช้คณะกรรมการเป็นเครื่องมือหลัก แต่ยังไม่เคยเห็นกฎหมายไหนลงไปกำหนดสเป็กถึงกรรมการชุดย่อย ทั้งที่การทำงานแบบนี้ต้องการให้ยืดหยุ่น ที่ต้องระวังคือ ในไทย คณะกรรมการชุดไหนที่คิดว่าสำคัญก็จะให้นายกฯ เป็นประธานหมด พอถึงเวลาก็จะพบว่า Execute ไม่ได้ ไม่มีเวลา สุดท้ายก็ดิวงานได้ยากอยู่ดี ถึงบอกว่า Paradigm ในการแก้ปัญหานี้ยังไม่ค่อยดิจิทัลสักเท่าไร คือไม่ได้มองว่ากลไกตลาดจะขับเคลื่อนอย่างไร อ่านกฎหมายทั้งชุดจบแล้วยังไม่เห็นบทบาทของเอกชนเลย มีแต่พูดถึงเรื่ององค์กรของรัฐและคณะกรรมการ ทำเหมือนว่าถ้ากรรมการชุดนี้ทำงานได้ กลไกตลาดก็จะขับเคลื่อนได้เอง แต่มันจะไม่เป็นจริงแบบนั้น เพราะสภาพตลาดยังไม่ใช่

– แนวทางที่ควรจะเป็น
กฎหมายยังหมกมุ่นอยู่กับการให้รัฐเป็นคนทำ และรัฐร่วมทุนกับเอกชนทำ ในกฎหมายระบุเลยว่า ถ้ามีโครงการร่วมทุนรัฐกับเอกชน (Public Private Partnership : PPP) ให้บอร์ดดิจิทัลอนุมัติได้โดยไม่ต้องขึ้นกับ พ.ร.บ.ร่วมทุน สะท้อนวิธีคิดว่าการขับเคลื่อนอยู่ที่รัฐ PPP ทั้งที่ตลาดโทรคมนาคมโครงสร้างพื้นฐาน การขับเคลื่อนใหญ่ต้องอยู่ที่การทำให้ตลาดเสมอภาคในการแข่งขัน เปิดเสรีและเป็นธรรม แต่ไม่เห็นคอนเซ็ปต์นี้ การที่จะเอา PPP คือสัมปทานรูปแบบหนึ่งมาใช้จะทำให้เอกชนแต่ละรายได้เงื่อนไขไม่เหมือนกัน เท่ากับกลับไปสู่ระบบก่อนมีใบอนุญาต กลายเป็นหลุมใหญ่เบ้อเริ่มที่จะสร้างการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ถ้าเชื่อว่าดิจิทัลต้องขับเคลื่อนโดยเอกชน รัฐต้องสร้างกฎกติกาที่เอื้อให้ตลาดแข่งขันเสรีและเป็นธรรม แล้วถอยออกไปเป็นผู้กำหนดทิศทางแต่ไม่ใช่เป็นคนคัดท้ายเรือหรือคนพายเรือ แต่กฎหมายดิจิทัลยังร่างมาแบบที่คิดว่ารัฐจะยังเป็นคนพายเรืออยู่ ซึ่งย้อนยุคไปหน่อย ที่ต้องทำคือแบ่งเส้นให้ดีว่าอะไรเป็นเรื่องนโยบาย อะไรเป็นเรื่องการกำกับดูแล

– มีแนวคิดสร้างกองทุนอินฟราฯฟันด์
จะรวมโครงข่ายของใคร ก็มีของทีโอที กับ กสทฯ กับการไฟฟ้าฯ นั่นคือการมองว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลต้องทำโดยรัฐวิสาหกิจ แต่รัฐบาลพยายามสะท้อนการมีส่วนร่วม เพราะในซีกของตลาดทุน โอเปอเรเตอร์รายใหญ่ก็ทำกองทุนโครงสร้างพื้นฐานกันหมด เป็นแนวโน้มของตลาดทุน แต่แนวโน้มของตลาดโทรคมนาคมไม่ใช่จะพึ่งรัฐวิสาหกิจเป็นหลัก เพราะเสี่ยงที่จะเกิดการแข่งขันไม่เป็นธรรมระหว่างรัฐวิสาหกิจกับเอกชน และเอกชนกับเอกชนด้วยกัน

– ที่มาของบอร์ดดิจิทัลมีสิ่งที่ต้องกังวล
ก็กังวลเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ผมมองว่ารัฐกำลังหมกมุ่นกับการปรับโครงสร้างกระทรวงไอซีทีโดยไม่สนใจ ไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควรว่าผู้บริโภค ธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจวิทยุโทรทัศน์จะได้ประโยชน์จากอะไร โครงสร้างใหม่จะไปสู่ผลลัพธ์ได้อย่างไร เหมือนการปฏิรูปการศึกษาที่รัฐบาลก็หมกมุ่นอยู่กับการแก้โครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ ผลจึงออกมานักเรียนไม่ได้อะไร จึงเป็นห่วงว่าเจตนาที่ดีที่อยากมีเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งเป็นความคิดที่ดีมากๆ สุดท้ายจะไม่เกิดขึ้นเพราะวิธีการ แนวคิด โครงสร้างการทำงาน การออกแบบกลไกต่าง ๆ

– กระทรวงดิจิทัลยังต้องมี
โครงสร้างกระทรวงไอซีทีเดิมมีปัญหาจริงควรรื้อ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือคุณภาพของข้าราชการ เพราะกระทรวงไอซีทีมาจากการโอนจากกระทรวงอื่นที่อาจเห็นโอกาสเติบโต จึงได้เห็นว่าข้าราชการที่มาจากกระทรวงอื่นยังไม่ได้คิดแบบเศรษฐกิจยุคใหม่ นี่คือปัญหาใหญ่ที่สุด จึงต้องปรับที่ข้าราชการด้วย ขณะการตั้งองค์การมหาชนเพิ่มก็ต้องมีหลักประกันเรื่องผลงาน มิฉะนั้นจะกลายเป็นได้คนที่มีเงินเดือนมากความสามารถน้อย แล้วไม่ต้องรับผิดชอบ สังคมก็ไม่ได้อะไร สุดท้ายจะเกิดการปฏิรูปที่ “คนได้” คือข้าราชการไม่ใช่ประชาชน

 

—————————-

ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 26 มกราคม 2558 ในชื่อ วิพากษ์แก้ กม. เกาไม่ถูกที่คัน กสทช.-บอร์ดดิจิทัล” ย้อนสู่ยุคสัมปทาน