แท็กซี่ไร้คุณภาพ หวังการแข่งขัน-เพิ่มทางเลือกผู้โดยสาร ตัวเร่งแท็กซี่ปรับตัว

ปี2015-02-19

ชุลีพร บุตรโคตร

taxi-tcij1
แท๊กซี่(ที่มารูปภาพ: http://tcijthai.com/)

เครือข่ายแท็กซี่ไทยเตรียมเคลื่อนไหวของปรับราคาอีกครั้งหลังกระทรวงพลังงานประกาศขึ้นราคาเอ็นจีวี อ้างราคาที่ปรับก่อนหน้าไม่คุ้มกับต้นทุน ด้านนครชัยแอร์ ฉวยจุดอ่อนบริการแย่ ผุดบริการแท็กซี่ไฮบริดจ์ป้ายแดงผ่านแอพพลิชั่น เน้นปลอดภัย ไฮโซ หลังบริษัทต่างชาติรุกตลาดไปก่อนหน้า

คงปฏิเสธไม่ได้อีกต่อไปแล้วว่า ปัญหาแท็กซี่ไทยไม่ได้เป็นเพียงปัญหาด้านการคมนาคมท้องถิ่นเท่านั้น เพราะขณะนี้มันได้ถูกยกระดับให้กลายเป็นปัญหาระดับชาติ ถึงขนาดบางคนเสนอว่าควรยกปัญหาแท็กซี่ไทยให้เป็นวาระแห่งชาติกันเลยทีเดียว

วิพากษ์หนักหลังหนุ่มยุ่นชื่อดังโพสต์ด่าแท็กซี่สุวรรณภูมิ ก่อนเรื่องเงียบ

ย้อนกลับไปต้นเดือมกราคม 2558 หลังผ่านปีใหม่มาไม่กี่วัน ในโลกโซเชียลออนไลน์ก็พากันฮือฮา เมื่อมีการแชร์ภาพของหนุ่มญี่ปุ่นที่ต่อมาสืบทราบว่าเป็นผู้มีชื่อเสียงในวงการบันเทิงญี่ปุ่นคนหนึ่ง เผยแพร่รายละเอียดข้อมูลการถูกปฏิเสธการให้บริการของแท็กซี่คันหนึ่งภายในสนามบินสุวรรณภูมิ พร้อมเล่ารายละเอียดถึงความไม่เป็นระบบระเบียบของการบริหารจัดการคิวแท็กซี่บริเวณจุดจอดรับผู้โดยสาร แถมยังระบุว่านอกจากสนามบินแห่งชาติของไทยจะได้ชื่อว่าเป็นสนามบินที่แพงที่สุดแล้ว ยังเป็นสนามบินที่น่ารังเกียจที่สุด จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางถึงประเด็นดังกล่าวต่อเนื่องมาอีกหลายวัน

หลังเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจง รวมถึงกลุ่มเครือข่ายแท็กซี่ที่ให้บริการในสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งเป็นต้นเหตุก็ออกมาระบุว่า ไม่ได้มีการปฏิเสธการให้บริการ แต่ไม่สามารถรับภาระเรื่องกระเป๋าของผู้โดยสารที่มากเกินไปจนอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนของตัวเอง หรือแม้กระทั่งกรมการขนส่งทางบกได้เตรียมออกประกาศเพิ่มโทษสำหรับแท็กซี่ที่ปฏิเสธการให้บริการผู้โดยสารหรือไม่กดมิเตอร์ด้วย โดยแจ้งว่าอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อเพิ่มโทษสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มระยะเวลาแบล็กลิสต์ในการเพิกถอนใบอนุญาตจากเดิม 1 เดือน เป็น 1 ปี ในกรณีทำผิดซ้ำซาก ส่วนที่ดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องแก้กฎหมาย คือการนำผู้ฝ่าฝืนเข้ารับการอบรมปรับทัศนคติเป็นเวลา 3 ชั่วโมง ที่ได้เริ่มดำเนินแล้ว

แต่ดูเหมือนว่าการเคลื่อนไหวทั้งหมดจะเงียบหายไป…จนถึงปัจจุบัน

โพลคนยี้แท็กซี่ ปัญหาเยอะ เรื้อรัง แก้ลำบาก ทั้งที่เพิ่งปรับราคา

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่ออนุมัติปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่ หลังที่ไม่ได้ปรับราคามาตั้งแต่ปี 2550 สร้างความพึงพอใจให้กับผู้ขับแท็กซี่ แต่กลับไม่มีการกล่าวถึงการเตรียมปรับปรุงคุณภาพของแท็กซี่ไทยเลย ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขเรื่องความปลอดภัย การปฏิเสธผู้โดยสาร หรือแม้กระทั่งคุณภาพของรถยนต์ที่ส่วนใหญ่ถูกร้องเรียนว่าเก่า จนผู้โดยสารแทบไม่กล้าเข้าไปนั่งกันเลยทีเดียว

หากจะกล่าวถึงปัญหาของแท็กซี่ ก่อนหน้านี้ศูนย์สำรวจความคิดเห็น ‘นิด้าโพล’ ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง ‘ความในใจของผู้ใช้บริการรถแท็กซี่: แนวทางสู่การปฏิรูประบบขนส่งสาธารณะ’ ผลสำรวจพบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ที่เคยใช้บริการรถแท็กซี่มิเตอร์ส่วนใหญ่ ร้อยละ 34.12 ระบุว่า เป็นการปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร เลือกผู้โดยสาร โดยชอบอ้างว่าไปส่งรถ/แก๊สหมด/อยู่นอกเส้นทาง เลือกรับเฉพาะผู้โดยสารชาวต่างชาติ เป็นต้น รองลงมา ร้อยละ12.72 ระบุว่า เป็นการขับรถไม่ถูกกฎจราจร ขับรถหวาดเสียว ขับปาดหน้า ขับผ่าไฟแดง จอดซ้อนคัน ร้อยละ 11.98 ระบุว่า คนขับพูดจาหรือมีพฤติกรรมไม่สุภาพกับผู้โดยสารหรือผู้ใช้รถใช้ถนนอื่นๆ ร้อยละ 10.09 ระบุว่า คนขับขาดความซื่อสัตย์สุจริต เช่น ทอนเงินไม่ครบ เรียกเก็บค่าโดยสารเกินกว่าอัตราที่ทางราชการกำหนด พาผู้โดยสารไปเส้นทางที่อ้อม ออกนอกเส้นทาง

ร้อยละ 6.32 ระบุว่า สภาพรถเก่า ไม่สะอาด ประตูชำรุด แอร์ไม่เย็น เข็มขัดนิรภัยชำรุด ร้อยละ 4.91 ระบุว่า คนขับชอบพูดเรื่องการเมือง ร้อยละ 4.75 ระบุว่า ไม่เคยพบเจอปัญหาใดๆ ในการให้บริการ ร้อยละ 4.08 ระบุว่า ไม่จอดรับ–ส่ง ผู้โดยสารตามป้าย จอดรถเลยป้าย จอดรถรับ–ส่งผู้โดยสารในเลนกลาง ร้อยละ 2.04 ระบุว่าคนขับรถใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ ร้อยละ 2.00 ระบุว่าคนขับชอบถามเรื่องส่วนตัวผู้โดยสาร และร้อยละ 6.99 ระบุว่าอื่นๆ เช่น คนขับดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ขณะขับรถ มีพฤติกรรมส่อเจตนาไปทางการก่ออาชญากรรมหรือการล่วงละเมิดทางเพศ ไล่ผู้โดยสารลงกลางทาง สภาพคนขับไม่พร้อม บัตรประจำตัวคนขับไม่ตรงกัน ไม่ชำนาญเส้นทาง พูดเรื่องส่วนตัว เปิดวิทยุเสียงดัง

ขณะประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 78.44 ระบุว่ายินดีจ่ายค่าโดยสารสูงขึ้น หากแท็กซี่มีบริการที่มีมาตรฐาน ปลอดภัยขึ้น   และสิ่งที่ต้องการให้พัฒนาการบริการของคนขับรถแท็กซี่แทบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น การไม่ปฏิเสธรับผู้โดยสาร/ไม่เลือกผู้โดยสาร ไม่เห็นแก่ได้ ความมีระเบียบวินัยในการขับรถ เคารพและปฏิบัติตามกฎจราจร การพูดจาและพฤติกรรมที่สุภาพกับทั้งผู้โดยสารและผู้ใช้รถใช้ถนนอื่นๆ การแต่งกายของคนขับที่ดูดี สะอาดสะอ้าน มีความพร้อมในการให้บริการ ความซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่ ไม่เอาเปรียบผู้โดยสาร การเอาใจใส่ในสภาพความพร้อมของรถที่ให้บริการ รวมถึงการมีจิตสาธารณะในการให้บริการ และความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านเส้นทาง ทั้งนี้รัฐควรบังคับใช้กฎหมายการกระทำผิดอย่างจริงจังและเข้มงวดเพื่อลดปัญหาการให้บริการของแท็กซี่ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

คนขับวอนผู้โดยสารเข้าใจแท็กซี่ไม่ได้เลวทุกคน

และจากประเด็นต่างๆ เหล่านี้ TCIJ  ได้สำรวจความคิดเห็นของกลุ่มแท็กซี่ต่อปัญหาดังกล่าว ทั้งกรณีการปรับค่าโดยสารใหม่กับแท็กซี่ การให้บริการที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือธุรกิจการแข่งขันการให้บริการแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน  โดยได้รับคำตอบจากผู้ขับแท็กซี่เขียวเหลืองรายหนึ่ง ระบุว่า

“จริงๆ แล้วราคาที่รัฐปรับขึ้นมาจะว่าไปก็ไม่คุ้มกับแท็กซี่หรอกนะ เพราะว่าเราไม่ได้ปรับราคามานานแล้ว แล้วตอนนี้แท็กซี่ก็มีเยอะมาก รายได้เราไม่ได้มากเท่าไหร่ ถ้าก๊าซเอ็นจีวีขึ้นอีกก็คงลำบากเพราะเหมือนกับว่าราคาที่ปรับขึ้นมาไม่ได้ช่วยอะไรเราเลย” ผู้ขับแท็กซี่รายหนึ่งกล่าว

เมื่อถามถึงมาตรฐานและการให้บริการของกลุ่มแท็กซี่ที่มักถูกร้องเรียนจากผู้โดยสาร ผู้ขับแท็กซี่รายเดิมกล่าวยอมรับว่ามีแท็กซี่จำนวนหนึ่งที่ทำให้เกิดความเสียหายกระทบต่อคนขับแท็กซี่อื่นๆ เพราะปัจจุบันมีคนขับแท็กซี่จำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่มาจากต่างจังหวัด เพราะไม่มีทุนรอนไปทำอะไร การขับแท็กซี่จึงเป็นทางเลือกที่พอจะเป็นไปได้ในการทำงานหาเงินและรักในการบริการ แต่อาจจะไม่มีคนพูดถึงมากนัก แต่มักจะพูดถึงกลุ่มแท็กซี่ที่นิสัยไม่ดี โดยกลุ่มนี้มักจะ หากินกับชาวต่างชาติและหลอกคนไทยด้วยกันเองที่เดินทางมาจากต่างหวัด ทำให้แท็กซี่อื่นๆ เสียหายไปด้วย

เผยแท็กซี่เองก็ต้องระวังโจรในคราบผู้โดยสาร

“ส่วนเรื่องปฏิเสธผู้โดยสารนั้น ผมว่าคงต้องพิจารณาดูก่อนด่า เช่น ถ้าปฏิเสธไม่ยอมไปในที่ใกล้ๆ ทั้งที่ไปได้ อันนี้สมควรที่จะถูกตำหนิหรือลงโทษ แต่ถ้าเป็นถนนที่รถติดมากๆ ในช่วงเร่งด่วนอย่างนี้ แท็กซี่ก็ลำบากเหมือนกัน หรือเรียกไปที่ไกลๆ ถึงจะเหมาไปก็น่ากลัว แท็กซี่เองก็กลัวผู้โดยสารด้วยเพราะมีข่าวแท็กซี่ถูกชิงทรัพย์ก็เยอะ มีอยู่ครั้งหนึ่งผมถูกเหมาให้ไปส่งที่ โรงเรียนนายร้อย จปร. แถวนครนายก ก็เห็นแล้วว่าหน้าตาไม่น่ากลัว และไปสถานที่ราชการน่าจะปลอดภัยก็ไป แต่ไปถึงแค่ทางเข้าเปลี่ยวๆ ก็โดนจี้เลย ผมต้องขอร้องและให้เงินทั้งหมดที่ได้มากับโทรศัพท์ไป วันนั้นกลับบ้านเลยและไม่มีรายได้อะไรเลย” แท็กซี่คนเดิมกล่าว

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ที่เคยใช้บริการรถแท็กซี่มิเตอร์ส่วนใหญ่

ร้อยละ 34.12 ระบุว่า เป็นการปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร เลือกผู้โดยสาร โดยชอบอ้างว่า

ไปส่งรถ/แก๊สหมด/อยู่นอกเส้นทาง เลือกรับเฉพาะผู้โดยสารชาวต่างชาติ

ขณะที่ประเด็นของการเปิดบริการแท็กซี่ผ่านสมาร์ทโฟนนั้น ผู้ขับแท็กซี่รายนี้เห็นว่าไม่น่าจะกระทบมากนัก เพราะคนใช้บริการแท็กซี่มีหลายกลุ่ม กลุ่มที่ใช้บริการแบบเรียกดั้งเดิมก็ยังมีอยู่ พร้อมกับชี้แนวทางแก้ไขปัญหาว่า หากเป็นไปได้อยากให้รัฐบาลหาทางลดจำนวนแท็กซี่ลงบ้าง เพราะตอนนี้มีจำนวนรถมากเกินไป อาจจะเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาได้ และอยากให้ทางกรุงเทพมหานครจัดสถานที่จอดรถแท็กซี่ให้เป็นที่เป็นทางด้วย เพื่อจะได้สามารถควบคุมดูแลได้ และแท็กซี่เองจะได้ไม่ต้องวิ่งหาลูกค้าซึ่งทำให้เปลืองพลังงาน

เรื่องยังไม่เงียบแต่เครือข่ายแท็กซี่ขอขึ้นราคาอีก อ้างเอ็นจีวีแพง

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนสิ่งที่ถูกวิจารณ์จะไม่ได้รับความสนใจจากเหล่าแท็กซี่ เพราะล่าสุด นายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพมหานคร ได้ออกมาเปิดเผยผ่านสื่อว่า เตรียมหารือกับเพื่อนเครือข่ายแท็กซี่ด้วยกัน หลังกระทรวงพลังงานยืนยันจะขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี โดยชี้ว่าการขึ้นราคาเอ็นจีวีของกระทรวงพลังงานจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของกลุ่มแท็กซี่ แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการปรับจูนอัตราค่าแท็กซี่ไปแล้ว แต่เห็นว่ากำหนดกรอบระยะเวลา 6 เดือนนับตั้งแต่การปรับจูนครั้งแรกไปแล้วนั้น ใช้เวลามากไปและการปรับขึ้นอีกร้อยละ 5 ไม่น่าจะเพียงพอในแบกรับภาระต่างๆ เช่น ค่าครองชีพ ราคาค่าเชื้อเพลิง

นั่นหมายความว่าหากมีการขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีตามนโยบายของรัฐบาล กลุ่มเครือข่ายแท็กซี่อาจจะจำเป็นต้องออกมาเรียกร้องเพื่อขอขึ้นราคาค่าโดยสารอีกครั้ง พร้อมกับกลุ่มรถร่วมบริการที่ได้เดินหน้าขึ้นค่าบริการไปก่อนหน้านั้นแล้ว

ความพยายามเรียกร้องขอขึ้นราคาแท็กซี่อีกครั้งหนึ่งของเครือข่ายแท็กซี่ครั้งนี้ จึงดูเหมือนจะเป็นการจุดกระแสปัญหาค่าโดยสารแท็กซี่ที่ไม่เหมาะสมกับการให้บริการขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

นครชัยแอร์ดึงจุดอ่อนแท็กซี่เปิดตัวบริการใหม่แท็กซี่ไฮบริดป้ายแดง

แต่สิ่งที่อาจจะทำให้กลุ่มแท็กซี่ต้องกลับมาทบทวนใหม่อีกครั้งคือ บริษัท นครชัยแอร์ จำกัด ได้นำจุดอ่อนของแท็กซี่ไทยมาใช้ดำเนินธุรกิจ การเปิดแถลงข่าวธุรกิจใหม่ที่ลงทุนทุ่มงบประมาณ 700 ล้านบาท เปิดตัวให้บริการแท็กซี่รูปแบบใหม่ ‘ออล ไทย แท็กซี่’ ด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และรถยนต์ไฮบริดป้ายแดงมาให้บริการ โดยมีแผนเปิดให้บริการ 500 คัน

เบื้องต้นเริ่มเปิดให้โหลดแอพพลิเคชั่นกับทดลองวิ่งได้ ตั้งแต่เดือนเมษายนนี้ ก่อนเปิดให้บริการเป็นทางการวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 เป็นต้นไป คิดค่าเรียกบริการ 20 บาท และค่าโดยสารตามมิเตอร์ที่กระทรวงคมนาคมกำหนด พร้อมระบุว่า ผู้โดยสารสามารถเรียกแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชั่นสมาร์ทโฟนหรือเรียกผ่านสายด่วน 1624 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนกรณีหากเห็นวิ่งตามท้องถนนและไม่ขึ้นเครื่องหมายจองก็สามารถโบกเรียกได้ โดยแท็กซี่ของบริษัทจะไม่มีการปฏิเสธผู้โดยสารแน่นอน

“เราตั้งใจพัฒนาให้เป็นแท็กซี่ต้นแบบที่สร้างมาตรฐานใหม่ให้บริการแท็กซี่ไทย โดยเพิ่มความสะดวก ความปลอดภัย และความทันสมัยให้ประชาชน เช่น รถไฮบริดประหยัดพลังงาน ลดมลพิษ แอพพลิเคชั่นสำหรับเรียกใช้ ตรวจสอบเส้นทาง และร้องเรียนปัญหา มีระบบจีพีเอสติด และกล่องดำบันทึกข้อมูลคนขับ ป้ายติดตามความเร็ว จอภาพเพื่อความบันเทิง รวมถึงบริการจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตและเอทีเอ็ม ทั้งนี้ คนขับแท็กซี่จะเป็นพนักงานของนครชัยแอร์ทุกคนที่ผ่านการอบรม มีเงินเดือน ค่าคอมมิชชั่น และโบนัสต่างๆ มากกว่า 1,000 คน รวมถึงมีบริการเลดี้ แท็กซี่ คนขับที่เป็นผู้หญิง เพื่อให้บริการแก่สุภาพสตรีด้วย” อนันต์ วงศ์เบญจรัตน์ ประธานกรรมการ บริษัท นครชัยแอร์ จำกัด

taxi-tcij2
นครชัยแอร์(ที่มารูปภาพ: http://tcijthai.com/)

นับเป็นการเปิดตัวการให้บริการแท็กซี่ในวาระและโอกาสที่เหมาะสม ในช่วงที่สถานการณ์แท็กซี่ไทยยังไม่หายร้อนระอุจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในขณะนี้พอดี หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้เกิดธุรกิจแอพพลิเคชั่นผ่านสมาร์ทโฟนขึ้นในประเทศไทยมาแล้วหลายรายโดย เน้นบริการรวดเร็วทันใจ ปลอดภัย ไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร ทั้ง Grab Taxi, Easy Taxi หรือUber  ที่ดูเหมือนจะเป็นทางเลือกใหม่สำหรับสังคมเมืองในขณะนี้

นักวิชาการเชื่อเป็นมิติใหม่ แต่อาจยังแก้ปัญหาไม่ได้ผลเพราะยังมีน้อย

ด้าน ดร.สุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ ให้สัมภาษณ์ TCIJ แสดงความคิดเห็นต่อการเกิดทางเลือกใหม่ในรูปแบบของ ‘ออล ไทย แท็กซี่’ ว่าหากจะถามว่าเป็นทางเลือกที่ดีหรือไม่ ก็เห็นว่าเป็นทางเลือกที่ดีของผู้โดยสารและถือเป็นมิติใหม่ของวงการแท็กซี่ไทยที่จะทำให้ผู้โดยสารมีทางเลือกในการใช้แท็กซี่มากขึ้น แต่เงื่อนไขอยู่ที่ระบบของการบริหารจัดการเรื่องคุณภาพของการบริการของออล ไทย แท็กซี่ มากกว่าว่าจะสามารถทำให้เกิดความมั่นใจในผู้ขับแท็กซี่ได้อย่างไร เพราะถึงแม้ว่าคนขับของบริษัทนี้จะเป็นคนขับรถที่ได้รับเงินเดือน สวัสดิการต่างๆ แต่หากไม่มีการสกรีนคนขับก็ย่อมเป็นไปได้ว่าอาจจะมีคนขับที่ไม่ดีอยู่ได้เช่นกัน ดังนั้น จึงต้องมีมาตรการที่จะทำให้ไม่เกิดปัญหาที่ไม่ดีที่เกิดจากคนขับรถ

สำหรับคำถามที่ว่าจะสามารถมาช่วยแก้ปัญหาแท็กซี่ไทยปัจจุบันได้หรือไม่ ดร.สุเมธ เห็นว่า ไม่น่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยได้มากนัก เพราะหากเทียบจำนวนแท็กซี่ของออล ไทย แท็กซี่ กับแท็กซี่ในประเทศไทยที่มีอยู่กว่า 70,000 คันนั้น ยังคงถือว่าสัดส่วนน้อยมาก และแม้ว่ากลุ่มบริษัทอื่นๆ เช่น Grap Taxi, Easy Taxi หรือ อูเบอร์ ก็ตาม เหล่านี้ก็ทำในลักษณะของเครือข่ายแท็กซี่ที่เป็นตัวกลางในการนำเสนอผู้โดยสารมากกว่าจะรับผิดชอบผู้โดยสาร ดังนั้น การเกิดแท็กซี่ในรูปแบบบริษัทแบบออล ไทย แท็กซี่ก็อาจจะไม่ทำให้สามารถแก้ปัญหาเรื้อรังนี้ได้ นอกเสียจากว่าจะมีการดำเนินธุรกิจในรูปแบบนี้มากขึ้นหลายบริษัท จนส่งผลให้เกิดผลกระทบกับแท็กซี่ปกติก็อาจทำให้เกิดการแข่งขันที่มากขึ้นนั่นเอง

taxi-tcij3
Grap Taxi, Easy Taxi หรือ อูเบอร์(ที่มารูปภาพ: http://tcijthai.com/)

เมื่อถามว่าหากมีการกำหนดให้จำกัดจำนวนแท็กซี่จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ ดร.สุเมธ เห็นว่า ถ้าจะจำกัดก็อาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นเช่นกัน เนื่องด้วยสภาพของการจราจรในประเทศไทยยังไม่สมบูรณ์ หากจำกัดจำนวนแท็กซี่ก็อาจทำให้เกิดมีแท็กซี่ไม่พอ ปัญหาการโก่งราคาก็จะเกิดขึ้นตามมาอีก ดังนั้น จึงจำเป็นคิดอย่างละเอียดในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม การเกิดแท็กซี่ในรูปแบบของบริษัท ถึงแม้ขณะนี้จะไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้มากนัก แต่หากธุรกิจนี้เป็นไปได้ด้วยดีและคุ้มทุน ก็อาจจะทำให้เกิดการให้บริการประเภทเดียวกันเกิดมากขึ้นก็น่าจะส่งผลกระทบให้กลุ่มแท็กซี่ ที่มีปัญหาเริ่มรู้ตัวแล้วว่า ผู้โดยสารมีทางเลือก และหากเขายังคงเรียกร้องประโยชน์ของตัวเองโดยไม่พัฒนาคุณภาพการให้บริการก็จะได้รับผลกระทบแน่นอน

“ผมว่าแม้ว่าตอนนี้รูปแบบแท็กซี่แบบ ออล ไทย แท็กซี่อาจะยังไม่สร้างผลกระทบกับกลุ่มแท็กซี่ที่มีพฤติกรรมไม่ดีได้ในตอนนี้ แต่หากโมเดลนี้ประสบความสำเร็จและมีการขยายธุรกิจมากขึ้น จนส่งผลกระทบกับแท็กซี่ดั้งเดิมแล้ว ก็น่าจะทำให้เกิดการพัฒนาได้มากขึ้น การจะมาเรียกร้องโน่นนี่ โดยไม่มองการให้บริการของตัวเองก็คงจะไม่ทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจ และในที่สุดพวกเขาก็คงจะต้องพัฒนาตัวเอง แม้จะต้องรออีกนานก็ตาม” ดร.สุเมธ กล่าว

หลังจากนี้คงต้องติดตามต่อไปว่าสถานการณ์แท็กซี่ไทยจะดำเนินไปในทิศทางใด เมื่อกลุ่มเครือข่ายแท็กซี่กำลังเตรียมจะเคลื่อนไหวขอขึ้นราคาอีกครั้งโดยอ้างการปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี ในขณะที่ธุรกิจการให้บริการแท็กซี่ก็ได้นำจุดอ่อนนี้มาเป็นจุดขายทางธุรกิจของตัวเอง แต่ที่สำคัญที่สุดคือผู้โดยสารจะได้ประโยชน์อะไรจากการแข่งขันและเกมการต่อสู้เรื่องราคาและบริการของแท็กซี่ในรอบนี้

—————————–

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ออนไลน์ TCIJ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 ใน “แท็กซี่ไร้คุณภาพ หวังการแข่งขัน-เพิ่มทางเลือกผู้โดยสาร ตัวเร่งแท็กซี่ปรับตัว”