ภาวะโลกร้อนกับผลกระทบต่อภาคเกษตรไทย

ปี2015-02-26

นิพนธ์ พัวพงศกร
กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงศ์
ชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เกิดจากภาวะโลกร้อนในขณะนี้ เริ่มส่งผล กระทบรุนแรงต่อผลผลิตอาหารทั่วโลก สำหรับประเทศไทย นักวิทยาศาสตร์ด้านการเกษตรพบว่าความแปรปรวนของ ภูมิอากาศจะมีผลกระทบรุนแรงต่อพืชผลการเกษตรที่สำคัญหลายชนิด โดยเฉพาะ ข้าว ข้าวโพด อ้อย การเลี้ยงสัตว์ และประมง

คำถามสำคัญคือภาวะโลกร้อนจะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อภาคเกษตรอย่างไร เกษตรกรไทยจะต้องปรับตัวรับมือกับความเสี่ยงที่จะเกิดจากความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศอย่างไร ยิ่งกว่านั้นภาวะโลกร้อนยังจะทำให้เกิดปัญหาฝนแล้งและน้ำท่วมที่รุนแรงและบ่อยขึ้น เกษตรกรและภาครัฐจะร่วมมือกันบริหารจัดการน้ำอย่างไร จึงจะสามารถลดความเสียหายจากภัยธรรมชาติและมีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ยั่งยืน และเป็นธรรม

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมีผล กระทบต่อผลผลิตการเกษตรหลายช่องทาง(ดูรูปประกอบ)เช่น ภาวะน้ำท่วม ภาวะฝนแล้ง อุณหภูมิที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอุณหภูมิตอนกลางคืนในช่วงที่ข้าวกำลังออกดอก จะกระทบกระบวนการสังเคราะห์แสงของข้าว ทำให้ผลผลิตข้าวลดลง

สำหรับภาวะฝนแล้งในประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนินโญ่ (ฝนแล้ง) ซึ่งเกิดขึ้นสลับกับ ลานินญ่า (ฝนชุก) นักวิทยาศาสตร์ได้สร้างดัชนีวัดปรากฏการณ์ทั้งสองที่เรียกว่า ดัชนี ENSO ทีดีอาร์ไอได้นำสถิติดังกล่าวมาหาสหสัมพันธ์กับค่าความผิดปกติของผลผลิตเกษตร (Yield Anomaly) แล้วพบว่า เมื่อไรที่มีภาวะฝนแล้ง ผลผลิตเกษตรที่สำคัญของไทยและเอเชียโดยเฉพาะข้าวโพดจะลดลงมากที่สุด รองลงมาคือ อ้อยและข้าว

ภาวะโลกร้อนต่อภาคเกษตรกรรม
ผลกระทบของภาวะโลกร้อนต่อภาคเกษตรกรรม(ที่มารูปภาพ: bangkokbiznews.com/)

ทีดีอาร์ไอยังใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ศึกษาพฤติกรรมการตอบสนองของเกษตรกร เมื่อเกิดภาวะน้ำแล้งรุนแรง(Extreme Drought) และภาวะน้ำท่วมรุนแรง(Extreme Flood) บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา พบว่าหากอุณหภูมิสูงขึ้นและมีจำนวนวันที่ฝนตกน้อยลง พื้นที่การผลิตและผลผลิตต่อไร่จะลดลงอย่างชัดเจน ในทางกลับกันหากปริมาณน้ำชลประทานเพื่อการเกษตร ณ ต้นฤดูแล้งมีมาก พื้นที่ปลูกข้าวและอ้อยรวมถึงผลผลิตต่อไร่ในฤดูแล้งจะเพิ่มมากขึ้นด้วย น้ำชลประทานนี้มาจากปริมาณน้ำต้นทุนเหนือเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งจะมีมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับปริมาณฝนในฤดูฝน

อันที่จริงเกษตรกรไทยคุ้นเคยกับการปรับตัวเพื่อรับมือกับน้ำท่วมตั้งแต่อดีตแล้วเห็นได้จากวิถีชีวิต เช่น การปลูกข้าวฟางลอยในพื้นที่ลุ่มต่ำแถบอยุธยา การปรับปฏิทินการปลูกข้าวเพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนถึงเวลาน้ำท่วม รวมถึงการปลูกบ้านเรือนที่มีใต้ถุนสูงและเตรียมเรือติดบ้านไว้แต่นักวิทยาศาสตร์พบว่าภาวะโลกร้อนจะทำให้ภูมิอากาศแปรปรวนบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้นกว่าในปัจจุบัน ทำให้เกษตรกรมีความจำเป็นต้องปรับตัวมากกว่าในอดีต มิฉะนั้นผลผลิตการเกษตรจะเสียหายมากขึ้นจนกระทบการส่งออก และรายได้ของเกษตรกร

ทีดีอาร์ไอได้สำรวจการปรับตัวของเกษตรกรทั้งสิ้น 815 ครัวเรือน ใน 6 จังหวัดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ อยุธยา พิษณุโลก สุพรรณบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ และลพบุรี เมื่อปลายปี 2556 พบว่าเกษตรกรที่ตัดสินใจปรับระบบการผลิตของตนจะมีผลผลิตต่อไร่สูงกว่าเกษตรกรที่ไม่ปรับตัว เช่น ผลผลิตข้าวต่อไร่ของเกษตรกรที่มีการปรับตัวอยู่ที่ประมาณ 696 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่เกษตรกรที่ไม่ปรับตัวมีผลผลิตเพียง 576 กิโลกรัมต่อไร่ ความแตกต่าง 120 กิโลกรัมต่อไร่นี้เป็นเครื่องยืนยันได้ว่าการปรับตัวตามสภาพอากาศจะช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้ ในทางกลับกันหากเกษตรกรที่ไม่ปรับตัวจะมีความเสียหายต่อผลผลิต

แน่นอนว่าในอนาคตภาวะความผันผวนของอากาศเป็นเรื่องที่”ไม่แน่นอน”ทำให้เกษตรกรบางคนไม่ปรับตัวเราจึงอยากรู้ว่าทำไมเกษตรกรบางคนตัดสินใจ”ปรับตัว”และบางคน”ไม่ปรับตัว”ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ผลจากการสำรวจบอกเราว่า เกษตรกรจำนวนหนึ่งที่เลือกปรับตัวคือเกษตรกรที่มีความรู้และข้อมูลมาก มีการศึกษาสูง เข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่และมีเงินทุนเพียงพอ ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยเรามีเกษตรกรที่มีศักยภาพอยู่จำนวนไม่น้อย อย่างไรก็ตาม เรายังมีเกษตรกรบางกลุ่มที่มีข้อจำกัดในการปรับตัว จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องอำนวยความสะดวกโดยการส่งต่อความรู้ เผยแพร่ความรู้เรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ อีกทั้งเผยแพร่ข้อมูลด้านการพยากรณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่แม่นยำ สนับสนุนด้านสินเชื่อ และการตลาดแก่เกษตรกรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

ความรู้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการปรับตัวของเกษตรกรไทยจะต้องมาจากการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ และรวดเร็วทันการใช้งาน แต่ปัจจุบันการวิจัยด้านเกษตรของไทยตกต่ำทั้งปริมาณและคุณภาพ นอกจากงบวิจัยด้านเกษตรที่ลดลงจนไม่ถึง 0.25% ของผลผลิตการเกษตรแล้ว เรายังขาดนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถ หน่วยงานวิจัยของรัฐก็อ่อนแอลง เพราะผลจากการแทรกแซงทางการเมือง ระบบการอุดหนุนการวิจัยก็อ่อนแอ ฯลฯ นอกจากนั้นระบบการส่งเสริมการเกษตรของภาครัฐก็ไม่ค่อยได้ผล แต่โชคดีที่ในปัจจุบันมีกลุ่มบุคคลหลายกลุ่มที่ทำงานส่งเสริมด้านการเกษตรกับเกษตรกรอย่างจริงจัง และได้ผลดี เช่น การส่งเสริมเรื่องการศึกษาคุณภาพดินกับการใช้ปุ๋ยสั่งตัดของมูลนิธิพลังนิเวศ ฯลฯ

กลุ่มคนเหล่านี้มีทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย องค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มปราชญ์ชาวบ้าน โครงการในพระราชดำริ มูลนิธิต่างๆ รวมทั้งบริษัทเอกชนใหญ่ๆ หลายแห่ง วิธีการส่งเสริมของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ก็น่าสนใจ เพราะมีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการส่งเสริมเพื่อให้ได้ผลจริงจัง แต่น่าเสียดายว่าภาครัฐยังให้การสนับสนุนและจัดสรรงบประมาณให้กลุ่มคนเหล่านี้น้อยมากเมื่อเทียบกับทรัพยากรที่กรมกองต่างๆ ใช้ดำเนินการส่งเสริมเอง

วาระการปฏิรูปการเกษตรที่สำคัญจึงอยู่ที่การปฏิรูประบบวิจัยและปรับเปลี่ยนระบบการส่งเสริมโดยให้กลุ่มบุคคลที่กล่าวถึงข้างต้นมีบทบาทหลักในการส่งเสริมแทนภาคราชการ ไม่ใช่ทำเรื่องโซนนิ่งที่กระทรวงเกษตรกำลังของบประมาณสนับสนุน

ทั้งหมดนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรไทย สร้างความเข้มแข็งและความยืดหยุ่นในการปรับตัว เกษตรกรอยู่ดีกินดี และมีความสุขอย่างยั่งยืน

——————-

หมายเหตุ: ขอบคุณ คุณอติญา อารยพงศ์  สำหรับการร่างบทความ “ภาวะโลกร้อน กับผลกระทบต่อภาคเกษตรไทย”

ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558 ใน “ภาวะโลกร้อนกับผลกระทบต่อภาคเกษตรไทย”