tdri logo
tdri logo
9 กุมภาพันธ์ 2015
Read in Minutes

Views

การจัดระเบียบขอทาน

 

สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา หลายคนคงได้ข่าวการจัดระเบียบขอทานของทางราชการโดยพลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และองค์กรเอกชน ลงพื้นที่จัดระเบียบคนขอทานทั่วประเทศ และดำเนินการต่อเนื่องถึงวันที่ 30 มกราคม ผ่านหลักการดำเนินงาน 3 P คือ 1.การบังคับใช้กฎหมาย (Prosecution) โดยการจัดทำทะเบียนข้อมูล พัฒนาฐานข้อมูล ขยายผลดำเนินคดีกับขบวนการค้ามนุษย์ 2.การคุ้มครองช่วยเหลือ (Protection) เช่น คัดแยกเหยื่อจากการค้ามนุษย์ คุ้มครองสวัสดิภาพ ฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพในสถานสงเคราะห์

และสุดท้าย การป้องกัน (Prevention) โดยการศึกษาวิจัยพัฒนาระบบการคุ้มครองทางสังคม พร้อมรณรงค์ให้ความรู้ด้านกฎหมาย และส่งเสริมเครือข่าย พม. เป็นแกนนำเฝ้าระวังการค้ามนุษย์เพื่อแก้ปัญหาขอทานล้นเมือง

คงไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนไทยที่ว่าเมืองไทยมีขอทานอยู่มากมาย ทุกหนทุกแห่ง ในรูปแบบต่างๆ เช่น นั่งขอทานมีกระป๋องใส่เศษสตางค์ คนพิการ คนไม่พิการ แต่มีเด็กประกอบ เล่นดนตรี ร้องเพลง การแสดงเปิดหมวก ฯลฯ มีทั้งคนไทยและคนต่างชาติ จะมีจำนวนเท่าใด ไม่มีใครจดนับอย่างจริงจัง แต่ในร่าง พ.ร.บ.ควบคุมขอทาน ฉบับล่าสุดบอกว่ามีขอทานทั้งประเทศจำนวน 5,000 คน ในขณะที่ พม.บอกว่าที่ได้จัดระเบียบคนขอทานในกรุงเทพมหานครไปแล้ว 2 ครั้ง คือ วันที่ 14-20 ตุลาคม และวันที่ 19-25 พฤศจิกายน 2557 พบผู้กระทำผิด พ.ร.บ. ควบคุมการขอทานทั้งสิ้น 431 คน เป็นคนไทย 190 คน และขอทานจากประเทศเพื่อนบ้าน 241 คน ขอทานในเมืองไทยมีรายได้ค่อนข้างดีเฉลี่ยวันละไม่ต่ำกว่า 500 บาท และ สูงสุดเฉลี่ยวันละ 1,800 บาท ขอทานไทยคนหนึ่งมีเงินถวายวัดเป็นล้าน

ประเทศไทยมีกฎหมายห้ามการขอทาน 75 ปีมาแล้ว คือ พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พุทธศักราช 2484 ซึ่งเห็นได้ว่าไม่ได้มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง หรือบังคับใช้ไม่ได้ ในปี 2551 รัฐบาลมีความพยายามร่างกฎหมายขอทานใหม่ แต่ก็ถูกคัดค้าน เพราะร่าง พ.ร.บ ดังกล่าวมีสาระสำคัญคือ ให้ผู้ที่จะเป็นขอทานแจ้งต่อเจ้าพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อออกใบอนุญาตขอทานให้ และผู้ที่เป็นขอทานต้องเป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ และไม่สามารถหาเลี้ยงชีพได้ตามปกติ หรือเป็นผู้สูงอายุและไม่มีผู้อุปการะเลี้ยงดู หรือเป็นผู้ไม่สามารถหาเลี้ยงชีพโดยวิธีอื่นได้ หรือเป็นผู้ไม่สามารถหาเลี้ยงชีพด้วยวิธีอื่นใดเพราะเหตุแห่งสภาพทางกายและจิต หรือเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัย และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ

กล่าวคือร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเท่ากับการยอมรับว่าการขอทานเป็นอาชีพอย่างหนึ่งที่ต้องขอใบอนุญาต โดยให้เจ้าพนักงานองค์กรส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ออกใบอนุญาต รวมทั้งการนำเอาความพิการมาเป็นสาเหตุแห่งการขอทาน ซึ่งคนพิการรับไม่ได้

ร่างพระราชบัญญัติควบคุมการขอทานฉบับดังกล่าวถูกมองว่าไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน เพราะไม่ได้ให้ ความสำคัญกับการจัดสวัสดิการสังคม และการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ประกอบอาชีพขอทาน และไม่ได้คัดแยกประเภทขอทาน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการแก้ปัญหา

ทั้งนี้ มูลนิธิกระจกเงาเคยเสนอแนวทางแก้ไข 8 ข้อ คือ 1.ต้องลดขนาดของปัญหา 2.ควบคุมกลุ่มขอทานเดิมได้ 3.ตัดวงจรการค้ามนุษย์ 4.การคุ้มครองเด็กในครอบครัวขอทาน 5.โทษสำหรับขบวนการที่นำคนมาขอทาน 6.การจัดระบบสงเคราะห์ 7.แยกวณิพกออกจากการขอทาน และ 8.มีการจัดตั้งคณะกรรมการจัดการปัญหาขอทาน ตาม พ.ร.บ.ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อมามีการแก้ไขและ ครม.ได้อนุมัติหลักการเมื่อเดือนธันวาคม 2552 แต่ก็เงียบหายไป

มาบัดนี้ ในสมัย คสช. มีการร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน ฉบับใหม่โดยคณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้พิจารณาศึกษาจัดทำร่างพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. ……. เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อพิจารณาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 14

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว คือ ห้ามมิให้บุคคลใดทำการขอทาน และกำหนดให้การกระทำดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นการขอทาน

-การขอทรัพย์สินของผู้อื่นด้วยวาจา ข้อความ หรือแสดงกิริยาอาการใดๆ หรือด้วยวิธีการใด ทั้งนี้ โดยมิได้มีการตอบแทนด้วยการทำงานอย่างใด หรือด้วยทรัพย์สินใด แต่ไม่รวมถึงการขอกันฐานญาติมิตร หรือการเรี่ยไรตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการเรี่ยไร

-การกระทำใดเพื่อให้ผู้อื่นเกิดความสงสารและมอบทรัพย์สินให้ โดยมิได้มีการตอบแทนด้วยการทำงานอย่างใดหรือด้วยทรัพย์สินใด

-กำหนดให้การเล่นดนตรีหรือการแสดงความสามารถอื่นใดในที่สาธารณะโดยขอรับทรัพย์สินตามแต่ผู้ชมหรือ ผู้ฟังจะสมัครใจให้ มิให้ถือว่าเป็นการขอทาน แต่ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนด (มีการแยกขอทานออกจากวณิพกหรือนักแสดงสาธารณะชัดเจน)

ขอทานเป็นอาชีพที่เก่าแก่ที่สุดในโลก แม้นิทานชาดกก็มีชูชกเป็นตัวชูโรง ขณะที่กรีกโบราณก็กล่าวถึงขอทานซึ่งมีสองระดับ คือ ptochos หรือขอทานอย่างสงบเสงี่ยม กับ penes คือขอทานแบบก้าวร้าวหรือขอทานเชิงรุก โดยกลุ่มหลังถือว่าเป็นชนชั้นที่สูงกว่ากลุ่มแรก ในพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับใหม่ (New Testament) ก็กล่าวถึงพระเยซูว่าเป็นพระผู้ไถ่บาปของ ptochos หรือผู้ยากจน

ขอทานมีอยู่ทั่วโลก ในออนตาริโอ แคนาดา มีการออก “กฎหมายถนนปลอดภัย” ในปี 2542 ห้ามการขอทาน และโดนฟ้องศาลว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของ ประชาชน ต่อมากฎหมายฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบจากศาลอุทธรณ์ในปี 2550 ใน เดนมาร์ก การขอทานเป็นสิ่งผิดกฎหมายมีโทษจำคุกถึง 6 เดือน ในฝรั่งเศส ได้ยกเลิกกฎหมายห้ามขอทานตั้งแต่ปี 2537 แต่ก็ยังห้ามการขอทานเชิงก้าวร้าว ที่ใช้สัตว์หรือเด็กเป็นองค์ประกอบ ในกรีก การขอทานมีโทษจำคุก 6 เดือน และปรับ 3000 ยูโร (ประมาณ 1 แสน 2 หมื่นบาท) ในอังกฤษ มีกฎหมายเก่ามาก ห้ามคนจรจัด แต่ไม่มีโทษจำคุกและไม่ค่อยได้บังคับใช้ในหลายเมือง มีการจับกุมในบางครั้งในรถโดยสารสาธารณะ ในอเมริกา ในบางพื้นที่ของซานฟรานซิสโก ห้ามการขอทานแบบก้าวร้าว ในบอสตัน มีการระดมจัดระเบียบขอทานในปี 2553 พร้อมกับประชาสัมพันธ์ไม่ให้ประชาชนให้เงินขอทาน แต่ก็แยกขอทานเป็นแบบสงบกับแบบก้าวร้าว

ใน สิงคโปร์ เพื่อนอาเซียนของเราก็มีกฎหมายห้ามการขอทานภายใต้กฎหมายคนจรจัด (2532 แก้ไข 2556) มีการลาดตระเวนตรวจจับ มีศูนย์รับแจ้งเหตุขอทาน สิงคโปร์คุยว่าคนที่มีปัญหาทางการเงินสามารถขอความช่วยเหลือจากสภาพัฒนาชุมชน หรือศูนย์บริการครอบครัวได้ แต่ก็มีรายงานของทางการว่าสามารถจับกุมขอทานได้เฉลี่ยปีละ 85 คน ถึงกระนั้นสิงคโปร์ยังคุยว่าสิงคโปร์ไม่มีขอทาน เพราะที่คนอื่นเรียกว่าขอทานนั้น ที่สิงคโปร์เรียกอย่างอื่นว่า sleepers หรือ public sleepers แปลว่าคนนอนตามที่สาธารณะ

แต่ขอทานก็เป็นปัญหาทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ เพราะคนกลุ่มหนึ่งขาดการคุ้มครองทางสังคมอย่างพอเพียง หลายรายเข้าข่ายหลอกลวงให้หลงเชื่อว่าตนอยู่ในสภาพที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ หลายรายฉวยโอกาสจากความใจบุญและความดีของผู้ให้ทาน หลายรายเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์และทารุณกรรมเด็ก คนชราและคนพิการ หลายรายไม่คิดจะทำงานเชิงเศรษฐกิจเพราะการขอทานมีรายได้ดี ขณะเดียวกัน ขอทานแท้ๆ ที่ต้องขอทานเพราะความจำเป็นก็เป็นตัวชี้วัดให้เห็น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม

การแก้ไขปัญหาขอทานจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ประเทศทั่วโลกยังไม่สามารถขจัดได้

แม้แต่สิงคโปร์ที่รวยที่สุดและเข้มงวดที่สุดในอาเซียนก็ยังปราบขอทานไม่ได้ เรื่องนี้น่าจะเป็นสิ่งท้าทายรัฐบาลชั่วคราวของเราไม่น้อย

 

—————-

ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 ใน “คอลัมน์: ดุลยภาพดุลยพินิจ: การจัดระเบียบขอทาน”

นักวิจัย

ดร. สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์
นักวิชาการอาวุโส (ด้านแรงงาน)

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด