เดินหน้าระบบรางผ่านบทเรียนในอดีต

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย แนะใช้บทเรียนลงทุน โครงการขนาดใหญ่ในอดีตเดินหน้าระบบราง

ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยกล่าวถึงแผน ยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมในส่วนของการปฏิรูประบบรางว่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาภาครัฐเริ่มให้ความสนใจระบบรางมากขึ้น เห็นได้จากการผลักดันการลงทุนรถไฟรางคู่ไทย-จีนกว่า 300,000 ล้านบาท หากมองให้ลึกถึงปัญหาบวกกับความคุ้มค่าของการลงทุน ในระบบรางถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่วัดได้จากจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการ ซึ่งเป็นการลดต้นทุนในการเดินทางและการขนส่ง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีต่อเนื่องจากระบบราง เช่น การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และการพัฒนาการใช้ที่ดินรอบสถานีรถไฟ ถ้าระบบรถไฟมีผู้ใช้บริการทั้งการเดินทางและขนส่งมากถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า

การลงทุนในระบบรางเชื่อว่าจะช่วยให้การเข้าถึงของ ประชาชนจะง่ายและสะดวกขึ้น คาดน่าจะช่วยตอบโจทย์การกระจายรายได้ได้ดีขึ้น ซึ่งมีประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ลดเวลาการเดินทาง การลดการใช้พลังงาน เป็นต้น
ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ ระบุว่าประสบการณ์การลงทุนโครงการระบบรางขนาดใหญ่ในอดีต เป็นบทเรียนที่ดีที่สามารถพิจารณาถึงปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น ตัวอย่างรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลหรือรถไฟใต้ดิน มีบทเรียนการประมาณการผู้โดยสารที่มองโลกแง่ดีเกินไป หากพิจารณาข้อมูลในสัญญาสัมปทานคาดการณ์ว่ามีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 6 แสนคน แต่ปัจจุบันมีผู้โดยสารประมาณ 2-3 แสนคนต่อวัน ซึ่งการคาดการณ์ที่คลาดเคลื่อนขนาดนี้ ย่อมส่งผลต่อการวิเคราะห์ความคุ้มค่าของโครงการอย่างแน่นอน เช่นเดียวกับกรณีแอร์พอร์ตลิงค์ที่มีปัญหาการ บริหารจัดการ การเดินรถและการซ่อมบำรุง จำเป็นต้องเรียนรู้จากบทเรียนดังกล่าวนำมาปรับปรุงเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเดิมอีก

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอนาคตไทยควรกำหนดแผน ยุทธศาสตร์การลงทุน การบริหารจัดการ โดยใช้บทเรียนจากที่ผ่านมา โครงการที่ค่อนข้างสำเร็จคือโครงการที่เอกชนเข้า ร่วม รวมถึงแนวทางการถ่ายทอดเทคโนโลยี ถ้าพิจารณาจากอดีตพบว่า

โครงการรถไฟฟ้าทั้งรถไฟใต้ดิน และรถไฟฟ้าบีทีเอส พบว่าไม่ได้มีแผนงานรองรับการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้การถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมีน้อยมากหรือมีเพียงเฉพาะส่วน

รวมถึงยังไม่มีการเชื่อมโยงระหว่างโครงการและยังขาดการติดตามประเมินผลอย่างเป็นระบบด้วย

—————————————-

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 ในชื่อ “ใช้บทเรียนในอดีตเดินหน้าลงทุนระบบราง”