การดูแลแบบประคับประคองเพื่อการไปดี

ปี2015-02-03

วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ และยศ วัชระคุปต์
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

Palliative care หรือที่มีการแปลเป็นไทยว่า การดูแลแบบประคับประคองหรือการดูแลระยะท้ายนั้น ไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับประเทศไทย แต่เป็นสิ่งที่คนไทยยังไม่ค่อยคุ้นเคยและพูดถึงกันมากนักแม้จะมีการให้บริการมานานแล้ว โดยเป็นการดูแลที่มีความปรารถนาดีต่อผู้ป่วย ปล่อยให้ตายตามธรรมชาติ ไม่ยื้อชีวิต แต่ก็ไม่ได้เร่งให้ตาย ซึ่งหลายๆ โรงพยาบาล ได้มีการนำการดูแลแบบประคับประคองมาใช้กับคนไข้ใน รวมถึงการอำนวยความสะดวกให้แก่คนไข้เมื่อต้องการกลับไปดูแลอาการต่อที่บ้านเมื่อถึงระยะท้ายของชีวิต นอกจากนี้ในการเรียนการสอนของแพทย์ก็ได้มีการสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับ palliative care เข้าไปในวิชาที่เกี่ยวข้อง

องค์การอนามัยโลกกล่าวว่าการดูแลแบบประคับประคองเป็นหนทางที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยและบุคคลในครอบครัวให้สามารถเผชิญปัญหาจากอาการเจ็บป่วยที่กำลังถึงแก่ชีวิต ด้วยวิธีการป้องกันและลดอาการเจ็บปวดที่เป็นปัญหากับสุขภาพกาย สุขภาพจิต และจิตวิญญาณ ทั้งนี้หลายหน่วยงานยังได้ขยายความว่าเป็นการดูแลทั้งผู้ป่วยและครอบครัวที่ครอบคลุมทั้งดานร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณซึ่งเน้นไปที่การรักษาอาการเจ็บปวดตามความเหมาะสม โดยไม่เร่งการตายและไม่ยืดการตายของผู้ป่วย

การดูแลแบบประคับประคองหรือการดูแลระยะท้ายจะให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว ซึ่งมีได้ตั้งแต่ในเรื่องการใช้ชีวิตของผู้ป่วย โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ที่อยู่ในขั้นที่รักษาไม่หายแล้วนั้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะต้องใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องช่วยหายใจ ในการช่วยให้ดำรงชีวิตต่อไปได้ แต่เครื่องมือเหล่านั้นอาจจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายตัวหรือสร้างความรำคาญได้ การดูแลในระยะท้ายจึงควรเน้นไปที่การลดความเจ็บปวด การช่วยเหลือให้ผู้ป่วยกลับไปรักษาตัวต่อที่บ้านเพราะต้องการใกล้ชิดกับครอบครัว ช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยได้ทำในสิ่งที่ต้องการหรือสิ่งที่ยังค้างคาอยู่ในจิตใจ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้อยู่อย่างอบอุ่นในครอบครัวที่คุ้นเคย และนำไปสู่การเสียชีวิตอย่างมีสติและพร้อม และญาติได้มีโอกาสอยู่ใกล้ชิดในระยะก่อนจากกัน

ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการดูแลแบบประคับประคองหรือการดูแลระยะท้ายที่ควรมีการทำความเข้าใจให้ชัดเจน คือ ประเด็นด้านกฎหมาย โดยในหลายประเทศมีการออกเป็นกฎหมายไว้ โดยเฉพาะประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศเดียวในโลกที่มีกฎหมายอนุญาตให้แพทย์ทำให้ผู้ป่วยตายโดยสงบได้ (เฉพาะกรณีสมัครใจ) และในหลายประเทศได้บัญญัติเรื่อง “สิทธิปฏิเสธการรักษา” ไว้ในกฎหมาย เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา “Patient Self-Determination Act” (1990) และ “Uniform Health-Care Decisions Act” (1993) และกฎหมายของแต่ละมลรัฐประเทศออสเตรเลีย เช่น มลรัฐ Northern Territory “Natural Death Act” (1988) มลรัฐ South Australia “Consent to Medical Treatment and Palliative Care Act” (1995) มลรัฐ Australian Capital Territory “Medical Treatment Act” (1994) และประเทศอังกฤษ “Mental Capacity Act 2005”

สำหรับประเทศไทยนั้น ได้มีการออกพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 โดยในมาตรา 12 ได้ระบุไว้ว่าบุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงเมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง

แม้ พรบ. จะออกมาตั้งแต่ปี 2550 และกฎกระทรวงได้ประกาศใช้เดือน พ.ค. 2554 แล้วก็ตาม แต่การทำหนังสือแสดงเจตนา (living will) นั้น ยังไม่เป็นที่ยอมรับกันมากนัก ทั้งนี้อาจจะเกิดจากความเชื่อของคนไทยที่เห็นว่าการทำดังกล่าวจะเป็นเสมือนลางร้าย รวมทั้งความเข้าใจผิดที่ว่าเมื่อทำหนังสือแสดงเจตนาแล้ว หากไม่สบายหรือเข้าโรงพยาบาลแล้ว แพทย์จะไม่ยอมรักษาให้ ซึ่งจริงๆ แล้ว การปฎิเสธการรักษาจะเกิดจากฝ่ายคนไข้ ไม่ใช่แพทย์ และการยกเลิกหนังสือแสดงเจตนาก็กระทำได้อย่างง่ายดาย

การเดินหน้าเรื่องการดูแลแบบประคับประคองยังต้องการความพร้อมทั้งในเรื่องระบบบริการและการเตรียมการด้านบุคลากร ระบบการประกันสุขภาพของไทยยังให้ความครอบคลุมการดูแลแบบประคับประคองยังไม่ครบถ้วนนัก ผู้ป่วยและครอบครัวต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเองถ้ากลับบ้าน แต่ถ้ายังอยู่ที่สถานพยาบาลรัฐก็ดูแลค่าใช้จ่ายให้ เช่นเดียวกับประกันสุขภาพของเอกชน ถ้าผู้ป่วยยังนอนที่โรงพยาบาล บริษัทประกันก็รับภาระค่ารักษาให้ แต่ถ้าผู้ป่วยกลับไปรักษาที่บ้าน บริษัทประกันก็ไม่คุ้มครอง การจัดการแบบนี้ทำให้ไม่สร้างแรงจูงใจในการเข้าสู่การดูแลแบบประคับประคอง

ส่วนความพร้อมของบุคลากรพยาบาลและแพทย์ค่อนข้างแตกต่างกัน พยาบาลมีการทำงานที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยและมีความเข้าใจสถานการณ์ด้านครอบครัวและสังคมเป็นอย่างดี การปฏิบัติการดูแลแบบประคับประคองจะสามารถไปได้อย่างดีเมื่อได้รับความร่วมมือจากพยาบาล ในทางตรงกันข้าม ความพร้อมของบุคลากรทางแพทย์กลับน้อยกว่ามาก ความเข้าใจในกลุ่มนักศึกษาแพทย์ค่อนข้างช้าด้วยข้อจำกัดจากหลักสูตรการเรียนการสอน การสั่งยาลดความเจ็บปวดโดยแพทย์ก็ทำได้อย่างจำกัดด้วยหลายสาเหตุ

อุปสรรคสำคัญของการดูแลแบบประคับประคอง คือ ทัศนคติด้านลบ เกี่ยวกับการดูแลแบบประคับประคอง ซึ่งถูกมองว่าเป็น การุณยฆาตหรือการทำให้ตายโดยเจตนา โดยทัศนคติถูกสร้างขึ้นบนฐานของการปฏิเสธความตาย หรือความกลัวผิดพลาด ถ้าประชาชนได้รับความเข้าใจที่ถูกต้องความกลัวก็จะลดลง การเข้าสู่ระบบการดูแลแบบประคับประคองนั้นมีขั้นตอนการตรวจสอบอย่างเป็นระบบ ว่าผู้ป่วยรายนั้นๆ ไม่สามารถรักษาให้หายได้ก่อนที่จะได้รับคำปรึกษาให้เลือกรับการดูแลแบบประคับประคอง การเลือกมิใช่การบังคับ เมื่อผู้ป่วยเลือกก็เท่ากับว่าผู้ป่วยไม่ปฏิเสธความตาย การตายก็เช่นเดียวกับการเกิด คือ ต้องเตรียมความพร้อม ในยามจะเกิดเรามีมารดาเป็นผู้เตรียมความพร้อมให้ แต่ในยามจะไปเราทุกคนควรมีสิทธิที่จะเตรียมความพร้อมของตนเอง การเข้าระบบดูแลแบบประคับประคองเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับคนที่ไม่สามารถรักษาให้หายจากอาการเจ็บป่วยได้แล้ว

——————

เอกสารอ้างอิง
นันทน อินทนนท์. ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการตายโดยสงบ. http://people.su.se/~nain4031/euthanasia THAI.htm

ไพศาล ลิ้มสถิตย์ และ อภิราชย์ ขันธ์เสน.2552. ก่อนวันผลัดใบ. สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โครงการเผชิญความตายอย่างสงบเครือข่ายพุทธิกา. พิมพ์ครั้งที่สองเมษายน 2552

ศ.พญ.สุมิตรา ทองประเสริฐ และคณะ. http://www.med.cmu.ac.th/secret/meded/Mede7/ %B5%E9%B9%A9%BA%D1%BA/MEDE07PDF/Chapter02%20MEDE07.pdf