นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า คณะร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้เขียนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ กสทช. มีเรื่องน่าเป็นห่วงเกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ที่จะเปิดให้ใช้วิธีการประกวดคุณสมบัติ (บิวตี้ คอนเทสต์) แทน ซึ่งกฎหมายปัจจุบันกำหนดให้ประมูลคลื่นความถี่เท่านั้น วิธีบิวตี้ คอนเทสต์ไม่เหมาะสมกับประเทศไทย
“ข้อเป็นห่วงต่อการประกวดคุณสมบัติ คือ การตัดสินใจต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของกรรมการแต่ละคน อาจเกิดปัญหาทุจริต และคอร์รัปชั่นได้ รวมทั้งเป็นช่องที่ทำให้บริษัทใช้แนวทางความใกล้ชิดหาประโยชน์กับกรรมการได้ และที่ผ่านมาดัชนีคอร์รัปชั่นและความโปร่งใสของประเทศไทยไม่ดี” นายสมเกียรติกล่าว
ทั้งนี้ ผู้เขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าใจผิดว่าการจัดประมูลคลื่นความถี่เป็นการสร้างภาระให้กับประชาชน ทำให้ค่าบริการแพงขึ้น และเลือกใช้วิธีคัดเลือกคุณสมบัติ ส่วนกลุ่มทุนบางกลุ่มก็อยากให้ล้มการประมูล เลือกใช้ประกวดคุณสมบัติแทน จึงอยากให้เขียนกฎหมายใหม่ แก้ไขให้รัดกุม หรือตัดทิ้งประโยคที่บอกว่าให้ใช้การเลือกประกวดคุณสมบัติ เพราะประเทศไทยต้องใช้ประมูลคลื่นความถี่เพื่อนำเงินเข้ารัฐเท่านั้น
ที่ผ่านมากรณีประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีระบบธรรมาภิบาลที่ดี เคยใช้วิธีบิวตี้ คอนเทสต์เพื่อเลือกผู้ให้บริการ ยังเกิดปัญหาคณะกรรมการที่คัดเลือกนำคลื่นไปให้กับพวกพ้องจนเกิดปัญหาตามมา รวมถึงคลื่นภาครัฐที่นำไปใช้ไม่เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้สหรัฐกลับไปใช้วิธีการประมูลคลื่นความถี่แทน ทำให้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สหรัฐได้เงินจากการประมูลคลื่นความถี่เป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านล้านบาท
สำหรับประเทศไทยประมูลคลื่นความถี่ 2 ครั้งได้แก่ คลื่นความถี่ 3จี และประมูลทีวีดิจิทัล 24 ช่อง รวมเป็นเงินได้ 9.3 หมื่นล้านบาท และเงินจำนวนนี้ก็ ส่งให้รัฐทั้งหมด จึงอยากให้รัฐบาลให้เหตุผลที่แท้จริงว่าการไม่ต้องการให้ประมูลคลื่นความถี่เพราะอะไร อีกทั้งในกฎหมาย กสทช.ปัจจุบันก็ได้เขียนระบุไว้ชัดเจนว่า คลื่นความถี่ใดควรใช้เพื่อการพาณิชย์ นายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง คลื่นเพื่อบริการสาธารณะ และคลื่นเพื่อบริการชุมชน ดังนั้นจึงไม่ควรถอยหลังเข้าคลอง
นายสุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการโครงการ Industrial Liaison Program คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กฎหมายดิจิทัลที่ไม่ให้ประมูลคลื่นความถี่เป็นการย้อนยุคกลับไป 20 ปีก่อน ขณะที่การโอนเงินกองทุน กสทช. ไปให้กับกองทุนดิจิทัล ก็ขยายแบบไม่มีขอบเขต ขัดกับหลักการเดิมที่ระบุให้ใช้เท่าที่จำเป็นในกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคม
คณะทำงานติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) กล่าวว่า การแก้กฎหมายเรื่องจัดสรรคลื่นความถี่ให้ กสทช.ต้องเสนอแผนจัดสรรคลื่นความถี่ให้สอดคล้องกับคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปรียบเสมือนการดึงคลื่นความถี่ไปให้หน่วยงานที่เคยเสียประโยชน์นำคลื่นไปใช้อีกครั้ง ขณะที่การประมูลจะทำให้เกิดการแข่งขัน
———–
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 30 มกราคม 2558 ในชื่อ “จับตารธน.ยึดคลื่นทีดีอาร์ไอแฉเปิดช่องใช้บิวตี้คอนเทสต์หวั่นเอื้อประโยชน์เอกชน-รัฐสูญรายได้”