แนะรัฐอุ้มเกษตรกร พยุงเศรษฐกิจ

ปี2015-02-23

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ปัญหาภัยแล้งจะทำให้ครัวเรือนในภาคการเกษตรเกิดปัญหามีรายได้ลดลง หากรัฐบาลจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ก็ควรจะช่วยเหลือคนที่จนจริง ไม่ช่วยเป็นการทั่วไป แต่ก็ไม่ใช่ไม่ทำอะไรเลย

นายนิพนธ์ กล่าวว่า ที่เสนอให้รัฐบาลช่วยเฉพาะกลุ่มเพราะผู้มีรายได้น้อยมีเงินก็จะใช้จ่ายหมดทำให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ การช่วยเหลือก็ไม่น่าจะยาก เพราะรัฐบาลมีฐานข้อมูลบางส่วนอยู่แล้ว เช่น การขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่รัฐบาลก็เริ่มทำแล้ว จากฐานผู้ยื่นเสียภาษีแต่เงินได้ต่ำกว่าเกณฑ์ จากทะเบียนคนใช้ไฟฟ้า ทะเบียนคนใช้น้ำประปา ฐานบัตรประชาชน ทะเบียนผู้สูงอายุ รวมถึงดูจากทะเบียนคนจนที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ทำไว้ด้วยก็ยังได้ เป็นต้น

“งานเหล่านี้ไม่ยาก เพียงแต่เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวงทำให้ประสานกันมากขึ้น ซึ่งในช่วงแรกคุณภาพคนที่ต้องการช่วยแบบเจาะจงอาจจะไม่ดี แต่ในระยะต่อไปก็สามารถพัฒนาคัดกรองให้ดีขึ้นได้ การกระตุ้นระยะสั้นที่จำเป็นต้องทำในบางช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีเช่นนี้จะได้ตรงจุด ไม่ใช่ว่างบจำนวนมากที่ไม่ได้ตรงจุด เช่น รถเมล์ รถไฟฟรี ไม่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้า ที่คนเช่าบ้านที่จนจริงๆ กลับไม่ได้อานิสงส์ในการช่วยเลย เป็นต้น” นายนิพนธ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี หากรัฐบาลจะช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งก็อย่าช่วยจนเสพติด ต้องมีกระบวนการพัฒนาควบคู่กันไป ให้เขาพ้นออกจากกับดักความจนด้วย และรัฐบาลก็ควรยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ทำให้ไทยเป็นประเทศที่น่าเข้ามาลงทุนไปพร้อมๆ กันด้วย อย่าให้ต่างชาติเห็นเราเป็นประเทศที่ป่วยไข้ในเอเชีย

ด้าน นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ยอมรับว่าราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ซึ่งมีส่วนทำให้กำลังซื้อในประเทศลดลง หากเกิดปัญหาภัยแล้งอีกก็ย่อมซ้ำเติมการบริโภคแน่ เพราะไหนจะมีปัญหาจากระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนอีก สูงสุดคือมาเลเซียที่ 87% ของจีดีพี ส่วนของไทยอยู่ที่ 84.7% ฉุดการบริโภคอยู่แล้ว แต่ก็ยังดีว่าอัตราการเพิ่มของหนี้ครัวเรือนชะลอลงบ้างแล้ว หลังนโยบายประชานิยมอย่างรถยนต์คันแรกชะลอลง

“ในช่วงนี้หากว่าภาครัฐมีมาตรการออกมากระตุ้นกำลังซื้อให้ไม่ตกลงรุนแรงได้ด้วยก็จะดี เนื่องจากในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำมากทำให้กำลังซื้อ รากหญ้าหายไป แต่จะเริ่มดีขึ้นในครึ่งปีหลัง หากเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นแล้ว การใช้จ่ายในประเทศคงไม่มีปัญหา” นายสมชายกล่าว

———–
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 ในชื่อ “แนะรัฐอุ้มเกษตรกรพยุงศก. ทีดีอาร์ไอแนะช่วยภัยแล้ง-คนจนกระตุ้นรากหญ้ากันเศรษฐกิจหด”