tdri logo
tdri logo
25 กุมภาพันธ์ 2015
Read in Minutes

Views

ทีดีอาร์ไอคาด เศรษฐกิจไทยชะงักงัน ยังไม่ฟื้นดีอย่างที่คิด

นายวิรไท สันติประภพ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในการสัมมนาในหัวข้อจับทิศเศรษฐกิจไทย ว่า เศรษฐกิจไทยในขณะนี้เดินหน้าแบบขาเดียวในทุกกลไกที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภาคการผลิตก็มีปัญหากำลังซื้อลดลง สินค้าเกษตรมีราคาตกต่ำ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจกระจุกตัวใน กทม.และภาคกลางเท่านั้น ในขณะที่ภูมิภาคอื่นของประเทศยังไม่ฟื้นตัวมากนัก

ด้านการท่องเที่ยว ดูเหมือนจะฟื้นตัวแต่ก็ฟื้นแบบขาเดียว เพราะมีแต่นักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่นักท่องเที่ยวยุโรป ญี่ปุ่น และรัสเซียลดลง

“เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแบบ ทรงๆ ตัว เนื่องจากทุกคนคาดว่า การใช้จ่ายของภาครัฐจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ความเป็นจริงรัฐบาลไม่สามารถที่จะผลักดันการเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมาย เพราะอยู่ในโหมดปฏิรูปและต่อต้านคอร์รัปชั่น ทำให้หน่วยงานราชการไม่กล้าที่จะเบิกจ่ายเงินงบประมาณ โดยเฉพาะกลุ่มที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นต่างๆ ระมัดระวังการใช้จ่ายงบประมาณมาก เพราะ ส่วนใหญ่บริหารองค์กรส่วนท้องถิ่นมีอาชีพรับเหมาก่อสร้าง รวมทั้งกลุ่มของรัฐวิสาหกิจอยู่ระหว่างการปฏิรูปองค์กรที่มีปัญหาขาดทุน ซึ่งก็มีปัญหาการเบิกจ่ายและการลงทุนเช่นกัน” นายวิรไท กล่าว

สำหรับสถาบันการเงินก็มีการเดินหน้าแบบขาเดียวเช่นกัน ก่อนหน้านี้สินเชื่อภาคครัวเรือนมีการขยายตัวเกิน 10% แต่ปัจจุบันขยายตัว 2% เนื่องจากประชาชนนำเงินในอนาคตมาใช้จ่ายไปซื้อรถคันแรก ซื้อบ้าน ทำให้มีภาระหนี้สินมากแล้ว อีกทั้งไม่กล้าที่จะก่อหนี้ใหม่เพราะยังไม่แน่ใจว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการที่จะกลับมากล้าใช้จ่ายอีกครั้ง

นายวิรไท กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกก็เดินด้วยขาข้างเดียว คือ สหรัฐ ที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่ยุโรปและญี่ปุ่นยังมีอาการทรงกับทรุด รวมทั้งกรีซก็มีปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เศรษฐกิจก็ไม่ได้ดีอย่างที่มีการคาดการณ์

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญความเสี่ยง ซึ่งจะต้องจับตาท่าที่วิกฤตการเงินของกรีซว่าจะสามารถชำระหนี้และจะออกจากกลุ่มยูโรโซนหรือไม่ รวมทั้งการพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในกลางปีนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความผันผวนตลาดเงินและตลาดทุน หากสหรัฐขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบกับประเทศไทยให้เงินทุนไหล ออก และค่าเงินมีแนวโน้มปรับตัวแข็งค่าขึ้น

“ในระยะนี้ต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงในต่างประเทศส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์เสี่ยงทั้งในตลาดเงินและตลาดทุนของตลาดเกิดใหม่ ทำให้มีโอกาสที่เงินจากต่างชาติจะเริ่มไหลออกได้ตั้งแต่ไตรมาส 2/2558 จนถึงกลางปีนี้ แม้ในช่วงนี้ค่าเงินบาทจะแข็งค่าจากการที่ต่างชาตินำเงินเข้ามาลงทุน

อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณของความผันผวนของค่าเงินในช่วงปลายไตรมาสแรก ซึ่งมีโอกาสจะอ่อนค่าในกรอบ 32.5-33 บาท/เหรียญสหรัฐ และประเมินว่าในช่วงปลายปีค่าเงินบาทจะอ่อนค่ามาอยู่ที่ระดับ 34 บาท/เหรียญสหรัฐ แต่ความผันผวนจะไม่ถึงขั้นรุนแรงมาก เพราะจะมีเงินจากการอัดฉีดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของยุโรปและญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในตลาดเกิดใหม่” นายอมรเทพกล่าว

ทั้งนี้ แนวโน้มค่าเงินบาท แข็งค่าน่าจะเป็นโอกาสให้กับประเทศไทยนำเข้าสินค้าเครื่องจักรเพื่อนำปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งหาช่องทางไปลงทุนในต่างประเทศ

นายอมรเทพ มองว่า ช่วงปลายปีนี้ภาวะการไหลออกของเงินทุนจะรุนแรงมากขึ้น จึงอยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงดอกเบี้ยนโยบายเก็บกระสุนไว้รองรับกับวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นได้

 

————————

หมายเหตุ: พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 ในชื่อ “เศรษฐกิจไทยไร้เสถียรภาพ’ทีดีอาร์ไอ’ระบุเติบโตขาเดียวแบงก์เล็งเงินไหลออกปลายปี”

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด