ยกระดับมาตรฐานการวัด ขยายโอกาสส่งสินค้าสู่ตลาดโลก

ปี2015-02-12

สุเมธ องกิตติกุล

ผู้อำนวยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)

ในรอบตัวของเรา มีอุปกรณ์ที่ใช้ในการชั่ง ตวง วัด ในชีวิตประจำวัน หรือไม่ก็ใช้ในเชิงพาณิชย์ อาทิ ตาชั่งสำหรับชั่งน้ำหนักผักหรือผลไม้ ถ้วยตวง หรือตลับเมตร ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถหาซื้อได้ง่ายแต่ในภาคอุตสาหกรรม เครื่องมือชั่ง ตวง หรือวัดในกระบวนการผลิต ถูกออกแบบโดยวิศวกรและผู้เกี่ยวข้องกับการผลิตเพื่อให้เหมาะสมกับประเภทอุตสาหกรรมอาจมีทั้งอุปกรณ์ชั่ง ตวง หรือวัด ที่ให้ผลการวัดทั่วไป หรืออุปกรณ์ที่ให้ผลการวัดแบบเฉพาะงานซึ่งจำเป็นต้องออกแบบให้ได้มาตรฐานตามความต้องการของตลาด ดังนั้น รัฐจึงต้องกำหนดให้เครื่องมือที่ใช้ในการชั่ง ตวง หรือวัดต้องผ่านกระบวนการที่เรียกว่า การสอบเทียบ อันเป็นกระบวนการส่งเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการวัดทั้งที่เกี่ยวข้องทั้งกับการพาณิชย์ และการผลิต ไปตรวจสอบว่าได้มาตรฐานสากล

สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบมาตรวิทยา ซึ่งเป็นกลไกในการพัฒนามาตรฐานการผลิตให้ได้มาตรฐานสากล ก่อตั้งขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 ตามพระราชบัญญัติพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ พ.ศ. 2540 มีหน้าที่หลัก คือ การพัฒนาวิธีการวัดและการวิจัยค้นคว้าเครื่องมือและเทคนิคการวัดในชีวิตประจำวัน การออกใบรับรองการสอบเทียบสำหรับเครื่องมือวัดและวัสดุอ้างอิง การพัฒนาเทคโนโลยีการวัด และการสนับสนุนการวิจัยที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ การพัฒนากำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญในการวัด และการสนับสนุนมาตรฐานห้องปฏิบัติการสอบเทียบ ยังอยู่ในขอบเขตงานที่สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติต้องให้การส่งเสริมด้วย

การพัฒนาของระบบมาตรวิทยาโดยสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติในภาพรวมจะมุ่งเน้นให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในการผลิตสินค้า เช่น ระบบมาตรฐาน ISO 9000 ระบบมาตรฐาน ISO 14000 และระบบมาตรฐาน HACCP เป็นต้น เพราะข้อตกลงทางด้านการค้าระหว่างประเทศคุณภาพและมาตรฐานสินค้าส่วนหนึ่งถูกควบคุมผ่านระบบมาตรวิทยารูปแบบของการผลิตในปัจจุบันที่มีการสร้างเครือข่ายในการผลิต (production network) ซึ่งใช้ชิ้นส่วนหลายชิ้นจากหลายที่มาประกอบเป็นผลิตภัณฑ์ให้ได้ตามมาตรฐานจึงต้องมีการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของแต่ละชิ้นส่วนเพื่อให้การผลิตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ในแง่การดำเนินงาน สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติประสบความสำเร็จด้านการพัฒนาบริการสอบเทียบสำหรับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมหลักของประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ จากการศึกษาพบว่าการสอบเทียบเครื่องมือวิทยาศาสตร์ของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่าถึงประมาณ 120 ล้านบาทในปี 2555 และคาดว่าในปี 2561 หากกิจกรรมมาตรวิทยาของประเทศไทย มีศักยภาพทัดเทียมกับศักยภาพของสหภาพยุโรปในปี 2543 มูลค่าการสอบเทียบเครื่องมือและอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ฯ ของไทยมีโอกาสสูงถึง 2,759 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 14.51 ของมูลค่าเครื่องมือและอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ฯ

แม้จะมองเห็นโอกาสอยู่ข้างหน้า สถาบันมาตรวิทยาก็ยังมีปัญหาอยู่บางประการทั้งในระดับอุตสาหกรรมและระดับองค์กร ปัญหาในระดับอุตสาหกรรมการดำเนินงานของสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติที่ผ่านมาเป็นการวางแผนการดำเนินงานโดยพิจารณาความต้องการจากภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้ใช้งานรายสุดท้ายแต่ยังไม่สามารถวางแผนการลงทุนหรือขยายขีดความสามารถของระบบมาตรวิทยาของประเทศให้คุ้มค่าได้เท่าที่ควร ในส่วนของอุตสาหกรรมใหม่ การกำหนดมาตรฐานการสอบเทียบและการทดสอบเครื่องมือวัดยังไม่ครอบคลุมทุกเครื่องมือวัด การให้บริการสอบเทียบของสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติยังดำเนินการไม่รวดเร็วพอ กระทบต่อการจัดสรรเวลาเพื่อไปพัฒนางานวิจัยด้านมาตรวิทยา รวมถึงขีดความสามารถของระบบมาตรวิทยาของประเทศให้มากขึ้น ซึ่งงานวิจัยด้านมาตรวิทยาจะช่วยลดความจำเป็นในการส่งเครื่องมือไปสอบเทียบยังต่างประเทศ ปัญหาในระดับองค์กรเกิดขึ้นจากภาคอุตสาหกรรมบางส่วนยังไม่ได้ให้ความสำคัญหรือเห็นประโยชน์ของการควบคุมคุณภาพในการสอบเทียบเครื่องมือ อุตสาหกรรมเหล่านี้ต้องการเพียงผ่านการสอบเทียบเพื่อให้ได้รับใบรับรองว่ามีมาตรฐานในการผลิตเมื่อห้องปฏิบัติการสอบเทียบเฉพาะภายในอุตสาหกรรมหรือหน่วยงานได้รับอนุญาตให้ทำหน้าที่สอบเทียบแทนห้องปฏิบัติการสอบเทียบของสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติแล้วไม่ได้รับการกำกับดูแลด้านมาตรฐานติดตามหรือควบคุมอย่างเป็นระบบจากสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติจะเกิดปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือของผลการให้บริการสอบเทียบในบางองค์กรและปัญหาเชิงคุณภาพลักษณะเดียวกันนี้อาจเกิดในตลาดห้องปฏิบัติการสอบเทียบที่ดำเนินการในเชิงพาณิชย์เช่นกัน

ทั้งนี้ แนวทางเพื่อให้สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติสามารถทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นมีดังนี้

1. สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติควรศึกษาโครงสร้างอุตสาหกรรม และประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของการลงทุน เพื่อพิจารณาการลงทุนและพัฒนาขีดความสามารถในด้านการสอบเทียบกับการวัดให้มีความเหมาะสมและคุ้มค่า

2. กำหนดให้มีการศึกษาศักยภาพในการให้บริการของห้องปฏิบัติการสอบเทียบในตลาดและถ่ายทอดมาตรฐานและเทคนิควิธีในการสอบเทียบให้กับห้องปฏิบัติการสอบเทียบในระดับต่ำกว่า เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจได้รับประโยชน์มากขึ้น

3. ส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตงานวิจัยที่เป็นการสร้างนวัตกรรมทางด้านมาตรวิทยา เพราะเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชนประชาชนในประเทศควรได้ใช้สินค้ามีคุณภาพปลอดภัยต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

——————-

ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 ใน “ยกระดับมาตรฐานการวัดขยายโอกาสส่งสินค้าสู่ตลาดโลก”