วิกฤติเศรษฐกิจสื่อกับความอ่อนเปลี้ยของข่าว ‘สืบสวนสอบสวน’

ปี2015-03-10

คืนวันนักข่าวที่ผ่านมา (วันที่ 5 มีนาคม) ผมไปร่วมฟังการเสวนาเรื่อง “อภิวัฒน์คนข่าว” แล้วได้ข้อคิดที่สำคัญมากข้อหนึ่งคือ

การทำข่าวแบบ “สืบสวนสอบสวน”หรือ investigative reporting ที่เป็นหัวใจของการทำหน้าที่สื่อมวลชนที่มีคุณภาพและรับผิดชอบนั้นจะน้อยลงและยากขึ้น

คนตั้งวงสนทนาคืนนั้นคือคนข่าวอาวุโสมานิจ สุขสมจิตร, กวี จงกิจถาวรและ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

ดร.สมเกียรติ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) บอกว่าตัวเลขรายได้รายจ่ายของสื่อทั้งหนังสือพิมพ์และดิจิทัลทีวีของปีที่ผ่านมาลดลงไปอย่าง มีนัยสำคัญ จึงทำให้เจ้าของสื่อต้องวิ่งหา รายได้หนักหน่วง ทำให้ต้องเอาใจนักธุรกิจ นักข่าวจึงไม่อาจจะทำหน้าที่ของตนได้อย่างเป็นอิสระในฐานะมืออาชีพ

ยิ่งถ้าหากธุรกิจกับการเมืองรวมตัวกันสั่งสมอำนาจและบารมี ก็ยิ่งทำให้เจ้าของสื่อที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจต้องสวามิภักดิ์ต่อกลุ่มทุนและอำนาจการเมือง ทำให้ความพยายามที่จะทำข่าวตรงไป ตรงมา แฉเรื่องไม่ชอบมาพากล ปกป้อง ผลประโยชน์ของสาธารณชนด้วยการทำรายงานแบบ “สืบสวนสอบสวน” ให้ได้มาตรฐานวิชาชีพยิ่งจะอ่อนปวกเปียกไปด้วย

หากเป็นเช่นนั้น และหากไม่มี ความตื่นตัวในการสร้าง “ภูมิต้านทาน” สำหรับคนข่าววิชาชีพ สื่อกระแสหลักก็มิอาจเป็นที่พึ่งพาของประชาชนในฐานะเป็นกลไกสำคัญของสังคมในอันที่จะทำหน้าที่เป็น “หมาเฝ้าบ้าน” หรือ “กระจกส่องสังคม”อย่างแท้จริงได้

“สื่อทางเลือก” ที่เกิดขึ้นผ่าน social media บางแห่งทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของผู้มีอำนาจและพฤติกรรมของกลุ่มทุนที่ขาดความรับผิดชอบได้ประสิทธิภาพมากกว่าสื่อกระแสหลักเพราะไม่ต้องพึ่งพากลุ่มทุนหรือรายได้จากโฆษณา แต่สื่อทางเลือกจะเติบโตเพื่อทำหน้าที่เป็นปากเสียงของประชาชนได้อย่างแท้จริง ก็จะต้องได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากสังคมโดยส่วนรวม เพราะหากคนในสังคมยังมีทัศนคติ “ธุระไม่ใช่” หรือ “ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์” สื่อจะทำหน้าที่อย่างทุ่มเทมุ่งมั่นเพียงใดก็ไม่อาจจะฟันฝ่าอุปสรรคและ ขวากหนามของผู้มีอิทธิพลที่ต้องการตักตวงผลประโยชน์ใส่ตัวได้ การทำหน้าที่สื่อที่รับผิดชอบอย่างเป็นอิสระในประเทศไทยยามนี้ เป็นเรื่องท้าทายและมีความลำบากยากเข็ญ แต่ผมขอยืนยันว่าคนข่าวเครือเนชั่นยังมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าทำหน้าที่ investigative reporting อย่างไม่ลดละ เพราะเราเชื่อในความเป็นอิสระและความเป็นมืออาชีพ ไม่ยอมอ่อนข้อต่ออำนาจทุนนิยมสุดขั้ว ไม่ก้มหัวให้กับกลุ่มการเมืองที่มุ่งแสวงหาประโยชน์ใส่ตนและพวก และจะไม่หยุดยั้งในการสร้างคนข่าวรุ่นใหม่ ๆ ที่มีอุดมการณ์เพื่อเป็น “สื่อที่ประชาชนไว้วางใจได้อย่างสนิทใจ” ยิ่งสังคมไทยต้องการเห็นการ “ปฏิรูป” เพื่อก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง การมีสื่ออิสระและกล้าหาญทางศีลธรรม ไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือของทุนที่น่าสงสัยเคลือบแคลง และกลุ่มการเมืองที่มีวาระซ่อนเร้นก็ยิ่งจะมีความสำคัญอย่างยิ่ง สื่ออิสระที่มุ่งมั่นทุ่มเททำ investigative reporting เพื่อเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลของผู้มีอำนาจและอิทธิพลทั้งด้านทุนและการเมืองไม่อาจจะเกิดได้ และไม่อาจจะดำรงอยู่ได้หากปราศจากความกระตือรือร้นและแรงสนับสนุนอย่างเปิดเผย โปร่งใส และจริงจังของคนทุกวงการในสังคม

เราเป็นผู้อาสา สังคมเป็นผู้ตัดสิน

——————

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์  กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 10 มีนาคม 2558 ในคอลัมน์ “ กาแฟดำ: วิกฤติเศรษฐกิจสื่อกับความอ่อนเปลี้ยของข่าว’สืบสวนสอบสวน’”