วิจัยทีดีอาร์ไอชี้จุดอ่อน ‘ป.ป.ช.-คตง.-ผู้ตรวจการ’ ขาดงบ-กรรมการไม่หลากหลาย

ปี2015-03-12

วิจัยทีดีอาร์ไอชี้จุดอ่อน ป.ป.ช.-คตง.-ผู้ตรวจการฯ ขาดงบฯ เพียงพอ การสรรหาให้น้ำหนักฝ่าย กม.มาก กรรมการขาดความหลากหลาย ‘ดร.เดือนเด่น’ เทียบโมเดล ICAC ฮ่องกง พบองค์กรอิสระไทยเลือกถ่ายโอนบุคลากร ละเลยคุณสมบัติเหมาะสม ชนวนเหตุทำงานไม่หลุดกรอบ ‘ราชการ’

natdanai120358
สัมมนา ‘การปรับปรุงโครงสร้างองค์กรอิสระเพื่อต่อต้านคอร์รัปชั่น’ (ที่มารูปภาพ: isranews.org/)

วันที่ 12 มีนาคม 2558 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดสัมมนา ‘การปรับปรุงโครงสร้างองค์กรอิสระเพื่อต่อต้านคอร์รัปชั่น’ ณ โรงแรมสวิส โซเทล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ในฐานะคณะผู้วิจัย นำเสนอบทวิเคราะห์เกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรอิสระเพื่อต่อต้านคอร์รัปชั่น 3 หน่วยงาน ได้แก่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (สตง.) โดยระบุตอนหนึ่งว่า ไทยตั้งองค์กรอิสระตั้งแต่ปี 2540 แต่ไม่ทำให้สถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชั่นดีขึ้นเลย จึงควรพิจารณาหาสาเหตุเมื่อมีองค์กรอิสระกลับแก้ปัญหาไม่ได้

ทั้งนี้ ในต่างประเทศมีหัวใจสำคัญขององค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นต้องมีความเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร

สำหรับประเทศไทยเปรียบเทียบกันแล้ว นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ พบว่า ในส่วนของ ป.ป.ช. มีกรรมการส่วนใหญ่เป็นนักกฎหมาย แต่ประเทศอื่นจะมีจากวิชาชีพหลากหลาย สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะผู้คัดเลือกกรรมการก็ต่างเป็นนักกฎหมาย ฉะนั้นต้องเปลี่ยนโครงสร้าง

“ความล่าช้าในการไต่สวนคดีมาจากงบประมาณไม่เพียงพอ และการบริหารจัดการภายในเอง โดยมีลักษณะการทำงานแบบราชการ ทั้งที่องค์กรอิสระพยายามสร้างกฎกติกาด้านบุคลากร จัดซื้อจัดจ้างเองได้ ทำให้การทำงานขาดความคล่องตัว” ดร.เดือนเด่น กล่าว และว่า ดัชนีชี้วัดผลงานและความสำเร็จของงาน (Key Performance Indicator:KPI) มักรายงานต่อรัฐสภาเชิงปริมาณ เน้นเฉพาะคดีง่าย ๆ แต่คดียากเก็บไว้ เพื่อหวังจำนวนสูง แทนที่จะนับคดีใหญ่ก่อน ดังนั้น จึงเกิดปัญหาทำให้มีการบิดเบือนข้อมูล

ผู้สื่อข่าวถามเพิ่มเติมว่า การได้มาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.อายุมากไปหรือไม่ ทำให้ทำงานไม่คล่องตัว โดยเปรียบเทียบกับองค์กรปราบปรามคอร์รัปชั่น (Independent Commission Against Corruption :ICAC) ของฮ่องกง นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า ระบบการคัดสรรผู้มาดำรงตำแหน่งของไทยใช้วิธีการถ่ายโอน โดยขาดการตรวจสอบคุณสมบัติมีความเหมาะสมกับงานหรือไม่ ซึ่งไม่เฉพาะ ป.ป.ช.เท่านั้น แทบทุกหน่วยงานที่ตั้งขึ้นใหม่มักใช้วิธีนี้ จึงไม่หลุดออกจากระบบราชการ และกลายเป็นปัญหาตลอด

“ควรยกเลิก และสร้างแบบอย่างบนเงื่อนไขให้มีคุณสมบัติสอดคล้อง ซึ่ง ICAC เลือกวิธีการจ้างคนใหม่โดยตรง ตรวจสอบคุณสมบัติหลายอย่าง เช่น มีความกระตือรือร้น ทำงานเพื่อสังคม เป็นต้น ที่สำคัญ ค่าตอบแทนสูง ทำให้ได้คนจบมหาวิทยาลัยเก่ง ๆ มาร่วมงาน เลยจำเป็นต้องดูทั้งกระบวนการแก้ไขบริหารจัดการให้เหมือนเอกชน เพื่อการตรวจสอบที่เข้มข้น”

ดร.เดือนเด่น กล่าวถึงคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่า พบงานค้างจำนวนมาก และงานหลายอย่างที่ส่งไปให้ ป.ป.ช. บางเรื่องยังตอบไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ฉะนั้นต้องปรับปรุงกระบวนการติดตามงาน รวมถึงการสร้างความโปร่งใสขององค์กรอิสระไม่ควรจำกัดเฉพาะรายงานต่อรัฐสภาหรือหน่วยงานรัฐบาลด้วยกัน แต่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณชน ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นจุดอ่อนขององค์กรอิสระทั้งหลาย เพราะเมื่อประชาชนขาดการมีส่วนร่วมก็ไม่สามารถกดดันเปลี่ยนแปลงได้

“คตง.เห็นเยอะ รู้ว่าโครงการนี้เน่า แต่ทำอะไรไม่ได้ ฉะนั้นต้องทำให้คนเห็นทำอะไรได้ โดยไม่ต้องรอให้ ป.ป.ช.ดำเนินการเอง” 

ด้านสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ระบุว่า มีปัญหาคล้ายคลึงกับ ป.ป.ช.และคตง. แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมา คือ การทับซ้อนของผลประโยชน์ ซึ่งไทยมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 แต่มีเนื้อหาไม่ละเอียดเมื่อเทียบกับสากล ยกตัวอย่าง หากมีส่วนได้ส่วนเสียต้องทำอย่างไร เช่น ห้ามประชุม ห้ามรับรู้ ห้ามพูดจากับใคร เป็นต้น

ขึ้นเงินเดือนเยอะ อย่าคิดว่าดี คนเราต้องอยู่ด้วยอุดมการณ์

ด้านนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวถึงการได้มาซึ่งงบประมาณของ คตง.ว่า ไม่หวังจำนวนมาก แต่ทำอย่างไรให้มีอัตรากำลังเพียงพอ มีค่าน้ำมันรถและรถยนต์ให้ขับ โดยไม่ต้องไปอาศัยหน่วยรับตรวจ มิฉะนั้นจะตกเป็นทาส ทำให้ไม่เหลือความสง่างาม ดังนั้น เราต้องการเพียงเครื่องมือในการทำงาน ไม่ต้องมาทำอะไรให้หรูหรา

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญ คือ เงินเดือน แต่การให้เงินเดือนเยอะ อย่าคิดว่าดี คนเราจะต้องอยู่ด้วยอุดมการณ์ และหากโกงขึ้นมา สามารถถอดถอนได้ ฟ้องคดีอาญาได้ เพียงแต่จำเป็นต้องมีกระบวนการกลั่นกรอง มิฉะนั้นหากศาลประทับรับฟ้อง ตราบใดคดียังไม่จบ ข้าราชการคนนั้นจะไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือน แต่หากเป็นคดีฟ้องแพ่งทำไปไม่เดือดร้อน และยังเห็นด้วยเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูล ไม่จำเป็นต้องให้เกียรติรัฐสภามากเกินไป ประชาชนเป็นใหญ่ ต้องเปิดเผยให้ประชาชนไปเลย

ขณะที่นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการและโฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ตราบใดไทยตั้งองค์กรอิสระมากขึ้นเรื่อย ๆ แสดงว่าประเทศกำลังประสบปัญหา ดังนั้น ควรให้มีองค์กรอิสระต่าง ๆ น้อยลง อย่างไรก็ตาม ภายใต้สภาวะอาจจำเป็นต้องตั้งขึ้นมาเหมือนกัน แต่หากจะเกิดผลจริงต้องมุ่งเน้นการป้องกัน ตราบใดที่มีผลสัมฤทธิ์การปราบปรามสูง แสดงว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งไม่มีใครต้องการแบบนั้น ฉะนั้นการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นเชิงป้องกันเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งสำนักงานตรวจการแผ่นดินดำเนินการอยู่ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยกฎหมาย เนื่องจากทุกหน่วยงานมีการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมอยู่แล้ว

นางศิริรัตน์ วสุวัต ผอ.ศูนย์วิจัยเพื่อต่อต้านการทุจริต ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สำนักงาน ป.ป.ช. กล่าวว่า งบประมาณการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นต้องอิสระ แต่เมื่อเทียบเคียงกับฮ่องกงรับงบประมาณกว่า 140 ล้านบาท/ปี สิงคโปร์ กว่า 200 ล้านบาท/ปี และมีอำนาจมากมาย แต่ไทยได้รับเพียง 21 ล้านบาท/ปี 2553 และเมื่อเทียบเคียงกับงบประมาณของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบมีความอิสระเช่นกัน แต่ 3 หน่วยงานกลับขาดงบประมาณอิสระ ฉะนั้นหากยกเป็นแบบเพื่อกำหนดก็จะสอดรับกับภารกิจหน้าที่

—————————–

หมายเหตุ: ภาพประกอบ:ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์-เว็บไซต์ TCIJ

ตีพิมพ์ครั้งแรก: ในเว็บไซต์สำนักข่าวอิศราวันที่ 12 มีนาคม 2558 ใน “วิจัยทีดีอาร์ไอชี้จุดอ่อน ‘ป.ป.ช.-คตง.-ผู้ตรวจการ’ ขาดงบ-กรรมการไม่หลากหลาย”