‘ทีดีอาร์ไอ’แนะดึงชุมชน-เอกชนร่วมพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตร

ปี2015-03-23

“ทีดีอาร์ไอ”แนะเกษตรฯใช้งบ 3 หมื่นล้าน ปรับโครงการผลิตภาคเกษตร สร้างความร่วมมือระหว่างชุมชน-เอกชน และภาคส่วนต่างๆ แนะพัฒนาภาคเกษตรต้องเปลี่ยนแนวความคิดว่าภาคเกษตรอ่อนแอ ต่อยอดการแข่งขัน ขณะที่นโยบายอุดหนุนทำเฉพาะกลุ่ม”ยากจน” และขาดความรู้

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการกิตติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงข้อเสนอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะของบประมาณจากรัฐบาลวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ในการปรับปรุงโครงสร้างทางการผลิตในภาคเกษตรว่า กระทรวงเกษตรฯควรมีการวางแผนการใช้งบประมาณในส่วนนี้ร่วมกับชุมชน ภาคเอกชน มูลนิธิ และสถาบันการศึกษา อุดมศึกษาไป โดยเสนอโครงการเข้ามาของบประมาณ คำนึงถึงความต้องการของเกษตรกรในชุมชน รวมทั้งการวางแผนการผลิต และการตลาดควบคู่กัน กระทรวงเกษตรฯควรดำเนินการในลักษณะเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ และปรับบทบาทจากที่เป็นผู้ส่งเสริมโครงการต่างๆ เป็นหน่วยงานในการลงไปประเมินผลโครงการต่างๆ แทนที่จะเป็นผู้ลงไปขับเคลื่อนโครงการและงบประมาณในส่วนนี้ด้วยตนเอง

นายนิพนธ์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาภาคเกษตรของไทยว่า ต้องเริ่มต้นจากการที่รัฐบาล นักการเมืองและนักวิชาการบางส่วนต้องปรับ เปลี่ยนแนวคิดที่มองว่า ภาคเกษตรของไทย อ่อนแอเป็นภาคส่วนที่ต้องได้รับการส่งเสริมด้วยการอุดหนุนและชดเชยอยู่ตลอดเวลาไปเป็นการมองว่าภาคเกษตรของไทยมีความเข้มแข็งในระดับหนึ่ง และวางนโยบายในการสร้างความสามารถในการแข่งขันเหมือนกับนโยบายที่ส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถแข่งขันได้

นอกจากนั้น การลงทุนวิจัยในภาคเกษตรเคยมีสัดส่วนสูงถึง 0.9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ภาคเกษตร แต่ปัจจุบัน งบประมาณในการวิจัยภาคเกษตรที่ภาครัฐสนับสนุนเหลือเพียง 0.2% ของจีดีพีภาคเกษตร ทำให้ระบบวิจัยภาคเกษตรของรัฐอ่อนแอมาก และขาดแคลนนักวิจัยภาคเกษตรรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ ดังนั้นรัฐบาลต้องทบทวนส่วนนี้ หากจะส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรในไทย “การพัฒนาของภาคเกษตรไทยในอดีต มีการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ก่อนจะมีแผนพัฒนาฯฉบับที่ 1 มานับ 100 ปี แต่ในช่วง 10 -20 ปีที่ผ่านมา นโยบายในภาคเกษตรกลับเปลี่ยนแปลงทำให้ภาคเกษตรอ่อนแอขึ้นโดยเป็นนโยบายที่ใช้ไปกับการอุดหนุนและการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำซึ่งแต่ละปีมีการให้งบประมาณและสินเชื่อในการอุดหนุนภาคเกษตรสูงถึง 1 ล้านล้านบาท ขณะที่งบประมาณในการพัฒนาและปรับปรุงการชลประทานมีงบประมาณปีละ 3 หมื่นล้านบาท เท่านั้น ซึ่งแนวนโยบายแบบนี้ทำให้ภาคเกษตร อ่อนแอ ถือว่าเป็นนโยบายที่ผิดพลาด” สำหรับการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทย จะต้องเน้นการสร้างผลิตภาพการผลิต การใช้เทคโนโลยีในการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น ในส่วนนี้ต้องทำควบคู่ไปกับการวางแผนการผลิตตามความต้องการของตลาด ส่วนการช่วยเหลือภาคเกษตรด้วยการอุดหนุนภาคเกษตรต้องเป็นนโยบายเฉพาะทำเฉพาะกลุ่ม เน้นไปที่เกษตรกรที่ยากจน โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีแนวโน้มจะบุกรุกแผ้วถาง และเผาป่าเพื่อทำการเกษตร ต้องเร่งจัดการให้มีทางเลือกในการปลูกพืชชนิดอื่นๆ ที่ไม่ใช่พืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด ส่วนปัญหาของภาค เกษตรในส่วนของแรงงานที่มีอายุเฉลี่ยสูงขึ้น ทำให้จำนวนชาวนาที่ลดลง ต้องมีการนำความรู้ และใช้เทคโนโลยีการผลิตเข้ามาใช้ในการ เพาะปลูกแบบทำเกษตรสมัยใหม่มากขึ้น โดย ทำเป็นนโยบายการส่งเสริมระยะยาว

“ภาคเกษตรของไทยไม่ได้อ่อนแอ เพราะเรามีปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรหลายชนิด เป็นผู้นำของโลก เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง น้ำตาล สินค้าปศุสัตว์อย่างไก่ เราก็เป็นผู้นำ และหากเทียบสินค้าเกษตรทุกชนิดประเทศไทยส่งออกเป็นอันดับ 13 ของโลก ซึ่งภาคเกษตรต้องคิดใหม่ คิดแบบเดิมว่าภาคเกษตรมีความอ่อนแอไม่ได้ ต้องมองว่ามีความเข้มแข็งในด้านไหนและจะส่งเสริมให้แข่งขันได้มากขึ้นอย่างไร”นายนิพนธ์กล่าว

————————

หมายเหตุ: พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 23 มีนาคม 2558 ในชื่อ “’ทีดีอาร์ไอ’แนะดึงชุมชน-เอกชนร่วมพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตร”