tdri logo
tdri logo
25 มีนาคม 2015
Read in Minutes

Views

ชำแหละมาตรการ-ก.ม.ปราบโกง รัฐบาล’ประยุทธ์’เดินหน้าถึงไหน?

เมื่อเร็วๆนี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ได้จัดเสวนาเพื่อติดตามมาตรการต่อต้านคอร์รัปชัน ในรอบ 5 เดือนของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 หนึ่งในนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญคือการส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาลและการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ พร้อมแจกแจงประเด็นต่างๆที่รัฐบาลดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมาย ลองตรวจสอบว่ามีมาตรการและกฎหมายอะไรที่คืบหน้าบ้างแล้ว

กระทุ้งรัฐเร่งคลอดก.ม.ปราบโกง
ดร.เดือนเด่น  นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการ ระบบเศรษฐกิจสถาบันทีดีอาร์ไอ ระบุว่า ในการศึกษามาตรการป้องกันการคอร์รัปชันครั้งนี้ เน้นศึกษาใน 4 มาตรการหลัก คือ 1. มาตรการจำกัดหรือควบคุมอำนาจในการใช้ดุลพินิจของรัฐ เช่น การออกใบอนุญาตหรือตรวจสอบต่างๆ ซึ่งเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับสินบน ทำให้เพิ่มภาระให้ภาคเอกชนและประชาชน

2.มาตรการควบคุมการใช้เงิน แผ่นดิน 3.มาตรการการใช้อำนาจผูกขาด และ 4.มาตรการเพิ่มต้นทุนและความเสี่ยงให้กับพฤติกรรมคอร์รัปชัน พบว่ายังเดินหน้าไปไม่ถึง 50% โดยเฉพาะมาตรการควบคุมอำนาจผูกขาดมีความคืบหน้าน้อยที่สุด โดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องมีเพียงการผลักดัน แต่ยังไม่เป็นรูปธรรม

ขณะเดียวกันยังพบว่า มาตรการควบคุมอำนาจการผูกขาด  ประกอบด้วย ร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.  และ การแก้ไขพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า มีความก้าวหน้าน้อยที่สุด เพียง 25%

ตามด้วยมาตรการควบคุมอำนาจการใช้ดุลพินิจของรัฐ อยู่ที่ 33% โดยที่มีความคืบหน้าและออกเป็นกฎหมายใช้บังคับเมื่อวันที่ 18 มกราคม ที่ผ่านมา คือ พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกฯ ส่วนมาตรการอื่น อาทิ การประเมินความคุ้มค่าของกฎหมาย หรือ Regulatory Impact Analysis (RIA) ยังไม่มีความคืบหน้า

“ที่ผ่านมาทีดีอาร์ไอศึกษาพบว่ามีกฎหมายหลายฉบับออกมาโดยไม่เกิดผลกระทบด้านบวกต่อประชาชน แต่กลับเป็นการให้อำนาจดุลพินิจกับผู้ที่บังคับใช้กฎหมาย แต่หากมีการประเมินโดยใช้ RIA จะช่วยกลั่นกรองกฎระเบียบที่ไม่เป็นประโยชน์กับสังคม โดยเฉพาะกฎที่กลายเป็นแหล่งหาเงินของผู้ที่มีอำนาจในการใช้ดุลพินิจ”

ส่วนมาตรการเพิ่มต้นทุนและความเสี่ยงให้กับพฤติกรรมคอร์รัปชัน ทำได้ 35% อาทิ ความเป็นอิสระขององค์กรอิสระต่อต้านคอร์รัปชัน เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)เพื่อบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ   การห้ามบุคคลในกระบวนการยุติธรรมเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.)

รวมถึงการแก้กฎหมายให้ครบตามอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต คศ. 2003 (United Nations Convention Against Corruption 2003) มีการปรับปรุงร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฯ และผ่านวาระ 1 รับหลักการ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ครบกำหนดเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่ผ่านมา

ส่วนมาตรการควบคุมการใช้เงินแผ่นดิน ทำได้ดีที่สุดที่ 38% อาทิ ข้อตกลงคุณธรรม ได้นำร่องในการจัดซื้อรถเมล์ NGV และโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และมาตรการควบคุมอำนาจผูกขาด อาทิ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้าฯ กระทรวงพาณิชย์พิจารณาเสร็จแล้ว รอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. และร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ยังไม่คืบหน้านัก เนื่องจากทางสปช.ตีกลับร่างฯเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 เพื่อให้มีการพิจารณเรื่อง องค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคในร่างรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)กำลังพิจารณาปรับปรุง (ดูรายละเอียดความคืบหน้าของมาตรการและกฎหมายปราบโกง จากตารางประกอบ)

แนะคุมสื่อโฆษณาของรัฐ
ขณะที่ ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ซึ่งเข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้ระบุว่า ภาพรวมของประเทศไทยในแง่การป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชันในปัจจุบันดูเป็นรูปธรรมมากขึ้น  เห็นได้จากการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การอำนวยความสะดวกการอนุญาตของราชการ พ.ศ. 2558   กฎหมายฉบับนี้จะช่วยแก้ปัญหาคอร์รัปชันในวงราชการ นักการเมือง ไม่ให้รีดไถประชาชนเหมือนที่ผ่านมา รวมทั้งการออกมาตรการใหม่ในการแก้ไขปัญหาใบอนุญาต รง.4 ได้อย่างรวดเร็ว

“ความท้าทายของรัฐบาลคือ ต้องคำนึงถึงทุกมาตรการที่มีผลในระยะยาว เช่น ผู้นำรัฐบาลออกมารณรงค์การต่อต้านคอร์รัปชันด้วยตัวเองอย่างต่อเนื่อง หรือการออกพ.ร.บ.การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ เพื่อควบคุมการซื้อสื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์ภาครัฐให้มีประสิทธิภาพโปร่งใส ตรวจสอบได้”

————————

หมายเหตุ: พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 25 มีนาคม 2558 ในชื่อ “ชำแหละมาตรการ-ก.ม.ปราบโกง รัฐบาล’ประยุทธ์’เดินหน้าถึงไหน?”

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด