ภาครัฐจะปรับตัวอย่างไรเพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมให้กับภาคธุรกิจ

ปี2015-03-26

นณริฏ พิศลยบุตร
ฉัตร คำแสง

พัฒนาการทางเศรษฐกิจของไทยในอดีตมุ่งเน้นที่การพัฒนาประสิทธิภาพเป็นหลักภาคอุตสาหกรรมของไทยอาศัยการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศมากกว่าการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นของตนเอง และอาศัยจุดเด่นเรื่องค่าแรงถูกรวมถึงนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน และมาตรการส่งเสริมการลงทุน

อย่างไรก็ดี รูปแบบการพัฒนาทางเศรษฐกิจแบบเดิมไม่สามารถที่จะผลักดันประเทศไทยให้ก้าวต่อไปในอนาคตได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากสาเหตุสำคัญหลายประการไม่ว่าจะเป็นอัตราค่าจ้างที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ได้ลดจุดเด่นในเรื่องของค่าแรงของไทย หรือการเข้าสู่สังคมสูงวัยเร็วกว่าประเทศกำลังพัฒนาชาติอื่นจะทำให้ประเทศไทยประสบกับสภาวะขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรงในอนาคตอันใกล้

การพัฒนาเศรษฐกิจโดยไม่เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองทำให้ประเทศไทยได้รับผลประโยชน์น้อย เนื่องจากส่วนแบ่งผลประโยชน์ทางด้านเทคโนโลยีซึ่งมีมูลค่าเพิ่มสูงตกอยู่กับประเทศเจ้าของเทคโนโลยี อีกทั้ง การกดค่าแรงให้อยู่ในระดับต่ำเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของคนในประเทศทวีความรุนแรงขึ้นด้วยเหตุนี้ กำลังซื้อของคนในประเทศจึงไม่เพียงพอที่จะตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างเพียงพอ ประเทศไทยจึงต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นกลจักรสำคัญแทนส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีความอ่อนไหวต่อความผันผวนของเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก

บทเรียนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่มีระดับการพัฒนาการทางเศรษฐกิจสูงกว่าไทย เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ชิลี และมาเลเซีย บ่งชี้ว่าการพัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืนควรมุ่งเน้นการพัฒนาบนพื้นฐานขององค์ความรู้และการพัฒนานวัตกรรมเป็นหลัก นอกจากนี้ภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมในทิศทางดังกล่าว

เมื่อย้อนกลับมาดูนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐของไทยที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมภาคเอกชนจะพบว่าภาครัฐได้มีนโยบายสนับสนุนจำนวนมาก อาทิเช่น มาตรการลดหย่อนทางภาษี การจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (Thailand Science Park) เป็นต้นแต่นโยบายสนับสนุนต่างๆ กลับขาดประสิทธิผล ดัชนีชี้วัดสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนา 3 ตัว อันได้แก่ 1) สัดส่วนจำนวนนักวิจัยและช่างเทคนิคต่อจำนวนประชากร 2) สัดส่วนรายจ่ายเพื่อการลงทุนทางด้านวิจัยและพัฒนาต่อจีดีพี 3) สัดส่วนการลงทุนในการทำวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนต่อภาครัฐ ของประเทศไทยมีค่าต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน หมายความว่านโยบายสนับสนุนในปัจจุบันยังไม่เพียงพอที่จะผลักดันให้ประเทศปรับเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่รูปแบบที่เหมาะสม

แม้ว่านโยบายสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมมีช่องว่างในการพัฒนาอยู่ค่อนข้างมาก แต่ผู้เขียนมีความเห็นว่า ลำพังการพัฒนานโยบายสนับสนุนเพียงอย่างเดียวนั้นไม่พอต่อการผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจไปยังเป้าหมายใหม่ได้

ผู้เขียนร่วมกับนักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยอีก 3 ท่าน ทำการศึกษาข้อมูลบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อหามูลเหตุสำคัญที่ภาคธุรกิจไม่ทำวิจัยและพัฒนาหรือทำในระดับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

ผลการศึกษาสะท้อนความเป็นจริงที่สำคัญว่า การปรับปรุงนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะปรับเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจในปัจจุบัน เนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานอื่นที่ทำลายแรงจูงใจในการพัฒนาตนเองผลการศึกษาบ่งชี้ว่า แม้ว่าธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งจัดได้ว่าเป็นธุรกิจระดับแนวหน้าของประเทศไทย เป็นกลุ่มธุรกิจที่น่าจะเป็นผู้นำในการทำวิจัยและพัฒนาเป็นกลุ่มแรก แต่กลับทำวิจัยและพัฒนาในระดับที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ปัญหาดังกล่าวเกิดจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ 2 ประการ คือ การเป็นธุรกิจที่มีสัดส่วนการขายสินค้าให้กับภาครัฐในระดับสูง และการเป็นธุรกิจที่อาศัยใบอนุญาตพิเศษจากภาครัฐในการดำเนินธุรกิจ

ธุรกิจจำนวนไม่น้อยได้รับผลประโยชน์จากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ทางตรง เช่น การขายสินค้าให้กับภาครัฐ หรือทางอ้อม คือการได้อำนาจในการครอบครองตลาดจากการกำหนดใบอนุญาตธุรกิจเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะทำวิจัยและพัฒนาในระดับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เพราะธุรกิจดังกล่าวได้รับผลประโยชน์ที่ค่อนข้างแน่นอน สามารถสร้างรายได้จากความสัมพันธ์ และไม่ต้องแข่งขันกับธุรกิจรายอื่นๆ มากนัก

ด้วยเหตุนี้เอง บทบาทของภาครัฐในการสนับสนุนภาคธุรกิจให้พัฒนาบนพื้นฐานของการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมจึงต้องทำมากกว่าการพัฒนานโยบายส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐที่เกี่ยวข้อง หากแต่ต้องมีการพิจารณาถึงความเหมาะสมของการออกใบอนุญาตในการดำเนินธุรกิจ เช่น ในอุตสาหกรรมพลังงาน โทรคมนาคม และภาคการเงิน เป็นต้น รวมทั้งควรปรับปรุงความโปร่งใสและเป็นธรรมในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยพิจารณาในบริบทของการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมภาคเอกชนเป็นสำคัญ ตัวอย่างเช่น การออกข้อกำหนดในใบอนุญาตควรมีเหตุผลที่ชัดเจนและเป็นธรรม การจัดซื้อจัดจ้างควรให้แต้มต่อ เพื่อสนับสนุนธุรกิจที่พัฒนานวัตกรรมด้วยตนเอง มากกว่าธุรกิจที่ไม่มีการทำนวัตกรรมใดๆ หรือธุรกิจที่ซื้อนวัตกรรมจากต่างประเทศมาใช้ เป็นต้น

——————-

ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 26 มีนาคม 2558 ใน “ ภาครัฐจะปรับตัวอย่างไรเพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมให้กับภาคธุรกิจ