tdri logo
tdri logo
27 มีนาคม 2015
Read in Minutes

Views

ทีดีอาร์ไอชี้ มติจัดสรร 4G มีแต่ “เซอร์ไพรซ์” คาดการณ์ไม่ได้และไม่แน่นอน

สมเกียรติ ทีดีอาร์ไอชี้วิธีการจัดสรรคลื่น 4G ยังไม่ชัดเจน การให้นำคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์มาจัดสรรด้วยเป็น “เซอร์ไพรซ์ใหม่” ของคณะกรรมการเตรียมการดิจิทัลฯ ที่ควรเก็บเอาไว้ก่อน คำว่า “ประมูล” ในร่างพ.ร.บ.กสทช.ล่าสุดยังคลุมเครือ จี้รัฐบาลออกมาชี้แจงให้ชัดว่าจะจัดสรร 4G ด้วยวิธีใด

somkiat-620x465
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)(ที่มารูปภาพ: thainetizen.org/)

จากมติที่ประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมซึ่งได้ประชุมนัดแรกเมื่อวานนี้ (18 มี.ค.) โดยเห็นชอบให้กสทช.เดินหน้าจัดประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่เพื่อให้บริการระบบ 4G  ทว่าไม่ได้จำกัดเฉพาะคลื่นความถี่ 900 และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ อย่างที่กสทช.เคยวางแผนไว้ แต่เปิดกว้างให้นำคลื่นย่านอื่นที่เหลืออยู่ เช่น คลื่น 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ซึ่งปัจจุบันอยู่ในความครอบครองของอสมท.มาประมูลได้ด้วย โดยให้เหตุผลว่าคลื่นความถี่ย่าน 900 และ 1800 เมกะเฮิรตซ์มีแบนด์วิธน้อยและอาจทำให้ไม่ได้ความเร็วอย่างที่ควรนั้น

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ภายหลังงานสัมมนา “กฎหมาย Digital Economy:ส่งเสริมหรือสวนทางการปฏิรูป” ที่รัฐสภาวันนี้ว่า การให้นำคลื่น 2600 เมกะเฮิร์ตซ์มาร่วมประมูลด้วยอาจมีปัญหาเพราะคลื่น 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ยังอยู่ในความครอบครองของอสมท. ซึ่งจะต้องเจรจาเรื่องสิทธิในคลื่นกันอีก

ทางด้านนพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้สัมภาษณ์ว่า การให้นำคลื่น 2600 เมกะเฮิร์ตซ์มาร่วมประมูลด้วยอาจมีปัญหาเรื่องว่าอสมท.จะยอมคืนคลื่นหรือไม่ แม้ว่าในมุมของกสทช.จะมองว่าอสมท.หมดสิทธิในคลื่นดังกล่าวแล้วก็ตาม

นอกจากนี้ ยังไม่แน่ชัดว่าสมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ตที่ใช้ในปัจจุบันจะรองรับคลื่น 2600 เมกะเฮิร์ตซ์หรือไม่ ขณะอุปกรณ์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันรองรับคลื่น 900 และ 1800 เมกะเฮิรตซ์หมดแล้ว

ทั้งนี้ สมเกียรติกล่าวว่า การให้นำคลื่น 2600 เมกะเฮิร์ตซ์มาร่วมประมูลเป็น “เซอร์ไพรซ์” ใหม่ของคณะกรรมการเตรียมการดิจิทัลฯ ที่คาดว่าจะมีตามมาอีกเรื่อยๆ ความน่าประหลาดใจเช่นนี้เป็นสิ่งตรงกันข้ามกับความแน่นอน (certainty) และความคาดหมายได้ (predictability) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง เพราะผู้ประกอบการต้องอาศัยปัจจัยทั้งสองในการวางแผนการลงทุน

ส่วนวิธีการจัดสรรคลื่น 4G นั้น สมเกียรติเห็นว่า ตอนนี้ การเห็นชอบให้จัด “ประมูล” 4G ของคณะกรรมการเตรียมการฯ ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะเป็นการจัดสรรโดยใช้วิธีใดเมื่อดูจากร่างพ.ร.บ.กสทช.ฉบับล่าสุด ซึ่งตนคาดว่าร่างกฎหมายซึ่งไม่มีความแน่นอนนี้จะผ่านออกมาบังคับใช้ก่อนที่จะเกิดการประมูลเดือนสิงหาคมปีนี้

ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.กสทช.ฉบับล่าสุดยังไม่ได้ระบุชัดเจนว่าการจัดสรรคลื่นโทรคมนาคมจะใช้วิธีการใด แต่ในสรุปสาระสำคัญของร่างกฎหมายที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกามีระบุไว้ว่า การจัดสรรคลื่นโทรคมนาคมเชิงพาณิชย์ ให้ทำโดยวิธีการประมูล “แต่หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะและประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับ โดยจะคำนึงถึงจำนวนเงินที่เสนอให้แต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้” (สรุปสาระสำคัญฯ ข้อ 4)

สมเกียรติเสนอว่า รัฐบาลต้องออกมาประกาศใช้ชัดเจนว่าการจัดสรรคลื่น 4G จะทำโดยวิธีใด โดยไม่ต้องรอร่างพ.ร.บ.กสทช.ที่จะออกมา และในร่างพ.ร.บ.กสทช.จะต้องมีบทเฉพาะกาลระบุว่า จะยังไม่บังคับใช้จนกว่าการจัดสรร 4G จะเสร็จสิ้นแล้ว

สมเกียรติยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า จนถึงตอนนี้ คณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลฯ ดังกล่าวยังไม่มีอำนาจตามกฎหมายเลย เนื่องจากกฎหมายที่ให้อำนาจคณะกรรมการฯ ยังไม่ออกมา แต่วานนี้ได้มีการสั่งการบ้านกสทช.ไปแล้ว ในอนาคตยังไม่มีการรับประกันด้วยว่า คณะกรรมการชุดนี้จะไม่เข้าไปแทรกแซงการทำงานใดๆ ของกสทช.

—————————–

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในเว็บไซต์ thainetizen วันที่ 27 มีนาคม 2558 ใน “ทีดีอาร์ไอชี้ มติจัดสรร 4G มีแต่ “เซอร์ไพรซ์” คาดการณ์ไม่ได้และไม่แน่นอน”

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด