ทีดีอาร์ไอเผยหนี้ครัวเรือนไทยพุ่งสูงเท่าประเทศพัฒนา เหตุบัตรเครดิตสารพัดด่วนแพร่จากเมืองถึงชนบทแล้ว ดัน สศก.นำร่องโครงการลดความยากจนเกษตรกรและวิจัยควบคู่
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงการจัดการหนี้สินครัวเรือนเพื่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืนว่า ปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำปีละเกือบ 1 ล้านล้านบาท รัฐได้แจกสิทธิ์ในการทำประโยชน์ในที่ดิน (ส.ป.ก.) ไปแล้ว 34.7 ล้านไร่ กว่า 2.6 ล้านครัวเรือน นโยบายสินเชื่อและการพักชำระหนี้กลายเป็นเครื่องมือของนักการเมือง ซึ่งการพักชำระหนี้ไม่มีผลต่อการเติบโตการบริโภค กู้เพิ่มก็ไม่ได้ การพักชำระหนี้มีผลต่อการสะสมทุนของครัวเรือนเกษตรกรที่มีอาชีพเสริมนอกภาคเกษตร ต่างจากครัวเรือนที่มีแต่อาชีพเกษตรที่ไม่ได้ผลเท่าที่ควร รายงานของสำนักงานโครงการพักชำระหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ข้อสรุปผลการดำเนินงานว่า แค่ช่วยลดความเครียด ไม่ให้ล้มละลายเท่านั้น
ภาวะหนี้ครัวเรือนเกษตรกรไทยเพิ่มขึ้นทั้งครัวเรือนยากจนและไม่จน หนี้สินครัวเรือนเพิ่มอย่างน่าตกใจ โดยเฉพาะหนี้ของครัวเรือนยากจน หนี้ 53% เป็นหนี้กึ่งในระบบประเภทบัตรเครดิตที่ระดมปล่อยกู้กันมากจากที่เริ่มในเมือง ขณะนี้ลามถึงชนบทแล้ว ปัจจุบันครัวเรือนไทยมีสัดส่วนหนี้ 83% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เท่ากับสหรัฐอเมริกาแต่สูงกว่าญี่ปุ่น
ในส่วนการประเมินกองทุนหมู่บ้าน แม้จะมีหนี้เสียค่อนข้างต่ำและเป็นไปตามความต้องการของชาวบ้าน แต่การให้สินเชื่ออย่างเดียวลดความยากจนไม่ได้ การให้ไปทำอาชีพเกษตรเพิ่มมีปัญหาต้องใช้แรงงานมาก และขาดแคลนแรงงาน
สำหรับแนวทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืนนั้น ดร.นิพนธ์กล่าวว่า ต้องไม่ก่อหนี้เพิ่ม ถ้ามีหนี้ก็ต้องลดรายจ่าย ซึ่งดูเหมือนจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ต้องมีการให้ความรู้ทางด้านบัญชีและการเงิน เพราะคนไทยมีปัญหาขาดความรู้การคิดเรื่องอัตราดอกเบี้ยทบต้นอย่างรุนแรง ฉะนั้นนโยบายที่สำคัญคือการสร้างความรู้ทางการเงินให้เด็กตั้งแต่อายุ 3-6 ขวบ ต้องเริ่มเอาใจใส่ แม้นักการเมืองไม่ชอบ ส่วนนโยบายแก้ปัญหาความยากจนแม้ความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ 2 ฝ่ายจะเห็นต่างกัน ทั้งการสนับสนุนการให้เงินช่วยเหลือคนจนกับอีกฝ่ายไม่สนับสนุน แต่ผลการวิจัยพบว่าทั้งสองฝ่ายมีส่วนถูก ดังนั้นสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ควรริเริ่มโครงการลดความยากจนของเกษตรกรโดยทำวิจัยระยะยาวอย่างน้อย 5-8 ปี เพื่อนำมาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
————————
หมายเหตุ: พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 30 มีนาคม 2558 ในชื่อ “หนี้ครัวเรือนไทยพุ่งเท่าสหรัฐ จี้สศก.ทำโครงการลดยากจน”