เมื่อเครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นต้องฟื้นฟูกิจการ

ปี2015-03-31

ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

Nuttanan Wichitaksorn
ดร.ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร, นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ

นับเป็นข่าวใหญ่ในหนังสือพิมพ์หลายฉบับต่อกรณีที่ศาลล้มละลายกลางได้อนุมัติการเข้าฟื้นฟูกิจการของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด (ต่อไปนี้เรียกสั้นๆ ว่า “ยูเนี่ยนคลองจั่น”) หากไม่นับเรื่องการทุจริตของอดีตประธานและเงินบริจาคแก่วัดธรรมกายแล้ว การเข้าฟื้นฟูกิจการจากภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวของยูเนี่ยนคลองจั่นยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกหลายประการ อาทิ ความเป็นสถาบันการเงินของยูเนี่ยนคลองจั่น ความเข้าใจของสมาชิกในฐานะลูกหนี้ เจ้าหนี้ และเจ้าของ จำนวนเจ้าหนี้ที่มีมากและอาจโยงกันเป็นลูกโซ่ และแนวทางการฟื้นฟูกิจการตามแผน เป็นต้น

สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ลักษณะหนึ่งที่สมาชิกมักเป็นกลุ่มคนที่มีกิจกรรมร่วมกันหรือมีที่พักอาศัยในเขตหรือย่านเดียวกัน เช่น ยูเนี่ยนคลองจั่นที่มีสมาชิกอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ต่างจากสหกรณ์ออมทรัพย์อีกลักษณะหนึ่งที่มีสมาชิกเป็นกลุ่มคนที่มาจากอาชีพเดียวกันหรือที่ทำงานเดียวกัน เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัทการบินไทย เป็นต้น ในแง่ของการดำเนินงานแล้ว สหกรณ์ทั้งสองลักษณะนี้ไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก ผู้เขียนขอรวมเรียกสหกรณ์ทั้งสองลักษณะนี้ว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ แรงจูงใจสำคัญในการเป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์คือ อัตราเงินปันผลที่จูงใจ อัตราดอกเบี้ย (เงินฝากและเงินกู้) ที่ดีกว่าตลาด และกระบวนการกู้เงินที่ง่ายกว่าธนาคารพาณิชย์ หลักประกันสำคัญที่ใช้ในการขอกู้ (สามัญ) คือ การค้ำประกันโดยสมาชิกรายอื่น ขณะที่วงเงินในการกู้นั้นจะผูกอยู่กับมูลค่าหุ้นของสมาชิก หากสมาชิกรายใดฝากเงินและกู้เงินกับสหกรณ์ เขาจะเป็นทั้งลูกหนี้ เจ้าหนี้ และเจ้าของ

เท่าที่ทราบ ยูเนี่ยนคลองจั่นเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกที่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการผ่านศาลฯ นับตั้งแต่ปรับปรุงกฎหมายในช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ประเด็นที่น่าคิดคือ ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พยายามอย่างมากที่จะไม่ให้สถาบันการเงินที่เป็นธนาคารพาณิชย์ล้มละลาย หากเห็นธนาคารใดเริ่มมีฐานะง่อนแง่น ธปท. จะรีบเข้าไปแทรกแซงและฟื้นฟูกิจการด้วยตนเอง นอกจากนั้นแล้ว กฎหมายประกันเงินฝากยังคุ้มครองผู้ฝากเงิน (ในวงเงินไม่เกินห้าสิบล้านบาทในปัจจุบัน) ทำให้ความกังวลของผู้ฝากเงินลดลง ยิ่งไปกว่านั้น กฎหมายกำกับดูแลสถาบันการเงินที่กำลังจะออกใหม่นั้นยังทำให้ธนาคารพาณิชย์ล้มยากขึ้น เราอาจไม่มีโอกาสเห็นการฟื้นฟูกิจการของธนาคารพาณิชย์ผ่านศาลฯ เพราะการฟูมฟักของ ธปท. ที่เป็นทั้งผู้กำหนด(นโยบาย) และผู้กำกับ(การดำเนินงาน) ขณะที่ผู้ฝากเงินในสหกรณ์ออมทรัพย์(ซึ่งรวมถึงยูเนี่ยนคลองจั่น) นั้นไม่ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายประกันเงินฝากทั้งๆ ที่เป็นสถาบันการเงินรูปแบบหนึ่ง การกำกับดูแลจาก ธปท. จึงเป็นไปแบบห่างๆ อย่างห่วงๆ ดังนั้น การฟื้นฟูกิจการผ่านศาลฯ ของยูเนี่ยนคลองจั่นน่าจะเป็นตัวอย่างสำคัญต่อสถาบันการเงินอื่นๆ ที่มิได้อยู่ภายใต้อาณัติของ ธปท.

ด้วยเหตุที่สหกรณ์ออมทรัพย์เป็นสถาบันการเงินที่ไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างเต็มรูปแบบเหมือนธนาคารพาณิชย์ การระดมเงินฝากและการทำธุรกรรมบางประเภทก็ถูกจำกัดไปโดยปริยาย สหกรณ์ออมทรัพย์หลายแห่งเลือกที่จะกู้จากสหกรณ์อื่นและมาปล่อยกู้ต่อให้แก่สมาชิกของตน การกู้ยืมกันไปมาเช่นนี้อาจส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่เมื่อสหกรณ์หนึ่งประสบปัญหา ดังเช่นในกรณีของยูเนี่ยนคลองจั่น

ยูเนี่ยนคลองจั่นมีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์อยู่ถึง 19,534 ล้านบาท (จากหนี้สินประมาณ 21,934 ล้านบาท) ส่วนของผู้ถือหุ้นที่ติดลบอย่างมหาศาลนี้ทำให้ความเป็นเจ้าของของสมาชิกหายไป เหลือเพียงแต่สถานะลูกหนี้(หากกู้เงิน) และเจ้าหนี้(หากฝากเงิน) ในส่วนของลูกหนี้นั้น สมาชิกอาจไม่กังวลเท่าใดนักเนื่องจากทางยูเนี่ยนคลองจั่นอาจไม่สามารถเร่งรัดให้ชำระหนี้ทั้งหมดได้ในเวลาอันสั้น ส่วนที่เป็นปัญหาและอาจทำให้สมาชิกขมขื่นที่สุดคือ สถานะเจ้าหนี้เงินฝากที่นอกจากจะไม่ได้รับการคุ้มครองแล้ว เงินออมที่ตนฝากไว้กับยูเนี่ยนคลองจั่นอาจได้รับคืนเพียงร้อยละ 10 (ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์)

หลังจากที่ศาลฯ อนุมัติให้ยูเนี่ยนคลองจั่นเข้าฟื้นฟูกิจการไปเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2558 คณะผู้ทำแผน (ซึ่งเป็นคณะกรรมการสหกรณ์ชุดปัจจุบัน) มีเวลา 3 เดือนในการจัดทำแผนและต้องให้เจ้าหนี้จำนวน 2 ใน 3 ของเจ้าหนี้ทั้งหมดเห็นด้วยกับแผน ขั้นตอนการทำแผนเป็นขั้นตอนที่ยากอีกขั้นตอนหนึ่ง ด้วยเหตุที่ว่าผู้ทำแผนต้องจัดทำแผนให้เป็นที่พึงพอใจแก่เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ (ยูเนี่ยนคลองจั่นมีเจ้าหนี้ที่เป็นสมาชิกผู้ฝากเงินและสหกรณ์แห่งอื่นๆ รวมกันนับหมื่นราย) การประนอมหนี้ที่มักใช้กันเป็นอันดับแรกคือ การขอลดหนี้ ยูเนี่ยนคลองจั่นก็อาจขอลดหนี้โดยจ่ายคืนเพียงร้อยละ 10 ของจำนวนหนี้ (เช่นเดียวกับเจ้าหนี้เงินฝากจากสมาชิก) ประเด็นดังกล่าวทำให้เจ้าหนี้หลายรายซึ่งเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์เริ่มออกมาเคลื่อนไหวเพราะหนี้ที่หายไปถึงร้อยละ 90 ย่อมส่งผลถึงสถานะทางการเงินของตนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มิหนำซ้ำบางรายยังต้องการให้ยูเนี่ยนคลองจั่นชำระหนี้คืนภายในหนึ่งเดือน (ซึ่งอาจเป็นไปได้ยาก) ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ซึ่งเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์มักปล่อยกู้แบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันทำให้มีสิทธิมีเสียงรองลงมา

อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญของแผนคือ การฟื้นฟูกิจการตามแผนที่มีกรอบเวลา 5 ปี ณ ขณะนี้รายละเอียดของแผนยังไม่ปรากฏและคงต้องติดตามดูเมื่อครบกำหนด 3 เดือน อย่างไรก็ตาม ผู้ทำแผนของยูเนี่ยนคลองจั่นกล่าวในเบื้องต้นว่าขณะนี้ยูเนี่ยนคลองจั่นมีสภาพคล่องอยู่ประมาณ 1,000 ล้านบาทและอาจได้รับเงินคืนจากวัดธรรมกายอีกเดือนละ 100 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังมีเงินสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีก 5,000 ล้านบาท กระนั้นก็ตาม เจ้าหนี้บางรายยังมองไม่เห็นหนทางว่ายูเนี่ยนคลองจั่นจะจัดการกับหนี้กว่า 22,000 ล้านบาทได้อย่างไร

ในมุมของผู้เขียน แนวทางในการทำแผนและฟื้นฟูกิจการที่น่าจะเป็นไปมากได้ที่สุดคือ เริ่มจากขอประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ หากขอลดหนี้ไม่ได้มากก็ควรจะขอยืดระยะเวลาการชำระหนี้ออกไป ขณะเดียวกันก็พิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้ยูเนี่ยนคลองจั่นมีกระแสเงินสดหมุนเวียนมากขึ้นในแต่ละเดือนและลดต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง หากเป็นไปได้อาจต้องมีตัวแทนเจ้าหนี้มาอยู่ร่วมในคณะผู้ดำเนินงานตามแผนเพื่อสร้างความมั่นใจแก่เจ้าหนี้ ประเด็นที่สำคัญมากอีกประการหนึ่งคือ ยูเนี่ยนคลองจั่นต้องปรับปรุงเรื่องธรรมาภิบาลในการดำเนินงานของตนเพราะปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมาจากการทุจริตของอดีตประธาน หากปรับปรุงเรื่องธรรมาภิบาลและสามารถฟื้นฟูกิจการกลับมาได้ ยูเนี่ยนคลองจั่นจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการดำเนินงานต่อสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์อื่นๆ ที่กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ควรให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น ปัญหาการทุจริตและธรรมาภิบาลเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ขบวนการสหกรณ์ของไทยไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร