บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวของไทย ไม่พอและไม่พร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปลายปีนี้ (ตอนที่ 1)

ปี2015-03-12

 

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย



บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวของไทย ไม่พอและไม่พร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปลายปีนี้


เป็นที่ทราบกันแล้วว่า อาเซียนได้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยว 5 ปี ซึ่งปี 2558 นี้จะเป็นปีสุดท้ายของแผนฯ ส่วนหนึ่งของแผนของอาเซียนที่สำคัญคือ มีความพยายามร่วมกันในการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว การบริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวดังกล่าวยังไม่เป็นที่รู้จักและขาดทรัพยากรสนับสนุนจนไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรในการเตรียมความพร้อมของประเทศสมาชิกด้านบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานสำคัญในธุรกิจโรงแรม ภัตตาคาร และการท่องเที่ยว

ผลการศึกษาของ  รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ และคณะ จากทีดีอาร์ไอ ที่ทำให้กับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า ประเทศไทยไม่มีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรวิชาชีพท่องเที่ยวโดยตรง แต่ที่จริงตลาดแรงงานไทยมีผู้สนใจทำงานด้านโรงแรมถึง 2.7 แสนคน ตัวแทนท่องเที่ยว 0.62 แสนคน และทำงานด้านที่เกี่ยวข้องกับอาหารและภัตตาคารสูงถึง 1.9 ล้านคน  โดยในปี 2556  พบว่า มีนักเรียนระดับ ปวช.ปีสุดท้ายประเภทวิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมากกว่า 1.3 หมื่นคน  ระดับ ปวส.มากกว่า 1.6 หมื่นคน และจบสาขาเกี่ยวกับโรงแรมและการท่องเที่ยวอีกมากกว่า 6,500 คน ซึ่งผู้จะจบการศึกษาเหล่านี้ จะถูกดูดซับเข้าไปในตลาดแรงงานไม่หมด เนื่องจากผู้เรียนบางคนเห็นว่าการเรียนสาขานี้ เรียนง่าย-จบง่าย แต่ไม่ได้ตั้งใจจริงที่จะทำงานอย่างจริงจังในสาขาที่เกี่ยวข้องกับโรงแรม ภัตตาคาร และการท่องเที่ยว หรือบางคนหันไปเรียนต่อระดับปริญญาโทในสาขาอื่น ๆ แทน ทำให้กิจการด้านนี้ขาดแคลนแรงงาน และคงไม่แปลกใจที่เห็นแรงงานจากประเทศในกลุ่มอาเซียนเริ่มทยอยเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ  โดยเฉพาะจากประเทศฟิลิปปินส์และเวียดนาม เป็นต้น ขณะที่การเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพของไทยไปยังอาเซียนยังคงมีไม่มากนัก และส่วนใหญ่ไปทำงานในสาขาโรงแรมที่สิงคโปร์และร้านอาหารในมาเลเซีย

จากการศึกษาผลกระทบเชิงลึก พบว่า    เหตุผลหนึ่งที่ประเทศไทยขาดแคลนบุคลากรระดับต่าง ๆ ในภาคบริการนี้  เป็นเพราะว่าสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องสาขาโรงแรมและการท่องเที่ยวซึ่งในปี 2557 มีจำนวนมากกว่า 13,000 แห่ง จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ความต้องการแรงงานในกลุ่มนี้มีประมาณ 2.7 หมื่นคนต่อปี และยังไม่สามารถหาคนบรรจุได้ภายใน 6 เดือน ซึ่งอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงานสูงถึง 1.7 หมื่นคน ซึ่งถ้าพิจารณาจากความต้องการของบุคลากรที่เกี่ยวข้องมีภาพข้อได้เปรียบและเสียเปรียบของแรงงานไทย ดังนี้

 

สาขา                                   ข้อได้เปรียบ                           ข้อเสียเปรียบ
โรงแรม
  • ลักษณะการบริการแบบ Thainess และ Service Mind
  • วัฒนธรรมไทยที่เป็นเอกลักษณ์ เอื้อต่อการทำงานของบุคลากรวิชาชีพท่องเที่ยว
  • มีสถานศึกษาที่เปิดการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องอย่างหลากหลาย
  • ภาษาและการสื่อสาร
  • ยังคงมีการขาดแคลนบุคลากรในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ
  • ทัศนคติของคนรุ่นใหม่ที่เลือกงานและต้องการเรียนสูง
ท่องเที่ยว
  • ความใส่ใจในการพัฒนาระบบมาตรฐานวิชาชีพของภาครัฐ
  • ประเทศไทยมีรูปแบบการท่องเที่ยวที่หลากหลาย รวมถึงวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์
  • ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ส่งผลโดยตรงต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศ
  • นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ขาดความต่อเนื่อง
  • ศักยภาพของผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการประเภท SMEs จึงทำให้มีทุนน้อย
  • บุคลากรยังขาดความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมประเทศสมาชิก
  • ความไม่เคร่งครัดในการบังคับใช้กฎหมาย

ที่มา : จากการศึกษาของผู้เขียนให้กับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ถ้าจะให้ประเมินคุณภาพของแรงงานไทยแล้ว จากการศึกษาพบว่า  แรงงานไทยไม่ค่อยมีสมรรถนะในวิชาชีพโดดเด่นมากนัก โดยเฉพาะด้านทักษะการแก้ปัญหา ทักษะคอมพิวเตอร์ การทำงานร่วมกันเป็นทีม  เทคนิคการปฏิบัติงาน และที่สำคัญเหนืออื่นใดที่เป็นจุดอ่อนของบุคลากรในวิชาชีพนี้ของไทยคือ อ่อนภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ และความสามารถในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะสาขาโรงแรม ภัตตาคาร และร้านอาหาร คนไทยมีสมรรถนะไม่เป็นไปตามความคาดหวังของผู้ประกอบการมากที่สุด แต่ถ้าพิจารณาเฉพาะด้านท่องเที่ยวแล้ว จะพบว่า แรงงานไทยระดับฝีมือและผู้เชี่ยวชาญ มีปัญหามากที่สุด ที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวังของผู้ใช้

จากข้อเท็จจริงที่พบจึงอาจจะฟันธงได้ว่า แรงงานไทยขาดแคลนทั้งในด้านจำนวนและคุณภาพ ถ้าหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาปล่อยเลยตามเลยก็จะพบว่า การเป็นประชาคมอาเซียน ส่งผลให้ธุรกิจด้านโรงแรม ภัตตาคาร และการท่องเที่ยวจะเติบโตมากยิ่งขึ้น แต่คนไทยอาจจะไม่สามารถตักตวงผลประโยชน์ที่พึงได้มากเท่าที่ควร ถ้ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาไม่ให้ความสนใจกับ “คนทำงานด้านโรงแรม ภัตตาคาร และการท่องเที่ยว”.

———–

อ่าน ตอนที่ 2 การเตรียมความพร้อมบุคลากรท่องเที่ยวไทย

อ่าน ตอนที่ 3 การเตรียมความพร้อมบุคลากรท่องเที่ยวไทย