นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล กับการจัดสรรคลื่น 4G ของรัฐบาลประยุทธ์

ปี2015-03-16

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

เศรษฐกิจดิจิทัล คือ เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในภาคการผลิตต่างๆ อย่างเข้มข้น ทำให้ประเทศไทยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความสามารถในการแข่งขันได้   เศรษฐกิจดิจิทัลแบบใหม่ (New Digital Economy) ในปัจจุบัน แตกต่างจากเศรษฐกิจดิจิทัลแบบเดิม (Old Digital Economy) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 2 ทศวรรษแล้ว กล่าวคือ ในขณะที่เศรษฐกิจดิจิทัลแบบเดิมเกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต  เศรษฐกิจดิจิทัลแบบใหม่เกิดจากการใช้สมาร์ทดีไวซ์ (smart device) เช่น สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต  ซึ่งติดต่อสื่อสารกันผ่านเครือข่ายไร้สายความเร็วสูง (wireless broadband) เช่น 3G

การที่สมาร์ทดีไวซ์ใช้งานได้ง่ายกว่าคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมาก ทำให้เกิดการใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าวในวงกว้าง แม้กระทั่งในหมู่ของผู้ที่ไม่เคยใช้คอมพิวเตอร์หรืออินเทอร์เน็ตมาก่อน  และทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ มากมายในแทบทุกสาขาเศรษฐกิจ แม้กระทั่งบริการแท็กซี่ ดังตัวอย่างของ Uber และบริการในลักษณะเดียวกัน

มีการประมาณการว่า ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีสมาร์ทดีไวซ์ประมาณ 30-33 ล้านเครื่อง และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 65 ล้านเครื่องหรือประมาณ 2 เท่าในอีก 4 ปีหน้า ซึ่งจะทำให้เกิดความต้องการใช้คลื่นความถี่เพิ่มขึ้นอีกมาก จนเกินกว่าบริการ 3G จะรองรับได้ การใช้สมาร์ทดีไวซ์ในระดับสูงดังกล่าวยังแสดงให้เห็นว่า คนไทยมีความพร้อมในการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลแบบใหม่มากพอสมควร

การที่รัฐบาลประยุทธ์ประกาศนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลจึงเป็นการส่งสัญญาณที่ดีมากและเป็นการประกาศนโยบายที่ออกมาถูกที่และถูกเวลา อย่างไรก็ตาม ปัญหาคือ มาตรการส่วนใหญ่ของรัฐบาลที่กำหนดขึ้นมา ไม่ได้ช่วยส่งเสริมการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล เพราะมุ่งใช้กลไกภาครัฐซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อน ในขณะที่ละเลยกลไกตลาด ตลอดจนไม่มีมาตรการลดอุปสรรคต่างๆ ในการประกอบธุรกิจ นอกจากนี้ ท่าทีของคสช. และรัฐบาลต่อการจัดสรรคลื่น 4G ยังสวนทางกับการมุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิทัลแบบใหม่ โดย คสช. มีคำสั่งเมื่อเดือนมิถุนายน 2557 ให้ กสทช. ชะลอการประมูลคลื่น 4G ออกไปถึง 1 ปี โดยไม่ได้ให้เหตุผลที่ชัดเจนในการมีคำสั่งดังกล่าว

ย้อนหลังไปเมื่อปี 2555  กสทช. ได้เคยเตรียมการประมูล 4G  โดยเตรียมนำเอาคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ของบริษัท True Move ที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานมาประมูล  แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ประมูล เพราะ กสทช. มีมติให้ขยายเวลาการให้บริการของ True Move ตามสัมปทานออกไป โดยอ้างว่าไม่สามารถจัดการประมูลได้ทัน ซึ่งก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์มากมาย    การประมูลคลื่น 4G ยังล่าช้าออกไปอีกครั้งเมื่อ คสช. มีคำสั่งเมื่อเดือนมิถุนายน 2557 ให้ชะลอการประมูลออกไปอีก 1 ปีดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น    แม้ในเดือนธันวาคม 2557 กสทช. ได้ขออนุญาตให้มีการประมูลคลื่น ก็ยังไม่ได้รับคำตอบจาก คสช.  และประชาชนไม่เคยทราบเหตุผลของการที่ คสช. ยังไม่อนุญาตใหัมีการประมูลคลื่น 4G ซึ่งก่อให้เกิดการคาดเดาต่างๆ

การประมูลคลื่น 4G ล่าช้า ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการในตลาดโทรคมนาคมไทย ดังปรากฏว่า นักวิเคราะห์หลักทรัพย์เคยวิเคราะห์ว่า ผู้ประกอบการที่ได้ประโยชน์จากการประมูลที่ล่าช้าออกไปคือ True Move  ในขณะที่คู่แข่งอีก 2 รายเสียประโยชน์   ที่สำคัญ การประมูลคลื่นที่ล่าช้าก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อคนไทย ที่เสียโอกาสในการได้ใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น จนล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและกัมพูชา และทำให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศต้องล่าช้าออกไป ซึ่งขัดขวางนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

นอกจากนี้ ในระหว่างเวลาที่ คสช. ให้ชะลอการประมูลคลื่น 4G ออกไปนั้น ไม่ปรากฏว่า รัฐบาล และ คสช. ได้ดำเนินการอะไรเพื่อแก้ไขปัญหาของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย ซึ่งเกิดจากการแข่งขันที่จำกัดของผู้ประกอบการเพียง 3 รายคือ AIS, DTAC และ True Move เช่น ไม่ได้แก้ไขกฎหมายให้มีการเปิดเสรีตลาดโทรคมนาคมเพื่อให้มีผู้ประกอบการรายใหม่  และไม่ได้แก้ปัญหาธรรมาภิบาลของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. เลย   มีแต่การเร่งผลักดันกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งก็ไม่ได้ตอบโจทย์ในเรื่องดังกล่าว และเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิของประชาชนเกินสมควร   นอกจากนี้ คำสัมภาษณ์ของบุคคลที่เกี่ยวข้องในคณะรัฐมนตรีก็ยังเพิ่มความสับสนและความสงสัยให้มากขึ้นต่อเจตนาของรัฐบาล

ผู้เขียนทราบจากข่าวว่า จะมีการประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัลชุดชั่วคราว ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ 18 มีนาคมนี้   ผู้เขียนหวังว่า จะเกิดความชัดเจนในการประมูล 4G ในวันนั้น โดยนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้า คสช. จะใช้โอกาสดังกล่าวในการประกาศเลิกคำสั่งให้ชะลอการประมูลคลื่น 4G และส่งสัญญาณให้ กสทช. ดำเนินการจัดประมูลคลื่นโดยเร็ว   ในกรณีที่ยังไม่อนุญาตให้มีการประมูล 4G  ผู้เขียนก็หวังว่า ประชาชนจะได้ทราบเหตุผลอย่างชัดเจนว่า การประมูล 4G โดยเร็วนั้น จะก่อให้เกิดผลเสียต่อประเทศอย่างไร จึงสมควรต้องชะลอต่อไป