“อัมมาร” จี้รัฐใช้เทคโนโลยีแก้ “เกษตร – ชลประทาน”

ปี2015-04-12

“อัมมาร” ชี้ภาคการเกษตรไทยยังแข็งแกร่ง โครงสร้างมีการขยายตัวถึง 2% ต่อปี สูงกว่าภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ภาคบริการไม่ขยายตัวแต่ควรหยุดการสงเคราะห์หันมาส่งเสริมคุณภาพตามความต้องการของตลาดโลก เร่งศึกษาเรื่องน้ำและใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์

นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวแสดงความไม่เห็นด้วยกรณีที่หลายหน่วยงานระบุว่า ภาคเกษตรเป็นภาคที่อ่อนแอที่สุด แต่หากพิจารณาจากขีดความสามารถทางเศรษฐกิจแล้วภาคการเกษตรแข็งแกร่งมาก

ส่วนหนึ่งเพราะไทยมีความโชคดีที่มีทรัพยากรที่เอื้อต่อการทำการเกษตร พื้นที่ภาคเกษตรกรรมมีการขยายมากขึ้นเพื่อรองรับกับประชากรที่เพิ่มขึ้น แต่ภาคการเกษตรยังเป็นกลุ่มที่ยากจน เพราะรายได้รับไม่เพียงพอกับรายจ่ายและเป็นเหตุผลให้แรงงานภาคการเกษตรต้องย้ายไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ปัจจุบันภาคการเกษตรจึงมีเพียงแรงงานอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปเป็นส่วนใหญ่

“ช่วงที่เกิดภาวะฟองสบู่ ปี2538-2540 มีแรงงานอายุตั้งแต่ 15-35 ปี ไหลเข้าสู่ภาคการเกษตรมากขึ้น แต่พอเศรษฐกิจเริ่มดีคนกลุ่มนี้หายไปถึง 50% ภาวะแบบนี้เป็นเหมือนกันหมดทุกประเทศ แม้กระทั่งเวียดนามซึ่งผมถามว่าโตขึ้นอยากให้ลูกเป็นอะไร คำตอบที่ได้คือ ต้องไม่ใช่ชาวนา ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าชาวนารุ่นใหม่กำลังลดลง ในขณะที่พ่อค้ารุ่นใหม่ คือ คนที่ออกจากภาคการเกษตรทั้งนั้น” นายอัมมารกล่าว

นายอัมมารกล่าวว่า จากการติดตามด้านมหภาคของภาคการเกษตรตั้งแต่ยุคฟองสบู่จนถึงปัจจุบัน ทำให้รู้ว่าภาคการเกษตรนั้นสามารถขับเคลื่อนไปได้ด้วยตนเอง แต่ที่ขณะนี้ภาคการเกษตรมีปัญหาก็เพราะนโยบายของภาครัฐซึ่งเป็นนโยบายที่อ่อนแอมาก นักการเมืองเข้ามาแสวงหาประโยชน์ ต้องการคะแนนเสียงจากเกษตรกรเข้ามาลองของแล้วทิ้งปัญหาเอาไว้

ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีความจริงใจที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาภาคการเกษตรอย่างจริงจัง คือ อย่ามองภาคการเกษตรเป็นภาคที่อ่อนแอ เกษตรกรที่มีอยู่จำนวนมาก และเกิน 50% ที่ถือครองที่ดินทำกินมากกว่าเมื่อเทียบกับเกษตรกรของประเทศเพื่อนบ้านศักยภาพของเกษตรกรไทยสูงกว่า รวมทั้งมีขีดความสามารถในการขยายพื้นที่ได้มากกว่าด้วย

หากสำมะโนเกษตรกรจะพบว่า ที่ดินที่ดูเหมือนจะลดลงเพราะลูกหลานไม่ได้ทำเกษตรกรรมนั้น ส่วนหนึ่งได้ส่งต่อไปยังญาติคนอื่นๆ ที่ดินภาคการเกษตรไม่ได้สูญหาย แต่ขนาดของฟาร์มได้ขยายใหญ่ขึ้น แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของเขตเมือง แต่ผลพวงจากเกษตรกรลดจำนวนลงนั้นทำให้ขนาดของฟาร์มขยายมีการใช้เครื่องจักรกลมากขึ้น จะเห็นได้จากการผลิตข้าวในขณะนี้ไม่มีกิจกรรมใดที่ไม่ได้ถูกครอบงำโดยเครื่องจักร แม้กระทั่งการดำนาที่ยากยังต้องใช้เครื่องจักร

“ดังนั้นหากมองภาพใหญ่แล้ว ภาคการเกษตรปรับตัวได้ดีขึ้นมากกว่าภาคอุตสาหกรรมและมีศักยภาพ หากอัพเกรดภาคการเกษตรตามสภาพแรงงานที่ขาดแคลน พิจารณาความสามารถการผลิตข้าวเฉลี่ยต่อหัวแล้วเกษตรกรไทยสูงกว่าเวียดนามมาก แสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพของแรงงานไทยเราเพิ่มขึ้น จากการศึกษาพบว่า โครงสร้างภาคการเกษตรมีอัตราการขยายตัวประมาณ 2% ต่อปี ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 1% และบริการติดลบแต่อาจเป็นไปได้ที่ภาคการเกษตรออกไปเปิดบริการเลยติดลบ แต่ภาคการเกษตรภาคเดียวที่มีการขยายตัว” นายอัมมารกล่าว

นายอัมมารกล่าวว่า ภาคการเกษตรที่มีความแข็งแกร่งไม่ได้หมายถึงเกษตรกรที่จะแข็งแกร่งตามไปด้วย เกษตรกรที่ยังยากจนยังเป็นปัญหาทางสังคม คนจนเหล่านี้ออกนอกภาคการเกษตรไปมาก รายได้จากภาคการเกษตรของคนกลุ่มนี้ลดลงมาโดยตลอดซึ่งหมายถึง ครัวเรือนภาคการเกษตรที่ย้ายออกไปทำงานชั่วครั้งชั่วคราวในภาคอื่นๆด้วย

โดยดูจากรายงานพบว่า เกษตรกรรมโมเดลมีการใช้แรงงานสอดรับกับการใช้แรงงาน และการว่างงานของภาคการเกษตรนั่นคือ การใช้แรงงานภาคการเกษตรหดตัวลงเพราะออกไปทำงานอื่นที่เห็นชัดคือการทำงานก่อสร้าง

“ปัญหานี้เป็นเรื่องที่น่าคำนึงถึง เพราะการใช้แรงงานภาคการเกษตรมีเป็นบางช่วงเท่านั้น ตัวเลขเกษตรกรของภาครัฐที่มีอยู่ไม่ชัดเจนและไม่เป็นความจริง มีการเพิ่มจำนวนมากเข้าไว้เพราะนักการเมืองทั้งหลายชอบให้มีตัวเลขบวกมากกว่าลบ คนพวกนี้ส่วนใหญ่จะลืมไปว่าจะเป็นเกษตรกรเพียงไม่เกิน 6 เดือนที่เหลือจะออกไปทำงานที่อื่น” นายอัมมารกล่าว

นายอัมมารกล่าวว่า ปัญหาเกษตรกรยากจนในขณะนี้อยากให้เริ่มต้นใหม่การเพิ่มเงินสงเคราะห์เกษตรกรอาจไม่ถูกต้องควรเอาเงินเหล่านั้นมาทำให้เกิดคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลกทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่อยากสื่อต่อไปยังนักการเมือง

แม้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไม่ได้เป็นนักการเมือง แต่หากสังเกตพฤติกรรมที่อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับภาษีก็เป็นเรื่องที่น่ากลุ้มใจเพราะเป็นพฤติกรรมของนักการเมืองแต่โชคดีที่ไม่มีนักการเมืองกลุ่มก่อนหน้าเข้ามาบริหาร

ทั้งนี้เรื่องที่รัฐบาลควรเข้ามาจัดการก่อน คือ น้ำ เนื่องจากภาคการเกษตรของไทยยังพึ่งพาน้ำฝนเป็นส่วนใหญ่ทำให้ไม่มีความแน่นอนด้านการผลิต

ส่วนทรัพยากรดินไม่มีปัญหา ส่วนงานด้านอื่นที่ต้องศึกษาเช่นกันคือ ด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านเมล็ดพันธุ์ซึ่งจะส่งผลให้ภาคการเกษตรของไทยพัฒนาไปได้เร็วกว่าประเทศอื่น อีกทั้งควรนำเทคโนโลยีถ่ายภาพทางดาวเทียมมาใช้ให้เป็นประโยชน์ด้วย

————————

หมายเหตุ: พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 12 เมษายน 2558 ในชื่อ “”อัมมาร” จี้รัฐใช้เทคโนโลยีแก้ “เกษตร-ชลประทาน””