นักวิชาการเตือนแรงงานเผชิญภาวะหลุมดำเพิ่มรายได้

ปี2015-04-13

นครินทร์ ศรีเลิศ
2 นักวิชาการได้ออกมาวิเคราะห์สถานการณ์แรงงานของไทยตลอดจนในด้านค่าจ้าง โดยมองว่าแม้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำ แต่ไม่กระทบอัตราว่างงาน

ตลาดแรงงานต่ำกว่าระดับอุดมศึกษา – ปวช.รองรับสูง แต่แรงงานระดับอุดมศึกษาเริ่มมีข้อจำกัดในการจ้างงาน ซึ่งภาครัฐควรดึงบัณฑิตใหม่เข้าอบรมเพิ่มทักษะงานและยังไม่ควรเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำสูงกว่า 300 บาทเพราะจะกระทบเอสเอ็มอี ส่วนมุมมองนักเศรษฐศาสตร์เริ่มเห็นสัญญาณภาคเอกชนเพิ่มค่าจ้างแรงงานในอัตราต่ำลงจากปัญหาเศรษฐกิจ

นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงานสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึง สถานการณ์แรงงานของไทยในปัจจุบันว่า แม้ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยจะไม่เพิ่มขึ้นมากนัก แต่อัตราการว่างงานในประเทศไทยยังไม่เพิ่มสูงขึ้นจนน่าวิตก เนื่องจากก่อนหน้านี้ประเทศไทยอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงานมาเป็นเวลานาน

แรงงานบางกลุ่มจึงยังมีทางเลือกในการทำงานอยู่พอสมควร โดยเฉพาะแรงงานที่จบการศึกษาในระดับที่ต่ำกว่าปริญญาตรียังมีทางเลือกในการเข้าสู่ตลาดแรงงานได้มากตามสัดส่วนของความต้องการแรงงานในภาคบริการและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจในอัตราที่ลดลงส่งผลต่อการจ้างงานในตลาดแรงงานที่จบการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นมา คือ แรงงานตั้งแต่ระดับ ปวส.และปริญญาตรีขึ้นไป โดยการจ้างงานจะมีจำนวนที่ลดลงและทำให้นักศึกษาที่จบมาใหม่มีอัตราว่างงานที่สูงขึ้นซึ่งเห็นได้จากตัวเลขการสำรวจภาวะว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ

ล่าสุดที่สำรวจพบว่า อัตราการว่างงานของประเทศไทยในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเริ่มมีสัดส่วนสูงกว่า1% ของประชากรวัยทำงานทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการว่างงานของผู้ที่จบการศึกษาในระดับ ปวส.และปริญญาตรีมากกว่าผู้ที่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6  และ ปวช.

การที่แนวโน้มการจ้างงานของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและปวส.ต่ำลงในปัจจุบัน เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขในเรื่องของโครงสร้าง โดยจะต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพแรงงานของทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ โดยในส่วนของนายจ้างต้องมีการกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เหมาะสมและสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี

ส่วนฝ่ายแรงงานเองก็ต้องเพิ่มเติมทักษะของตนเองเพื่อสร้างผลผลิตและงานที่มีคุณภาพมากขึ้น เช่น เพิ่มการฝึกอบรม การเพิ่มทักษะทางภาษาอังกฤษ และภาษาที่สาม ขณะที่ภาครัฐก็ควรมีมาตรการสนับสนุนการพัฒนาทักษะแรงงานที่เหมาะสม โดยหามาตรการที่จะส่งเสริมให้ผู้ที่จบงานใหม่มีประสบการณ์ในงานที่ภาครัฐอัดฉีดเม็ดเงินลงไปกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น โครงการช่วยเหลือพื้นที่ภัยแล้งควรจะให้ผู้จบการศึกษาใหม่เข้าไปมีส่วนร่วมในการเขียนโครงการติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานด้านต่างๆของภาครัฐซึ่งจะทำให้แรงงานมีทักษะและประสบการณ์ในการทำงานมากขึ้น

สำหรับแนวคิดในการปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำให้สูงกว่า 300 บาทต่อวัน ตามค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในรอบ3 ปีจะมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว การส่งออกทำได้ต่ำกว่าเป้าหมาย ซึ่งการผลิตที่ลดลงนายจ้างก็ไม่ได้ผลผลิตจากแรงงานมากเท่าที่ควร ขณะที่การปรับเพิ่มค่าแรงจะเป็นภาระต้นทุนของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้นโดยหลังจากการปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท เมื่อ 2 – 3 ปีที่ผ่านมายังมีแรงงานที่เป็นลูกจ้างของสถานประกอบการที่เป็นเอสเอ็มอีอีกกว่า 70% ที่ได้ค่าแรงอยู่ที่ประมาณ 220 – 270 บาทต่อวัน และยังมีแรงงานอีกประมาณ 5% ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีค่าครองชีพสูงแต่ยังได้รับค่าจ้างไม่ถึงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งความเป็นไปได้คือ การปรับขึ้นค่าแรงควรปรับค่าแรงขั้นต่ำตามภาวะค่าครองชีพในแต่ละพื้นที่ที่มีอัตราไม่เท่ากันไม่ใช่การปรับค่าจ้างแรงงานทั้งประเทศ

“หากมีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำก็จะเป็นแรงกดดันให้กับผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่บางส่วนยังปรับตัวไม่ได้และยังไม่สามารถจ่ายค่าแรงได้ถึง 300 บาทต่อวัน ซึ่งหากบอกว่ามีความจำเป็นที่ต้องปรับค่าแรงเนื่องจากค่าครองชีพเพิ่มขึ้นก็ควรมีการปรับเพิ่มนำร่องเป็นรายพื้นที่ เช่น ปรับเพิ่มขึ้นใน 7 จังหวัดที่ค่าครองชีพปรับตัวเพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าจังหวัดอื่นๆ แต่การประกาศปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำก็ต้องดูด้วยว่าจะเกิดผลกระทบใดๆตามมากับแรงงานหรือไม่ เช่น การจ้างงานในเวลาที่ลดลง และการลดจำนวนคนงานซึ่งต้องดูความพร้อมของสถานประกอบการด้วย” นายยงยุทธกล่าว

นายสันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) กล่าวว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีอัตราการขยายตัวที่จำกัดจะยังไม่กระทบต่อปัญหาการว่างงานของประชาชน โดยหากเศรษฐกิจยังมีการขยายตัวไม่ว่ามากหรือน้อย ตัวเลขการว่างงานจะไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยในระบบเศรษฐกิจตัวเลขการว่างงานไม่สามารถที่จะเป็นศูนย์ได้ เนื่องจากแรงงานจะมีการเคลื่อนไหว เปลี่ยนงาน ว่างงานตามฤดูกาล รอการจ้างงานใหม่ หรืออยู่ระหว่างการหางาน โดยในบางระบบเศรษฐกิจอัตราการว่างงานอยู่ในระดับ 5% เช่น ในสหรัฐการว่างงานอยู่ในระดับ 5.2% ก็ถือว่าอยู่ในระดับปกติ อัตราการว่างงานของไทยในปัจจุบันไม่น่ากังวลแต่อย่างไร

ปัญหาแรงงานในประเทศไทยไม่ใช่การว่างงาน แต่เป็นเรื่องของการขาดแคลนแรงงาน และผลการตอบแทนจากการทำงานไม่ขยายตัวในอัตราที่เหมาะสมเท่าที่ควร หรือกล่าวได้ว่าโดยรวมแล้ว ผลตอบแทนของผู้มีงานทำในระบบเศรษฐกิจในแต่ละปีไม่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจที่ไม่ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากเหมือนในอดีต ทำให้รายได้ของภาคเอกชนที่ควรจะเพิ่มขึ้นลดลง ในที่สุดแล้วก็ไม่อยากที่จะเพิ่มค่าตอบแทนในการทำงานให้กับลูกจ้าง

นอกจากเหตุผลจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ลดลงยังมีสาเหตุมาจากผลิตภาพและประสิทธิภาพของแรงงานที่ลดลงทำให้มีข้อจำกัดในการเพิ่มค่าจ้างในการทำงานด้วย โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ สัญญาณของการลดโบนัสและรางวัลประจำปีของบริษัทขนาดใหญ่ และบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่พอจะเป็นสัญญาณได้ว่ารายได้ของแรงงานลดลง

นอกจากนั้นแนวโน้มที่จะต้องจับตาดูก็คือ หากมีบริษัทขนาดใหญ่ที่ควบรวมกิจการกันมากขึ้นเพื่อลดต้นทุนในการผลิตเรื่องต่างๆรวมทั้งลดการจ้างแรงงานลงก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่จะต้องจับตาดูว่าจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในอนาคตได้เช่นกัน

“เรื่องภาวะของคนตกงานไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลในประเทศไทย เพราะหลังจากยุคของการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก ในส่วนของภาคบริการที่เราพัฒนาขึ้นมาก็เป็นอีกความหวังหนึ่งที่จะดูดซับแรงงานที่ใช้แรงงานจำนวนมากในภาคการท่องเที่ยวและบริการ แต่หากจะทำให้ภาคส่วนนี้สร้างรายได้เพิ่มขึ้นก็ต้องลงไปดูในระดับย่อยๆว่าแต่ละสาขาอาชีพเราจะเพิ่มทักษะและโอกาสในการสร้างรายได้อย่างไร”

รายงานข่าวจากสำนักสถิติแห่งชาติเปิดเผยภาวะมีงานทำของประชากรในเดือน มี.ค.2558 พบว่าประชาชนวัยแรงงานอายุตั้งแต่15 ปีขึ้นไปจำนวน 55.12 ล้านคน มีผู้ว่างงานทั้งสิ้น งาน 3.78 แสนคน คิดเป็นสัดส่วน 1%ของประชากรวัยแรงงานทั้งหมด โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 3.7 หมื่นคน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือน ก.พ.ผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 6.2 หมื่นคน โดยในส่วนของการว่างงานตามระดับการศึกษาพบว่า ผู้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาว่างงานมากที่สุด1.22 แสนคน รองลงมาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายว่างงาน 9.8 หมื่นคน  ระดับประถมศึกษาว่างงาน 6 หมื่นคน

————————

หมายเหตุ: พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 13 เมษายน 2558 ในชื่อ “นักวิชาการเตือนแรงงานเผชิญภาวะหลุมดำเพิ่มรายได้”