tdri logo
tdri logo
27 เมษายน 2015
Read in Minutes

Views

TDRI ชี้ 4 ประเด็นเปิดเสรีหวั่น 3 ผลกระทบ

การเปิดเสรีอาเซียน หรือ AEC ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 มกราคม 2559 ในแง่มุมหนึ่งเป็นผลดีต่อการเชื่อมโยงและพัฒนาประเทศในฐานะการเป็นสมาชิกของประชาคมโลก แต่อีกแง่มุมหนึ่งเมื่อไม่มีความพร้อมและสามารถตั้งรับได้ทันอาจจะเกิดผลเสียต่อประเทศชาติได้อย่างมหาศาล เนื่องจากเป็นตัวเร่งให้ประเทศไทยเผชิญหน้ากับข้อตกลงหรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ลงนามไว้

สิ่งสำคัญคือ ฐานทรัพยากรของประเทศ 3 ด้านคือ 1.ทรัพยากรทางกายภาพ เช่น ดิน น้ำ อากาศ และสิ่งแวดล้อมต่างๆ 2.ทรัพยากรทางชีวภาพ เช่น พืช สัตว์ จุลินทรีย์และสิ่งมีชีวิตต่างๆ และ 3.ทรัพยากรด้านวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ซึ่งเป็นความรู้ที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น

โครงการพระราชดำริ เตรียมความพร้อมคนไทย

พระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัวฯทรงมีพรเนตรยาวไกลว่า หากรักษาฐานทรัพยากรดังกล่าวไว้ได้จะนำไปสู่เศรษฐกิจพอเพียงและพึ่งพาตนเองได้ และรับสั่งให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงดำเนินการในเรื่องนี้ จึงเกิดโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ในปี 2535

โดยมีเป้าหมายพัฒนาบุคลากรเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์และให้ชาวไทยเข้าใจถึงความสำคัญของพันธุกรรมพืชและทรัพยากรของชาติ ตัวอย่างกิจกรรมต่างๆ ในโครงการฯ เช่น การปลูกป่ารักษาพันธุกรรมพืช การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุกรรมพืช ศูนย์ข้อมูลพืช วางแผนพัฒนาพันธุ์พืช ฯลฯ

พรชัย จุฑามาศ รองผู้อำนวยการ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ กล่าวว่า ที่สำคัญคือตั้งแต่ปี 2535 ประเทศไทยได้เห็นชอบลงนามในอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งต่างประเทศมองว่าประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาใช้ทรัพยากรธรรมชาติไม่เป็นและกลัวว่าจะหมดไป แต่แท้ที่จริงเป็นความต้องการเข้าถึงทรัพยากรจากถิ่นกำหนดในป่าอุทยาน

นอกจากนี้ ในปี 2545 ยังเกิดสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยพันธุกรรมพืชเพื่ออาหารและการเกษตรเท่านั้น โดยองค์การอาหารแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ต้องการฐานทรัพยากรทางอาหารเพื่อให้กับทรัพยากรมนุษย์ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากมีการให้สัตยาบรรณในสนธิสัญญานี้อะไรที่เป็นของรัฐต้องเป็นของพหุภาคีคือ เป็นของโลกโดยไม่บังคับเอกชนแต่รัฐต้องหาวิธีที่เหมาะสมให้เอกชนเข้าร่วมต้องสละสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา ถ้าจะปฏิเสธจะถูกดำเนินการในองค์การบริหารระหว่างประเทศ

ดังนั้น การขับเคลื่อนโครงการฯ จึงต้องก้าวไปให้เร็วเพื่อเพิ่มความพร้อมของประเทศไทยให้มากที่สุด โดยมีการวางแนวทางดำเนินการระยะ 5 ปี มาอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2552 ในแผนแม่บทระยะ 5 ปีที่สี่มีการกำหนดให้กระจายงานออกไปโดยมองว่าตำบลเป็นฐานการบริหารที่ดีที่สุด เหมือนหนึ่งประเทศมีอาณาเขต มีองค์กรบริหาร มีสภา มีผู้ปฏิบัติงานเป็นข้าราชการท้องถิ่น มีงบประมาณในการดูแล ซึ่งตำบลมีหมู่บ้าน หมู่บ้านมีชุมชน แต่ละชุมชนมีบ้านที่เป็นครอบครัว แต่ละครอบครัวมีภูมิปัญญา ดังนั้น เมื่อเห็นความสำคัญและช่วยกันร่วมคิดและปฏิบัติ โดยมีระบบข้อมูลที่สื่อกันทั่วประเทศ

สำหรับแผนแม่บทระยะ 5 ปีที่ห้าตั้งแต่ ปี 2554-2559 มีหน่วยงานสนองพระราชดำริกว่า 140 หน่วยงาน มีโรงเรียนที่เป็นสมาชิกศูนย์พฤกษศาสตร์โรงเรียนประมาณ 2 พันกว่าโรง ซึ่งน้อยนิดเมื่อเทียบกับจำนวนโรงเรียนทั้งหมดประมาณเกือบ 4 หมื่นโรง และตำบลที่สนองพระราชดำริมีประมาณ 200 ตำบล เทียบกับ 7,255 ตำบลทั่วประเทศ

“เราคิดว่าจะทำอย่างไรให้มีความพร้อมก่อนที่จะเข้าสู่การเปิดเสรีฯ ในหลวงทรงมีพระเนตรยาวไกลในการรักษาฐานของประเทศที่จะนำไปสู่เศรษฐกิจพอเพียงและความยั่งยืน”

TDRI ชี้ 4 ประเด็นเปิดเสรี หวั่น 3 ผลกระทบ

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ควรพจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า จะเห็นว่า 10 ประเทศในเออีซีเกือบทั้งหมดมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก และเห็นได้ชัดว่ามีผลประโยชน์ร่วมกันในประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพ แต่มีการพูดถึงน้อยมากในขณะนี้ ซึ่งถ้ามองไปในอนาคต แผนในขณะนี้จะเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่จะใช้ในการเจรจาต่อรองกับประเทศที่อยู่ในกรอบอาเซียน ไม่เฉพาะในประเทศอาเซียนด้วยกันเอง แต่หมายถึงประเทศที่อยู่นอกกรอบซึ่งก็หมายถึง บรรษัทข้ามชาติที่จะมาภายใต้ธงของประเทศเหล่านั้น สิ่งหนึ่งที่กำลังจะทำทีดีอาร์ไอคือ กฎหมายความหลากหลายทางชีวภาพในกรอบเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อดูเรื่องกฎหมายอาเซียนไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น

จากการศึกษากฎหมายของอาเซียนในกรอบเศรษฐกิจเมื่อมีการเปิดเสรีในปี 2559 จะมี 4 ประเด็นหลักคือ ประเด็นแรก การค้าสินค้าโดยกำแพงภาษีต้องถูกยกเลิก พิกัดภาษีศุลกากรต้องเหลือศูนย์ มีการเคลื่อนย้ายโดยเสรี ฯลฯ ยกตัวอย่าง ให้นึกถึงสินค้าจีเอ็มโอโดยมาถึงเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเมื่อวางขายในประเทศมาเลเซียจะต้องเคลื่อนย้ายโดยเสรีทั้งหมดใน 10 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วยดังนั้น เมื่อบรรษัทข้ามชาติประสบความสำเร็จในการวางขายในประเทศใดประเทศหนึ่ง สินค้าจีเอ็มโอจะหมุนเวียนได้หมด การบังคับให้ติดฉลากจะทำได้หรือไม่ต้องทำภายใต้กฎหมายอาเซียน ไม่ใช่กฎหมายไทยอย่างเดียว แต่อาเซียนแทบจะไม่เคยมีการพูดกันในเรื่องนี้เลย

ประเด็นที่สอง การค้าบริการ ซึ่งมี 5 หมวดใหญ่ๆ ที่จะเปิดในปีหน้าคือ เกษตร ประมง ป่าไม้ เหมืองแร่ และอุตสาหกรรม จะเห็นว่าเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งเกษตรและประมงชัดมากมีจีเอ็มโอเต็มไปหมด ป่าไม้มีการใช้ประโยชน์มากมายด้วยการนำทรัพยากรพันธุกรรมไปทำวิจัย ซึ่งเมื่อประเทศไทยต้องเปิดเสรีในเรื่องนี้ต้องไปแก้ไขพระราชบัญญัติคนต่างด้าว ต้องยกเลิกหรืออนุญาตให้อย่างน้อยบริษัทหรือนักลงทุนในอีก 9 ประเทศอาเซียนเข้ามาดำเนินการในประเทศไทยโดยไม่มีข้อจำกัด

ปัญหาคือ เมื่อพูดถึงวิสาหกิจหรือบรรษัทข้ามชาติจะถามว่าเป็นชาติไหน เช่น บริษัทเอ็มจดทะเบียนครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา แล้วมาตั้งบริษัทลูกในสิงคโปร์ซึ่งจดทะเบียนได้ง่ายเพราะเปิดเสรีเต็มที่ สัดส่วนคือสหรัฐฯ ถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ ถามว่าบริษัทเป็นบริษัทของประเทศไทย คำตอบคือถ้าจดทะเบียนในประเทศไหนเป็นบริษัทของประเทศนั้นโดยไม่ต้องมองว่าใครคือผู้ถือหุ้น

ดังนั้น บริษัทสหรัฐฯ สามารถเป็นบริษัทของชาติอาเซียนด้วยการมาตั้งบริษัทในสิงคโปร์และได้สิทธิ์การปฏิบัติเยี่ยงคนชาตินั้นอย่างเท่าเทียมกัน เท่ากับการทำธุรกิจทั้ง 5 หมวดนั้นได้อย่างเสรี จึงมีโอกาสหรือความเป็นไปได้ว่าการเปิดเสรีในกรอบอาเซียนอาจจะเป็นการเปิดเสรีมากกว่ากรอบของอาเซียนด้วยซ้ำไป นี่คือตัวอย่าง

ประเด็นที่สาม การลงทุนจะเปิดเสรีไม่มีข้อจำกัด ไม่มีการห้ามส่งออก ฯลฯ ส่วนประเด็นสุดท้าย ทรัพย์สินทางปัญญา ต่อไปการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาจะมีมาตรฐานเดียวกัน ดังนั้นการห้ามจดทะเบียนพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์จะห้ามไม่ได้อีกต่อไป เพราะมีการเปลี่ยนกฎระเบียบในอาเซียน

ดังนั้น จะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การที่บริษัทต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจ แสวงหาทรัพยากรที่อยู่ในโครงการอนุรักษ์ต่างๆ หรือแม้แต่อยู่ในสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ ป่าจะถูกเปิดให้ต่างชาติเข้ามาสำรวจ นำไปทำวิจัย เมื่อได้มาแล้วนำไปทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งอาหารหรือยาชนิดใหม่ โดยไปจดทะเบียนสิทธิบัตรทำให้บริษัทนั้นกลายเป็นเจ้าของ ขณะที่ประเทศไทยเป็นแหล่งทรัพยากรกลับเรียกร้องอะไรไม่ได้เลยถ้าไม่มีกฎระเบียบที่เพียงพอ

“จะเห็นว่า 10 กว่าปีทีผ่านมาประเทศไทยทำอะไรน้อยมาก มีกฎหมายออกมา 3-4 ฉบับ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ร.บ.ภูมิปัญญาแพทย์ แผนไทย พ.ร.บ.กักพืช แต่ถึงขณะนี้การปฏิบัติการมีในระดับต่ำเรียกได้ว่า เรามีปัญหาด้านประสิทธิภาพในการจัดการกฎหมายหรือกฎหมายที่มีอยู่อาจจะไม่พอในแง่ของชนิดซึ่งไม่ครอบคลุมพันธุ์สัตว์ จุลินทรีย์ ทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งปัจจุบันดีเอ็นเอหรือยีนของมนุษย์สามารถนำไปทำยาหรือวัคซีน แต่กฎหมายที่มีอยู่ไม่มีประเด็นเหล่านี้เลย”

“ขณะที่ นักวิทยาศาสตร์มุ่งไปที่การทำวิจัยและหาข้อมูลใหม่ๆเท่านั้น โดยไม่คำนึงถึงความร่วมมือกับต่างชาติในเรื่องผลประโยชน์ นักวิจัยอาจจะไม่ได้มองเรื่องนี้ ซึ่งรัฐบาลต้องเข้ามาทำเพราะเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับงานวิจัยที่ผมทำที่ทีดีอาร์ไอจะเข้ามาช่วยกันในเรื่องนี้ และโครงการต่างๆ อย่างโครงการในพระราชดำริก็คงจะทำงานประสานกัน”

สำหรับประเด็นเรื่องผลกระทบที่จะตามมาหรือความสุ่มเสี่ยงจากการเปิดเสรีเออีซีต่อทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพของไทย มี 3 ประเด็นใหญ่คือ ประเด็นแรก การพิสูจน์สิทธิ์ การเข้าถึง และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ ในการอ้างความเป็นเจ้าของซึ่งประเทศไทยจะพิสูจน์สิทธิ์อย่างไร นี่คือปัญหาของประเทศไทยและประเทศในอาเซียนว่าสินค้าที่มีการจดสิทธิบัตรหรือขายในท้องตลาดขณะนั้นมีแหล่งกำเนิดจากประเทศไทยและประเทศไทยเป็นเจ้าของดั้งเดิมซึ่งควรจะได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์

ประเด็นที่สอง ความปลอดภัยทางชีวภาพ เช่น อาหารจีเอ็มโอยังไม่มีการยืนยันชัดเจนว่า ปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นสิ่งที่นานาประเทศทำคือ การให้ข้อมูลซึ่งเป็นการให้ทางเลือกกับผู้บริโภค โดยบังคับติดฉลาก

แต่ปัญหาสำคัญคือ ประเทศไทยจะสามารถออกกฎระเบียบให้สินค้าจีเอ็มโอติดฉลากได้หรือไม่ เพราะต้องดูว่ากฎของอาเซียนและกฎขององค์การค้าโลกอนุญาตหรือไม่ เนื่องจากมีคดีข้อพิพาทหลายคดีที่เกิดขึ้นในองค์การการค้าโลกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกากับสหภาพยุโรปเกี่ยวกับกฎหมายฉลากจีเอ็มโอ ซึ่งเป็นเรื่องของความปลอดภัยด้านอาหาร ยังไม่รวมความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม การหลุดไหลของสิ่งมีชีวิตที่ดัดแปลงพันธุกรรมเข้าไปในสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการสินค้าจีเอ็มโอ จึงเป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องพิจารณาควบคู่กันไป

ประเด็นที่สาม การผูกขาดตลาด ซึ่งจะเกิดขึ้นแน่นอนเพราะการเปิดเสรีไม่ว่าจะกรอบไหน จะต้องมาควบคู่กับการยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การอนุญาตให้มีการจดทะเบียนยีนและสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม การรณรงค์หรือโฆษณาอย่างมากให้เกษตรกรนำไปปลูกหรือเลี้ยง ซึ่งในระยะแรกอาจจะแจกฟรีแต่จะนำไปสู่การผูกขาดตลาดในระยะต่อมาเมื่อมีความต้องการเพิ่มขึ้น

ยกตัวอย่าง คดีชไมเซอร์ในแคนาดาซึ่งปลูกพืชชนิดหนึ่งคือแคโนลาที่นำไปทำน้ำมันปรุงอาหาร แต่ถูกมอนซานโตบริษัทขนาดใหญ่ฟ้อง จากการไปสุ่มพบว่าแคโนลาบางต้นของชไมเซอร์ มียีนที่มอนซานโตถือสิทธิบัตรอยู่ แม้ชไมเซอร์จะบอกว่าไม่ตั้งใจ แต่ศาลตัดสินว่าชไมเซอร์ละเมิดสิทธิบัตรต้องจ่ายค่าเสียหายจำนวนมาก

นี่คือตัวอย่างการใช้สิทธิบัตรเป็นเครื่องมือผูกขาดตลาด จะเห็นว่าสิทธิบัตรยีนตัวเดียวจะโยงไปถึงสินค้าสุดท้าย ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยยาฆ่าแมลง จนถึงผลิตภัณฑ์ และอาจจะรวมวิถีการทำเกษตรหรือการผลิตขนาดใหญ่

ดังนั้น สิ่งที่ต้องมองไปข้างหน้าคือ ประเทศไทยมีกลไกป้องกันการผูกขาดและคุ้มครองผู้บริโภคดีพอหรือยัง ที่ผ่านมาทีดีอาร์ไอให้ความสนใจอย่างมากกับกฎหมายการแข่งขันทางการค้าว่าให้มีการแข่งขันทางการค้าเสรี เป็นธรรม มีองค์กรบริหารจัดการอิสระไม่ขึ้นกับกระทรวงพาณิชย์ สามารถจัดการบริษัทขนาดใหญ่ที่ใช้อำนาจทางการตลาดกำจัดรายเล็ก กลไกอย่างนี้ต้องสร้างไม่ใช่ในกรอบประเทศไทยแต่ในกรอบอาเซียนคือ กฎหมายการแข่งขันทางการค้าต้องผลักดันให้ถึงระดับเออีซีให้ได้ ซึ่งบางประเทศพร้อมจะสนับสนุนอยู่แล้วเพราะมีผลประโยชน์ร่วมกันหลายเรื่อง

นักวิชาการใช้กลยุทธ์สร้างสำนึกความภูมิใจมรดกลูกหลาน

เกษม กุลประดิษฐ์ อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงประสบการณ์ทำงานในพื้นที่และสัมผัสชุมชนพบว่า แม้ว่าคนในชุมชนจะไม่เข้าใจประเด็นด้านกฎหมายและการเปิดเสรีทางการค้า แต่เหล่าคนนั้นที่เฝ้าดูแลความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์ไม้ พันธุ์พืชในท้องถิ่น และมีความรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้รับการขานว่า “หมอยา” และ “คนเฝ้าดูแลป่า”

จากการทำงานในพื้นที่จังหวัดปัตตานี จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดนนทบุรี ใช้วิธีการทำงานโดยให้คนในชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อนไปหาพืชพันธุ์ไม้ต่างๆ ที่คิดว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว เช่น ทุเรียน เป็นต้น สำหรับที่อำนาจเจริญทำความเข้าใจกันจนกระทั่งชาวบ้านในชุมชนเข้าไปดูแลป่าของตนเอง ซึ่งมีทั้งพืชที่ใช้เป็นยาและอาหาร เช่น เห็ดที่คิดมูลค่านับแสนนับล้านบาท เป็นต้น โดยเน้นกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกและเห็นความสำคัญที่ต้องดูแลทรัพยากรในท้องถิ่น ทั้งสามพื้นที่มีสิ่งต้องการเหมือนกันคือ ส่งต่อสิ่งดีๆที่พวกเขาได้พบเห็นตั้งแต่เด็กๆเพื่อเป็นมรดกให้ลูกหลานในอนาคต นี่คือจุดสำคัญ

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความสำเร็จต่อไปจึงมองว่าต้องมีการเน้นให้เห็นว่าลูกหลานจะได้อะไรจากสิ่งเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราต้องลงมือทำในวันนี้เพราะเมื่อสิ่งเหล่านั้นคือ ทรัพยากรต่างๆหมดไปเราไม่มีโอกาสทำแล้วนี่คือ จุดที่ทำให้คนในชุมชนหันมาฟังเรื่องนี้อย่างจริงจัง สำหรับที่ปัตตานีมีความภาคภูมิใจมากกว่าแหล่งพันธุ์ทุเรียนนนท์ที่เกือบจะหมดไปในปี 2554 กลับได้เจอที่ปัตตานีโดยบังเอิญ

ส่วนที่อำนาจเจริญภาคภูมิใจว่ามีตำรับยาหรือสมุนไพรที่เก็บไว้ในใบลานหรือสมุดข่อยหรือความจำของชาวบ้านเป็นเรื่องที่มีคุณค่าจริงๆส่งผลให้เกิดการรวบรวมใบลาน และค้นลึกด้วยการถอดรหัสจากใบลาน และดูว่าตำรับยานั้นได้มาจากพืชหรือสมุนไพรชนิดใดบ้าง และเมื่อได้พบว่าพืชเหล่านั้นมีอยู่ในท้องถิ่นครบตามตำรับยาจะต้องดูแลกันต่อไป แต่หากไม่พบในท้องถิ่นให้ไปค้นหาในป่าชุมชนแห่งอื่นๆว่ายังมีอยู่หรือไม่ เพราะเมื่อแต่ละชุมชนทำเช่นเดียวกันนี้ เชื่อว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถูกเก็บไว้หรือเป็นความลับเก็บไว้บนหิ้งจะได้กลับฟื้นคืนมาเป็นมรดกให้คนรุ่นต่อๆไป

กลไกในการขับเคลื่อนดังกล่าวเริ่มขึ้นแล้วในปีนี้ไม่ว่าจะเป็นวัด ปราชญ์ชุมชน หมอยา มาช่วยกัน และเด็กนักเรียนจะสนุกมากเมื่อได้ชื่อว่าเป็นผู้ถอดรหัสใบลาน ในวันนี้คนทั้ง 3 วัยคือ ผู้สูงอายุที่รู้เรื่องราวในอดีต อบต.และครูที่รู้เรื่องราวในปัจจุบัน ส่วนเด็กคืออนาคต เมื่อนำทั้ง 3 ส่วนมารวมกันเชื่อว่าเราจะเข้าใจอดีตอย่างชัดเจน เป็นเจ้าของปัจจุบันให้ได้ และสามารถควบคุมอนาคตได้อย่างแน่นอน ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการพิสูจน์สิทธิ์ความเป็นเจ้าของหรือการขึ้นทะเบียน คนในชุมชนจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน

จากการทำงานในพื้นที่พบว่ามี 3 สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ได้แก่ หนึ่ง-พืชบางตัวในพื้นที่ถูกแอบนำไปใช้ประโยชน์แล้ว สอง-กำลังจะเกิดปัญหา และสาม-ยังไม่เกิดปัญหา เมื่อสามารถแยกแยะได้จะช่วยให้แก้ปัญหาได้ง่ายขึ้นยกตัวอย่าง ส้มแขกหรือมะขามป้อมที่กำลังจะเกิดปัญหาเพราะประเทศในแถบยุโปรติดตามให้ความสนใจพืชทั้งสองชนิดนี้มานานแล้ว สำหรับในสถานการณ์ที่เกิดปัญหาสิ่งที่ต้องทำคือ รีบขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชเหล่านั้นไว้ก่อน แต่หากยังไม่เกิดปัญหาใช้วิธีการสำรวจทำฐานข้อมูลเอาไว้
“วันนี้ถ้าทุกคนช่วยกันกระตุ้นให้เกิดความเข้าใจ เมื่อตั้งหลักที่ดีจะทำให้ประโยชน์เกิดขึ้นมหาศาล และจะเป็นประโยชน์ระยะยาวหากทำเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง เราต้องรู้เท่าเพื่อเอาไว้กันและรู้ทันเพื่อเอาไว้แก้ ขณะที่ข้อกฎหมายเป็นสิ่งสำคัญ ขณะเดียวกันคนส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งเป็นเกษตรกรและมีความรู้เกี่ยวกับพืชและสัตว์อย่างดีต้องรับรู้เรื่องนี้ด้วยภาษาที่ทำให้เขาเข้าใจว่าเขามีความสำคัญอย่างไรในเรื่องนี้”

เร่งกระตุ้นหน่วยงานรัฐผุดโครงการผลักดันชุมชน

สกล เหลืองไพฑูรย์ ปลัดเทศบาลนครอ้อมน้อย กล่าวว่า ไม่เคยรู้มาก่อนแม้จะเห็นอยู่ว่าข้าวหอมมะลิ เปล้าน้อย หรือหัวบุก ถูกต่างชาติฉกฉวยไป นับเป็นการเสียเอกราชทางพันธุ์พืช ทางอาหาร ทางภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมีการรุกคืบมาแต่คนไทยยังไม่ตระหนัก

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้รู้ปัญหาจึงเสนอโครงการปลูกสักสยามมันทรฺ เพื่อจูงใจคนในท้องถิ่นให้เข้าใจเรื่องการอนุรักษ์ นอกจากนี้ยังมองแนวทางช่วยเผยแพร่ความรู้ ด้วยการจัดทำโครงการ “ผู้เฒาเล่า ผู้เยาว์เขียน” เพื่อให้รู้ว่าอะไรที่เป็นภูมิปัญญาแล้วบันทึกเป็นปูมไว้ ต่อไปจะสามารถนำไปเชื่อมโยงกับเรื่องพันธุ์พืชหรือตำรับยาต่างๆ และจากการเป็นกรรมาธิการบริหารสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยซึ่งสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยเป็นที่รวมของเทศบาลทั่วประเทศจะมีตัวแทนจากภาคจากจังหวัดทั่วประเทศมาประชุมกันเดือนละครั้ง จึงเป็นการกระจายการรับรู้สู่เทศบาลต่างๆเป็นการช่วยให้นโยบายเข้าถึงท้องถิ่นได้รวดเร็วขึ้น

สมคิด สิงสง นายกสมาคมวนเกษตรอินทรีย์วิถีคนกับความ กล่าวว่า จากการทำงานร่วมกับชาวบ้านทำให้ทราบว่าชาวบ้านไม่เข้าใจประเด็นเหล่านี้โดยเฉพาะด้านกฎหมายที่เกี่ยวโยงกับทรัพยากรต่างๆ และจากการเป็นนายกสมาคมฯ ทำให้ได้รับทราบเรื่องราวโครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชฯ และประเทศไทยกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงมากกับการสูญเสียทรัพยากร โดยรู้สึกว่าถึงขั้นเป็นการคุกคามเอกราชของชาติไทยเนื่องจากวันนี้ประเทศไทยและเอเซียนเปิดดินแดนเป็น 10 ประเทศร่วมกัน ดังนั้นสิ่งที่ต้องรักษาคือทรัพยากรซึ่งลึกซึ้งกว่าเรื่องของดินแดน

อย่างไรก็ตาม สมาคมฯมีแผนการจะขับเคลื่อน 4 โครงการ ได้แก่ หนึ่ง โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ซึ่งสอดคล้องกับโครงการในพระราชดำริ สอง โครงการบริโภคข้าวเป็นยา โดยการค้นหาข้าวพันธุ์ต่างๆ ที่มีคุณค่าทางโภชนาการถึงขั้นเป็นธัญโอสถ สาม โครงการปลูกป่า ธนาคาร เพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรดำเนินการเรื่องต้นไม้ เนื่องจากที่ตั้งสมาคมฯ อยู่ในพื้นที่ป่าที่ฟื้นฟูขึ้นมาใหม่หลังจากที่เคยเสื่อมโทรม สี่ โครงการศูนย์ข้อมูลทรัพยากรป่าไม้โดยร่วมกับกรมป่าไม้และท้องถิ่นจัดทำศูนย์ข้อมูลทรัพยากรป่าไม้โดยเฉพาะเทือกเขาภูเม็ง ภูผาแดง ซึ่งเป็นพื้นที่หนึ่งในเชตอุทยานแห่งชาติน้ำพอง

“การที่เราตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เปรียบเหมือนตะปูตอกย้ำฝาโลง จึงเป็นเรื่องที่กระทบต่ออธิปไตยของชาติอย่างแน่นอน ซึ่งไม่ได้ต่างจากเมื่อร้อยปีที่แล้วซึ่งต้องตกเป็นผู้เสียเปรียบให้ประเทศมหาอำนาจเช่นเดิม เพียงแต่เปลี่ยนสถานการณ์เรื่องเหล่านี้ชาวบ้านไม่ได้รับรู้เพราะมุ่งแต่เรื่องทำมาหากินในชีวิตประจำวันและเป็นเรื่องเข้าใจยาก สมาคมฯจึงพยายามขับเคลื่อนเรื่องพันธุกรรมพืช และให้ชาวบ้านเห็นว่าขณะนี้เรากำลังเผชิญหน้าที่กับอะไร และจะทำอย่างไรจึงจะสามารถปกป้องทรัพยากรเราถึงรุ่นลูกหลาน” ดังนั้นคำถามคือ ประเทศไทยจะรักษาทรัพยากรของชาติไว้ได้อย่างไร และทำอย่างไรประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรจะรู้ว่าสมบัติของเขากำลังจะถูกหยิบฉวยไป

————————

หมายเหตุ: พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ASTV ผู้จัดการรายวัน วันที่ 27 เมษายน 2558 ในชื่อ “นับถอยหลังเปิด AEC ระวัง! ช่องโหว่ต่างชาติกอบโกยทรัพยากรไทย”

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด