“อัมมาร” ชี้รัฐไม่ควรผลักคนชั้นกลางออกจากระบบ 30 บาท เผยผลวิจัยเบื้องต้นระบุการจำกัดงบ 30 บาทของรัฐเป็นการขับไล่คนชนชั้นกลางโดยไม่ตั้งใจ แนะเพิ่มเงินรายหัว-พัฒนาคุณภาพบริการ แจง 10 ปีคนไทยเข้าถึงการรักษาเท่ากันใน 3 วิธี “คนรวยใช้เงิน-อำมาตย์ใช้เส้น-คนจนใช้เวลาแลกกับการเข้าถึงบริการ”
ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีแนวคิดให้คนรวยหรือคนชั้นกลาง เสียสละสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อนำเงินไปให้กับคนจนที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ว่า ความจริงแล้วรัฐควรต้องดึงคนชั้นกลางเข้าระบบและปรับเพิ่มงบประมาณของ 30 บาทให้มากขึ้นตามไปด้วยซ้ำ เพราะแท้จริงแล้ววัตถุประสงค์แรกเริ่มของระบบหลักประกันสุขภาพก็เพื่อจะให้สิทธิรักษาพยาบาลแก่ประชาชนทุกกลุ่ม
อย่างไรก็ตาม เร็วๆนี้ จะมีการเปิดเผยข้อมูลงานวิจัยในเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นทางการ แต่เบื้องต้นผลวิจัยระบุว่าการจำกัดควบคุมงบประมาณในระบบ 30 บาท เป็นการขับไล่ชนชั้นกลางให้ออกไปจากระบบโดยไม่ตั้งใจ เพราะการจัดสรรงบประมาณจำนวนน้อยแก่โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทำให้โรงพยาบาลส่วนใหญ่เกิดภาวะที่มีผู้ไปรับบริการอย่างหนาแน่นและต้องรอคิวยาว ซึ่งจากการเก็บข้อมูลพบว่ามีแต่คนจนรายได้ต่ำเท่านั้นที่มาใช้บริการ ส่วนคนชนชั้นกลางหนีหมด โดยผู้มีรายได้เกิน 15,000 บาท/เดือนจะเริ่มหนี ส่วนคนที่มีรายได้ 30,000 บาท/เดือนก็ยิ่งไม่ใช้ เพราะไม่อยากรอคิวนานทั้งวันเพื่อมาพบหมอแค่ 2 นาที ทั้งๆที่วัตถุประสงค์ของระบบ 30 บาทก็ต้องการให้คนชั้นกลางได้รับบริการด้วย
“ระบบ 30 บาทรายหัวอยู่ที่ 3,000 บาทถูกบ่นว่าใช้เงินมาก หรือบอกขาดงบประมาณก็หาวิธีการตัดงบประมาณ จำกัดงบประมาณโครงการต่างๆของระบบ 30 บาท ถือเป็นข้อความผิดพลาดในชุมชนสาธารณสุข เพราะฉะนั้นสรุป 10 กว่าปีที่ผ่านมา คนไทยเหมือนได้บริการสุขภาพเท่ากัน แต่วิธีการเข้าถึงบริการต่างกันไป 3 วิธี 1.คนรวยใช้เงิน 2.อำมาตย์ใช้เส้น 3.คนจนใช้เวลาแลกกับการเข้าถึงบริการ” ดร.อัมมาร กล่าวทิ้งท้าย
————————
หมายเหตุ: พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ASTV ผู้จัดการรายวัน วันที่ 30 เมษายน 2558 ในชื่อ “แนะรัฐดึงคนชั้นกลางเข้า30บาท”