AEC กับแรงงานภาคเกษตร

ปี2015-04-30

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย


ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ เผย สถานการณ์แรงงานภาคเกษตรของไทยอยู่ในขั้นวิกฤติส่วนใหญ่อายุมากและมีจำนวนลดลงร้อยละ 1 ต่อปี และจะพึ่งพาแรงงานต่างด้าวทดแทนได้น้อยลง โดยเฉพาะภายหลังจากเปิดเออีซีแล้ว คาดอีก 6 ปีจะยิ่งตึงตัวหากไม่เร่งปรับโครงสร้างภาคเกษตรและสร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่หันมาทำงานบนผืนดินภาคเกษตรที่ยิ่งใหญ่ของไทยเป็น Smart farmerให้มากขึ้น


ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวถึงผลกระทบของแรงงานภาคการเกษตรของไทยกับการเปิดประชาคมอาเซียน โดยระบุว่า มีการพูดถึงผลกระทบจากการเปิด AEC ในสิ้นปี 2558 ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง 8 เดือน กับภาคการเกษตรไม่มากนัก ประเด็นที่สำคัญคือภาคการเกษตรของไทย ไม่ว่าเป็นการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ทำประมง หรือปลูกไม้ยืนต้น ไม้ผล สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศเพียงร้อยละ 8.32 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (ลดลงจาก 9.61% เมื่อ 10 ปีก่อน) เท่านั้น เทียบกับภาคอุตสาหกรรมและบริการ แต่ที่สำคัญมิได้อยู่ที่มูลค่าเพิ่มแต่เพียงอย่างเดียวที่ทำให้การเกษตรมีความสำคัญ เพราะว่าภาคเกษตรเป็นแหล่งวัตถุดิบหรือเป็นต้นน้ำสำหรับการแปรรูปอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอันดับดาวเด่นของประเทศไทย เป็นแหล่งจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตมากที่สุดเกือบ 1.5 ล้านคน

ความสำคัญของภาคการเกษตรของไทยอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นผู้ทำมาหากินอยู่บนพื้นดินมากกว่า 120 ล้านไร่กระจายอยู่ทั่วประเทศคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 35 ของการจ้างงานของประเทศซึ่งถือว่าภาคเกษตรเป็นตลาดแรงงานใหญ่ที่สุด แต่สภาพของจำนวนแรงงานในภาคเกษตรปัจจุบันเทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อนลดลงถึง 1.5 ล้านคนหรือร้อยละ 1 ต่อปี ขณะที่คนทำงานในภาคนี้มีรายได้ต่ำที่สุด เนื่องจากผลผลิตไม่แน่นอน เน่า เสียง่าย ราคาผลผลิตตกต่ำผันผวน เกษตรกรยังขายผลิตผลขั้นต้นเป็นส่วนใหญ่ โดยไม่ได้แปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มเท่าที่ควร

การลดลงของคนทำงานภาคเกษตรกอปรกับอายุมากขึ้น (43% อายุมากกว่า 50ปี) และเป็นกลุ่มมีการศึกษาต่ำ (มีผู้จบประถมศึกษาหรือต่ำกว่ามากกว่า 74%) ทำกินบนผืนดินที่เสื่อมสภาพลงทุกปี มีการใช้เทคโนโลยีต่ำ ทำให้เกษตรกรตกอยู่ในวงวนของความยากจน คุณภาพชีวิตตกต่ำ เป็นภาคการผลิตที่คนทำงานแรงงานรุ่นใหม่ไม่สนใจ เป็นตลาดแรงงาน 3D คือ ทำงานยากลำบาก ต่ำต้อย และอันตราย ทำให้คนทำงานภาคเกษตรลดน้อยลงจำนวนมาก ต้องพึ่งพาแรงงานรับจ้างมากขึ้น ซึ่งก็ต้องเผชิญกับปัญหาลูกจ้างในภาคการเกษตรที่เป็นคนไทยลดลงมากกว่า 1 ล้านคน เหลือเพียง1.5 ล้านคนเศษ ไม่เพียงพอและมีค่าจ้างเฉลี่ยต่ำที่สุดประมาณ 5,000 บาทต่อเดือน เทียบแรงงานนอกภาคเกษตรซึ่งมีรายได้มากกว่าเดือนละ 11,000 บาท และต้องเผชิญกับปัญหางานที่หนัก งานไม่แน่นอนและไม่มีสวัสดิการรองรับเป็นส่วนใหญ่ แรงงานใหม่ๆสนใจทำงานนอกภาคเกษตรมากกว่า

ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องอาศัยแรงงานเกษตรมาจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้นทุกปีจนปัจจุบัน ไทยต้องจ้างแรงงานต่างด้าวในระดับล่างเกือบ 3 ล้านคน ซึ่งร้อยละ 95 เป็นแรงงานทักษะต่ำจากจำนวนแรงงานทั้งหมดที่มีการขึ้นทะเบียนไว้ในปี 2558 เป็นแรงงานในภาคการเกษตรถึง 658,877 คนหรือร้อยละ 22 ของแรงงานต่างด้าวทักษะต่ำทั้งหมดที่ไทยผ่อนผันให้ทำงานจากประเทศในอาเซียน คือ เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา ซึ่งถ้าประเทศไทยยังไม่ปรับโครงสร้างภาคเกษตรโดยใช้เครื่องจักรกล (Mechanization) มาทดแทนแรงงานมากขึ้น การพึ่งพาแรงงานต่างด้าวในอนาคตในภาพรวมในปี 2564 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า อาจจะถึง 4 ล้านคน ทำให้แรงงานต่างด้าวในภาคการเกษตรอาจจะมีมากกว่า 8 แสนคน

คำถามก็คือ การที่ประเทศไทยต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้านมากขนาดนี้ เมื่ออาเซียนรวมตัวกันในทางเศรษฐกิจ แน่นอนการเจริญเติบโตในภาคการเกษตรและสาขาอื่น ๆ เช่น การท่องเที่ยว เป็นต้น มีการเคลื่อนย้ายทุน การลงทุน แล้วเคลื่อนย้ายสินค้าอย่างเสรี ก็จะทำให้ฐานการผลิตของประเพื่อนบ้านที่มีคนงานจำนวนมากอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะประเทศเมียนมาร์ก็จะมีการพัฒนาเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ตลาดแรงงานโดยเฉพาะค่าจ้างก็จะเริ่มปรับตัวสูงขึ้นซึ่งก็จะเป็นปัจจัยดึงดูดให้คนงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่ทำมาหากินกันอยู่ในประเทศของเขาแทนที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทย การลงทุนจากต่างประเทศที่หลั่งไหลเข้ามาในประเทศเพื่อนบ้านของไทยมากขึ้น อัตราค่าจ้างของประเทศเหล่านั้นก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนอาจจะจูงใจให้คนงานที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยเดินทางกลับประเทศมากขึ้นๆ อีกทั้งคนงานจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งทำงานมานานมากกว่า 10 ปี สะสมเงินออมเพียงพอเขาก็จะกลับไปสร้างอนาคตในประเทศของเขา เมื่อนั้นประเทศไทยก็จะถูกกระทบจากปัญหา “สมองไหล” ไม่มากก็น้อยซึ่งเวลาจะเป็นเครื่องตัดสิน

ดร.ยงยุทธ ย้ำว่าการจะทำให้ภาคเกษตรไทยมีอนาคตเป็นแหล่งพึ่งพาทำมาหากินและอยู่ได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้นั้น จำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างภาคเกษตรอย่างจริงจัง ซึ่งทำได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสม เช่น การนำโมเดล commercial farming หรือเกษตรกรรมครบวงจรมาใช้ในบางพื้นที่ที่มีข้อมูลสนับสนุนชัดเจน มีการรวมตัวของเกษตรกรร่วมคิดร่วมทำร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนที่มีความชำนาญเพื่อสร้างผลผลิตเกษตรต้นทางที่มีคุณภาพเป็นไปตามหลักการทำการเกษตรที่ดี ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจที่แข่งขันได้ หรือการนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฏีใหม่มาใช้ในการส่งเสริมเกษตรกรที่ทำเกษตรทางเลือกอื่นๆให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างรายได้ ลดรายจ่าย และลดการพึ่งพาแรงงาน การดูแลด้านสวัสดิการสังคม การอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี การสร้าง “ยุวเกษตรกร” หรือเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เป็น Smart farmerให้มากขึ้น เพื่อมาทดแทนแรงงานในภาคเกษตรที่สูงอายุ นอกจากนี้ควรสนับสนุนการใช้เครื่องจักรกลช่วยผ่อนแรงสำหรับแรงงานเกษตรสูงอายุที่ยังคงทำงานอยู่เพื่อให้สามารถทำเกษตรต่อไปได้ ส่วนการใช้แรงงานต่างด้าวก็ควรจะใช้เท่าที่จำเป็นภายใต้กฎหมายและการดูแลที่ไม่ต่างจากแรงงานไทยมิฉะนั้นการใช้แรงงานต่างด้าวจำนวนมากอาจจะกลายเป็นปัญหาด้านความมั่นคงที่ไทยต้องแก้ไม่รู้จบ