การจัดสวัสดิการด้วยคนในชุมชน เพื่อคนในท้องถิ่น

ปี2015-04-22

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย


ที่ปรึกษาฯ ทีดีอาร์ไอชี้ “สวัสดิการชุมชน” ควรเน้นความร่วมมือระหว่างภาคประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

แก้ไขปัญหาของประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างทั่วถึง และตรงตามความต้องการกว่าการสงเคราะห์ที่คิดโดยภาคราชการ

สนับสนุนรัฐบาลให้ปรับแก้กฎหมายเพื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถพึ่งพาตนเองทางการคลังได้


 

วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในแต่ละชุมชนที่ต่างกัน ส่งผลให้แต่ละชุมชนมีปัญหาที่แตกต่างซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขที่แตกต่างกันด้วย ทว่าเรากลับพบว่าการได้รับความช่วยเหลือผ่านสวัสดิการที่รัฐบาลจัดให้ อาจไม่สามารถบรรเทาหรือแก้ไขปัญหาที่พบในชุมชนแต่ละแห่งได้ครอบคลุมและตรงจุด เด็กเล็ก คนชรา คนพิการ หรือคนด้อยโอกาสจำนวนหนึ่งกำลังเผชิญกับความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่การช่วยเหลือแบบสงเคราะห์จากรัฐบาลไม่ใช่ทางออกที่ดีพออีกต่อไป

ดร. วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เสนอให้มีการปฏิรูประบบสวัสดิการสังคมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน และการพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนว่า ที่ผ่านมารัฐเน้นการสงเคราะห์ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณสูงจึงจะสามารถครอบคลุมผู้ยากลำบากและผู้ด้อยโอกาสที่มีอยู่จำนวนมาก ขณะที่รายได้ของรัฐมีอยู่ค่อนข้างจำกัด จะไม่เพียงพอต่อการจัดสวัสดิการในลักษณะสงเคราะห์ให้ครอบคลุมกับประชากรที่ยากลำบาก ดังนั้น การปฏิรูปการจัดสวัสดิการสังคมให้ชุมชนมีส่วนในการคิด การร่วมรับผิดชอบผู้เปราะบางในสังคมร่วมกัน และให้รัฐบาลท้องถิ่นมีส่วนร่วมช่วยเหลือชุมชน จึงเป็นเรื่องที่ควรได้รับการสนับสนุนจากทั้งรัฐบาลและภาคประชาชน

ดร. วรวรรณ ระบุว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลมุ่งเน้นการสงเคราะห์แบบตั้งรับ โดยการรอให้ผู้ยากลำบากเข้ามาหาเพื่อขอรับความช่วยเหลือ ในขณะที่คนยากลำบากที่แท้จริงนั้นอยู่ในชุมชนเข้าไม่ถึงสวัสดิการจากรัฐ ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการ ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง หรือเด็กและผู้หญิงที่ถูกกระทำ โดยคนในชุมชนอยู่ในพื้นที่และทราบข้อมูลอย่างแท้จริง กลับมีบทบาทน้อยมากในการร่วมแก้ปัญหาของชุมชนและสังคม ในบางชุมชนที่มีกองทุนสวัสดิการชุมชนก็สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการดูแลผู้ยากลำบาก ซึ่งเมื่อคนเหล่านี้มีภาวะทางสังคมที่ดีขึ้นก็จะสามารถช่วยเหลือผู้อื่นในอนาคตได้

ตัวอย่างการจัดสวัสดิการโดยชุมชนที่น่าสนใจในประเทศไทย ได้แก่ กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์วัดไผ่ล้อม ผู้ริเริ่มก่อตั้ง คือ พระสุบิน ปณีโต แห่งวัดไผ่ล้อม ซึ่งกำหนดให้สมาชิกฝากเงินอย่างน้อยเดือนละ 10 บาท แต่ไม่เกิน 100 บาท เป็นประจำทุกเดือน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมความรู้เรื่องการบริหารเงินให้แก่คนในชุมชน โดยสมาชิกชุมชนที่นำเงินมาเก็บออม จะได้รับดอกเบี้ยเท่ากับดอกเบี้ยธนาคาร และสามารถกู้เงินดังกล่าวโดยใช้ความผูกพันทางสังคมเป็นหลักประกัน ส่วนกำไรที่ได้จากการปล่อยกู้จะถูกนำไปใช้เพื่อจัดสวัสดิการให้แก่คนในชุมชนตามที่คนในชุมชนต้องการ ซึ่งปัจจุบันกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์วัดไผ่ล้อมนี้ดำเนินการมากว่า 20 ปี มีสมาชิกกว่า 58,747 คน มีเงินหมุนเวียนกว่า 700 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การจัดสวัสดิการชุมชนในประเทศไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่มีบทบาทหน้าที่ในการคิดนโยบายเท่าใดนัก ยังทำหน้าที่เพียงเป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่ชาวบ้าน หรือกระตุ้นให้ชาวบ้านเรียนรู้การก่อตั้งกองทุนสวัสดิการภายในชุมชนของตนเองเท่านั้น ทั้งที่หนทางหนึ่งเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสวัสดิการชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนหลัก  ข้อจำกัดของการจัดสวัสดิการด้วยคนในชุมชนโดยปราศจากการสนับสนุนจากท้องถิ่น คือ เงินทุนที่มีอยู่จะจำกัดตามจำนวนสมาชิก และความสามารถของสมาชิกชุมชนในการส่งเงินฝากหรือสมทบแก่กองทุนฯ การเพิ่มบทบาทให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดหาและจัดสรรงบประมาณเพื่อให้มีเงินทุนที่เพียงพอต่อการจัดสวัสดิการด้วยตัวเองในกรอบของกฎหมาย จึงสำคัญเท่ากับการมีผู้นำและคณะทำงานบริหารกองทุนที่มีความรู้ และความสามารถในการติดต่อสัมพันธ์กับคนในชุนชนอย่างทั่วถึง เช่นเดียวกับการพัฒนาคนในชุมชนให้พร้อมปฏิบัติตามกติกาต่างๆ

ท้ายสุด ดร. วรวรรณ เน้นว่า ควรส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถมีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการเพื่อสังคมเนื่องจากมีประสิทธิภาพกว่าการกำหนดนโยบายจากส่วนกลางและจะมีสวัสดิการที่ตรงกับความต้องการของแต่ละพื้นที่ การส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถพึ่งพาตนเองทางการคลังได้ ด้วยการเพิ่มอำนาจในการจัดเก็บภาษี เช่น การเก็บภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่า หรือการจัดแบ่งรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถใช้ในการจัดสวัสดิการสังคม ทั้งนี้การแก้ไขระเบียบบังคับตามกฎหมายที่ว่าด้วยการส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่การปกครองส่วนท้องถิ่น และอาจรวมถึงการขับเคลื่อนให้แก้ไขข้อกฎหมายที่จำกัดหน้าที่บางประการของบุคคลในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น การอนุญาตให้นายก อบต. เป็นประธานกองทุนฯ เพราะพบว่าผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นนายก อบต. มักเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในชุมชนและเป็นผู้ก่อตั้งกองทุนสวัสดิการของชุมชน