วัฏจักร ‘แรงงานไทย’ ‘ค่าแรง-คุณภาพชีวิต’

ปี2015-05-07

ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าว สถานการณ์แรงงานเหมือนเดิมไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมาก เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจยังผันผวนขึ้นๆ ลงๆ โดยพิจารณาจากการว่างงานในไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 ที่อยู่ประมาณร้อยละ 0.8 หรือประมาณ 330,000 คน ซึ่งถือว่าไม่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในจำนวนนี้มีกลุ่มที่เกินค่าเฉลี่ยที่ประมาณร้อยละ 1.2 คือ ระดับปริญญาตรีและระดับมัธยมศึกษาตอนต้นซึ่งเป็นอัตราปกติในส่วนของปริญญาตรี

นอกจากนี้ มองว่าปัจจุบันการขาดแคลนแรงงานยังไม่ได้ลดลงมาก แต่มีการบริหารจัดการแรงงานที่ดี โดยการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทดแทนจึงมองว่าดีขึ้นแต่ยังมีความขาดแคลนอยู่ในทุกระดับ โดยเฉพาะระดับกลางคือ ม.ปลาย ปวช. และ ปวส.

ส่วนในเรื่องของค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา มีความจำเป็นในการขึ้นค่าจ้างและบางแห่งอย่างในกรุงเทพฯได้ค่าจ้างเกินค่าจ้างขั้นต่ำไปมากแล้ว หากขึ้นค่าจ้างอีกก็จะไม่กระทบกับภาคธุรกิจมากนัก ทั้งนี้มองว่าค่าครองชีพปัจจุบันขึ้นเกินร้อยละ 3 แล้ว โดยมองว่าควรปรับขึ้นค่าจ้างให้แรงงานเพื่อให้สามารถรักษาอำนาจในการซื้อของได้ และไม่ควรปรับขึ้นค่าจ้างเท่ากันทุกจังหวัด แต่ควรจะพิจารณาตามกลุ่มจังหวัดต่างๆ และกลุ่มอุตสาหกรรม โดยใช้กลไกไตรภาคีของคณะอนุกรรมการค่าจ้างแต่ละจังหวัดให้เป็นประโยชน์ แต่ทั้งนี้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้นก็ต้องพิจารณาความสามารถในการจ่ายของนายจ้างประกอบกันด้วย ดังนั้นควรจะปรับขึ้นเท่าที่จำเป็นจริงๆ

ด้านการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์และการทำประมงที่ผิดกฎหมายไร้การรายงานและไร้การควบคุม (ไอยูยู) นั้น มองว่ารัฐบาลไทยแก้ปัญหามาถูกทางแล้ว คือ การออกกฎหมายที่เข้มงวดที่รัฐบาลสามารถดำเนินการได้เร็วเนื่องจากใช้อำนาจตามมาตรา 44 การบูรณาการทำงานทุกหน่วยงานร่วมกัน รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง รัฐบาลดูเอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหาแต่ต้องรอดูการทำงานไปอีก 4-5 เดือนข้างหน้าว่าจะได้ผลมากน้อยแค่ไหน

หากมีความคืบหน้าก็มองว่าไทยมีแนวโน้มจะถูกปลดจากใบเหลือง

————————

หมายเหตุ: พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 7 พฤษภาคม 2558 ในชื่อ “วัฏจักร ‘แรงงานไทย’ ‘ค่าแรง-คุณภาพชีวิต’”