‘กองทุนผสม’…สู้ ‘เงินเฟ้อ’ ระยะยาว

ปี2015-05-24

สรวิศ อิ่มบำรุง

ช่วงนี้ดอกเบี้ยในประเทศทรงตัวในระดับต่ำแต่นักลงทุนอาจจะดูไม่ค่อยกังวลนักเพราะมองว่า “อัตราเงินเฟ้อ” ก็ต่ำจนติดลบ ทำให้ดูเหมือนผลตอบแทนที่ได้ยังไงก็ยังสูงกว่าเงินเฟ้ออยู่ดีแต่จากข้อมูลสถิติในอดีต “อัตราเงินเฟ้อ” ของไทยเฉลี่ยในช่วง 38 ปี ที่ผ่านมา (ปี 1977- 2015) อยู่ที่ 4.49% โดยเคยสูงสุดถึง 24.56% ในเดือนมิ.ย. 1980 และต่ำสุด -4.38% ในเดือนก.ค. 2009

การลงทุนเพื่อจะเอาชนะอัตราเงินเฟ้อที่กัดกร่อนอำนาจซื้อของเงินนั้น ควรจะมองไปที่เป้าหมายของการเอาชนะ “อัตราเงินเฟ้อ” เฉลี่ยในระยะยาวมากกว่า

Fundamentals สัปดาห์นี้ มีเรื่องราวมาฝากกัน

“เงินเฟ้อติดลบ” ของไทยไม่ใช่ภาวะเงินฝืด เข้าสู่ปี2558 มาได้ 4 เดือน “อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation)” ของไทยปรับตัวลดลงต่อเนื่อง 4 เดือน ติดต่อกันแล้ว โดยในเดือนม.ค. -0.41%เดือนก.พ. -0.52% และในเดือนมี.ค, และเม.ย.นั้น -0.57% และ -1.04% ตามลำดับ แต่ถ้ามองถึง “อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation)” นั้น ยังคงเป็นบวกอยู่ โดยในเดือนม.ค.อยู่ที่ 1.64% เดือนก.พ. 1.45% และในเดือนมี.ค.และเม.ย.นั้น อยู่ที่ 1.31% และ 1.02%ตามลำดับ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ “ดร.วิรไท สันติประภพ” ที่ปรึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI)บอกว่า เศรษฐกิจไทยมีตัวช่วย คือราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงมาโดยภาพรวมแล้วทำให้เศรษฐกิจไทยซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิได้ประโยชน์ แต่คงไม่ใช่ทุกกลุ่มที่ได้ประโยชน์ เช่น ภาคเกษตรที่ผลิตพลังงานทดแทน ภาคการส่งออก นอกจากนี้การที่ราคาน้ำมันลดลงทำให้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยกลับมาเกินดุลอีกครั้งนั่นทำให้ค่าเงินบาทของไทยมีแนวโน้มที่แข็งค่าขึ้นโดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน และเนื่องจากสัดส่วนของพลังงานและสินค้าเกษตรมีน้ำหนักมากในการคำนวณเงินเฟ้อจึงทำให้ “อัตราเงินเฟ้อทั่วไป” ของไทยติดลบในช่วงที่ผ่านมา แต่ถ้าดูในส่วนของ “อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน” นั้นไม่ได้ติดลบแต่ประการใด ดังนั้นเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันจึงไม่ได้เป็นเศรษฐกิจถดถอยแม้อัตราเงินเฟ้อจะติดลบก็ไม่น่ากลัวแต่ประการใด

“อัตราเงินเฟ้อก็เหมือนกับคอเรสเตอรอลมีทั้งดีและไม่ดี ถ้าอัตราเงินเฟ้อติดลบและเศรษฐกิจชะลอตัวด้วย อันนั้นเป็นภาวะเงินฝืด (Deflation) เป็นการติดลบมาจากปัจจัยด้านอุปสงค์ (Demand) แต่ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อติดลบจากด้านอุปทาน (Supply) คือ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ในขณะที่การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคและการลงทุนยังปรับตัวเพิ่มขึ้น จึงไม่ได้เป็นภาวะเงินฝืดแต่ประการใด หากพิจารณาอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่นำราคาพลังงานและราคาสินค้าเกษตรมาคำนวณยังคงเป็นบวกอยู่ การที่เงินเฟ้อติดลบเป็นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเท่านั้น”

“กองทุนผสม” ต่อสู้เงินเฟ้อระยะยาวได้ อัตราเงินเฟ้อที่ติดลบในปัจจุบันจึงน่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในระยะสั้นเท่านั้น เพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกเองก็มีแนวโน้มที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับปกติได้ในช่วงครึ่งปีหลัง หากมองอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 38 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ย 4.49% นั้น ถือว่าไม่น้อย บางแห่งใช้อัตราเงินเฟ้อระยะยาวของไทยเฉลี่ยระดับ 3.0% ก็ถือว่าไม่น้อยเช่นกัน ผลตอบแทนของดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในปัจจุบันก็ยังทรงตัวในระดับต่ำและมองไปข้างหน้าก็ยังคงไม่ขึ้นมาสูงได้มากเท่าไรนัก

หนึ่งในเครื่องมือที่น่าสนใจในการสร้างความมั่งคั่งและต่อสู้กับเงินเฟ้อในระยะยาวได้เป็นอย่างดีก็คือ “กองทุนผสม” ซึ่งมีการผสมสัดส่วนระหว่าง “หุ้น” และ “ตราสารหนี้” ในส่วนผสมที่แตกต่างกัน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น (ณ 31 มี.ค. 58) กลุ่ม “กองทุนผสมระดับกลาง (Moderate Allocation)” นั้น ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 7.19% ต่อปีส่วนกลุ่ม “กองทุนผสมเชิงรุก (Aggressive Allocation)” ที่เน้นสัดส่วนของหุ้นมากกว่าตราสารหนี้นั้น ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา 10.13% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยระยะยาวของไทยที่เฉลี่ย 4.49%ต่อปี พอสมควร

ด้วยการเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีจาก “หุ้น” และผสม “ตราสารหนี้” ที่มีความเสี่ยงน้อยกว่ามาช่วยลดความผันผวนของหุ้นลงในระยะยาว จึงเป็นอีกหนึ่งกองทุนที่น่าสนใจที่จะนำมาใช้เป็นสินทรัพย์หลักในพอร์ตการลงทุนได้เป็นอย่างดี

โดย “กองทุนผสม” มีจุดเด่นที่ทำให้นักลงทุนจะซื้อหุ้นตอนถูกและขายหุ้นตอนแพงอยู่เสมอนั่นเอง ที่เป็นกุญแจสู่ความสำเร็จในระยะยาวของกองทุนประเภทนี้ ที่ถูกกำหนดมาด้วยสัดส่วนของการลงทุนระหว่างหุ้นและตราสารหนี้นั่นเอง

กลไกแห่งความสำเร็จในระยะยาว ซื้อถูก-ขายแพง ลองมาดูตัวอย่าง สมมติกองทุนผสมมูลค่า 1,000 ล้านบาท มีนโยบายลงทุนในหุ้น 50% และตราสารหนี้ 50%ในช่วงที่ตลาดหุ้นดีราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไป 30% จะทำให้เงินลงทุนของกองทุนเพิ่มขึ้นเป็น 1,150 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15%

จากกำไรในหุ้นที่เพิ่มขึ้นทำให้สัดส่วนของหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 650 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 56.52%ในขณะที่ตราสารหนี้มีมูลค่า 500 ล้านบาท เท่าเดิมแต่สัดส่วนตราสารหนี้ลดลงเหลือ 43.47%

ด้วยกลไกการทำงานของกองทุนผสมจะทำการปรับสมดุลให้พอร์ตการลงทุนใหม่ (re-balance) โดยขายหุ้นออกมา 75 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อตราสารหนี้ ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการลงทุนในหุ้นเหลือ 575 ล้านบาท แล้วไปซื้อตราสารหนี้ 75 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนของตราสารหนี้เพิ่มขึ้นเป็น 575 ล้านบาท ซึ่งทำให้สัดส่วนการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้กลับมาเท่ากันอีกครั้งที่ 50-50 ตามนโยบายการลงทุน

ในช่วงตลาดหุ้นปรับตัวลงก็เป็นไปในทิศทางตรงข้าม เมื่อสัดส่วนหุ้นลดลงกองทุนก็จะขายตราสารหนี้ไปซื้อหุ้นเพื่อปรับสัดส่วนใหม่ให้สมดุลอีกครั้ง ทำให้กลไกกองทุนผสมดังกล่าวจะซื้อหุ้นตอนถูกและขายหุ้นตอนแพงตลอดเวลา ซึ่งเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จในระยะยาวของการลงทุนประเภทนี้นั่นเอง

ปัจจุบันมีกลุ่ม “กองทุนผสมโลก (Global Allocation)” ที่ผสมสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ทั่วโลกมาเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนเพิ่มเติมอีกด้วย โดยผลตอบแทนของกองทุนผสมโลกในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา เฉลี่ยอยู่ที่ 3.50% ต่อปี ก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน

โดย “นาวิน อินทรสมบัติ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บลจ.กสิกรไทยจำกัด มองว่า กองทุนผสมเหมาะกับการสร้างความมั่งคั่งในระยะยาวผลตอบแทนต่อสู้เงินเฟ้อได้ ในส่วนของกองทุนผสมต่างประเทศจะมีสินทรัพย์ที่ลงทุนเป็นตลาดใหญ่ที่มีความหลากหลายมากกว่าเฉพาะในประเทศไทย ไม่ว่าจะหุ้น ตราสารหนี้ หรือสินค้าโภคภัณฑ์ เป็นต้น โอกาสการลงทุนก็จะมากกว่าและการกระจายความเสี่ยงก็จะทำได้ดีกว่าทำให้ในแง่ของความผันผวนของกองทุนผสมโลกก็จะน้อยกว่ากองทุนผสมในไทยด้วย เหมาะจะใช้เพื่อกระจายความเสี่ยงได้สำหรับผู้ที่สนใจได้เช่นกัน

“เงินเฟ้อติดลบ” เป็นเพียงภาพในระยะสั้นจากการปรับลดลงของราคาสินค้าบางกลุ่ม แต่นักลงทุนควรจะมองถึงการสร้างผลตอบแทนเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อในระยะยาวมากกว่า “กองทุนผสม” ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่น่าจะเป็นคำตอบในการลงทุนให้กับคุณได้ต่อสู้กับเงินเฟ้อในระยะยาวได้เป็นอย่างดี หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่สนใจอยู่บ้างไม่มากก็น้อย

————————

หมายเหตุ: พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 24 พฤษภาคม 2558 ในชื่อ “’กองทุนผสม’…สู้ ‘เงินเฟ้อ’ ระยะยาว”