ทีดีอาร์ไอเตือนเกษตร ‘ขาลงยาว’ เร่งดันนวัตกรรม-อาหาร

ปี2015-05-25

ในการเสวนาทางวิชาการเร็วๆนี้ ทางทีดีอาร์ไอได้ออกมาประเมินสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตร ซึ่งสถานการณ์ราคายังไม่แน่ว่าจะกระเตื้องหรือฟื้นตัวในระยะ อันสั้น นอกจากนี้ภาคเกษตรยังเผชิญกับปัญหาระบบการผลิตต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพื่อความอยู่รอดในระยะยาว

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ปัจจุบันราคาสินค้าเกษตรเป็นช่วงขาลง และยังไม่มีใครทราบว่าสถานการณ์ราคาตกต่ำจะลากยาวเหมือนปี 2524-41 หรือไม่ ทั้งธนาคารโลกและองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) คาดว่าปี 2559 ราคาจะค่อยๆปรับตัวสูงขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจโลกและถ้าการลงทุนทางเทคโนโลยีจะทำให้ผลผลิตอาหารทั่วโลกเพิ่มขึ้น ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรในทศวรรษ 2560 อาจตกต่ำเหมือนในทศวรรษ 20-30 ก็ได้

สาเหตุที่ราคาตกต่ำเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าอาหารพลังงานรายใหญ่ที่สุดทำให้ราคาสินค้าเกษตรลดลง ราคาน้ำมันที่ลดลง เป็นผลให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำไปด้วย แม้ราคาน้ำมันที่ลดลงนี้จะทำให้ราคาปุ๋ยและค่าขนส่งทางเรือลดลง แต่ก็ไม่สามารถชดเชยราคาสินค้าได้

นอกจากนี้การซื้อขายสินค้าเกษตรส่วนใหญ่จะใช้เงินดอลลาร์เป็นสื่อกลาง เมื่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากนักเก็งกำไรในตลาดหุ้นลดความสนใจเก็งกำไรราคาสินค้าโภคภัณฑ์พื้นฐานจึงส่งต่อราคาสินค้าเกษตรด้วย

ราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำลงมีผลกระทบทั้งทางบวกและลบ เกษตรกรผู้มีผลผลิตส่วนเกินขายในตลาดจะมีรายได้ลดลง ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการที่ราคาตกต่ำ คือ ผู้บริโภค แรงงานนอกภาคเกษตร เกษตรกรที่ผลิตอาหารไม่เพียงพอต่อการบริโภคในครัวเรือน และคนยากจน แต่โดยรวมแล้วเชื่อว่าเกษตรกรไทยผลสุทธิอาจจะเป็นลบ รายได้สุทธิลดลง เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ที่มีผลผลิตเหลือขายมีรายได้ลดลง ขณะที่เกษตรกรที่ปลูกข้าวไม่พอกิน และได้ประโยชน์จากราคาข้าวสารที่ถูกลงมีจำนวนน้อยกว่าชาวนาที่มีข้าวเหลือขาย

“การปรับตัวของเกษตรกรไทยต่อราคาสินค้าเกษตร เดิมก่อนที่จะมีนโยบายยกระดับราคาสินค้าเกษตร ทั้งจำนำพืชผลและประกันรายได้ เกษตรกรปรับตัว เช่น การเปลี่ยนจากนาข้าวไปเป็นนากุ้งหรือเลี้ยงปลา และการปลูกพืชอายุสั้น แต่นโยบายรับจำนำราคาสูงและการประกันรายได้ทำให้ชาวนาหันมาปลูกข้าวเพียงอย่างเดียวจนล้นตลาด ล้นสต็อก เมื่อรัฐบาลเลิกจำนำ เกษตรกรบางรายจึงยังปรับตัวไม่ได้”

ขณะนี้ทุกฝ่ายทราบแล้วว่า แม้ชาวนาจะได้ประโยชน์จากการจำนำ แต่ก็เป็นเพียงผลในระยะสั้น และโครงการจำนำก่อให้เกิดความเสียหายมหาศาลต่อประเทศ

ในอดีต นโยบายสำคัญของรัฐที่ช่วยให้เกษตรไทยเข้มแข็งเป็นนโยบายเพิ่มผลผลิต และลดต้นทุน เช่น ทุ่มเงินวิจัยและส่งเสริมการเกษตร การลงทุนให้ผลตอบแทนเกิน 30% รัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ชลประทาน ถนน ไฟฟ้า ตลาดกลาง ฯลฯ แต่ระยะหลังรัฐทุ่มเงินส่วนใหญ่ในการอุดหนุน

แต่อนาคตไม่เหมือนอดีต เทคโนโลยีส่วนใหญ่จะมาจากภาคเอกชน ภาครัฐไม่ใช่พระเอกในการส่งเสริมการเกษตรอีกต่อไปตลาดสินค้าเกษตรในโลกเปลี่ยนแปลงจากเดิมมาก โลกต้องการอาหารคุณภาพ ปลอดภัย สด และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ภูมิอากาศ

เกษตรกรและรัฐจึงต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง อนาคตของภาคเกษตรต้องพิจารณาจาก 3 มิติ คือเกษตรกรรมกับใช้เทคโนโลยี เกษตรกรกับความรู้ และการจัดการ และเกษตรภูมิกับดินฟ้าอากาศ

เกษตรกรรมกับเทคโนโลยีนั้นแสดงให้เห็นว่าโลกกำลังก้าวสู่การปฏิวัติเขียวรอบที่สอง โดยต้องใช้เวลาสร้างเทคโนโลยีและส่งเสริมที่สั้นลงเพราะภาคการเกษตรต้องการ Genomics พันธุ์ต้านแล้ง ทนน้ำท่วม ต้านศัตรูพืช ข้าวหอมขึ้น เทียบกับการปฏิวัติครั้งแรกที่เกิดขึ้นในต้นทศวรรษ 2510 ภาคการเกษตรต้องการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพื่อลดความอดอยากของประชากรโลก ซึ่งรัฐบาลต้องเพิ่มการลงทุนใน R&D ภาคเกษตรประมาณ 1% ของ GDP เกษตรสร้างกฎกติกาใหม่ และสร้างความเข้มแข็งด้านวิจัยพัฒนา และส่งเสริมเกษตรกร

ปัจจุบันเอกชนเป็นผู้นำการวิจัยไม่ใช่รัฐอีกต่อไป มีการลงทุนข้ามชาติมากขึ้น แต่รัฐบาลไทยยังละเลยการสร้างนวัตกรรมนั่งกินแต่บุญเก่า แม้เงินส่งเสริมการเกษตรยังอยู่ระดับสูง แต่ขาดประสิทธิผลอนาคตเกษตรไทยจึงน่ากังวลมาก รัฐบาลต้องเข้ามากำหนดกติการ่วมลงทุนกับบริษัทข้ามชาติ การปฏิรูประบบวิจัย-พัฒนา-ส่งเสริมการเกษตรไทย การสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ และแรงจูงใจ สร้างใหม่ระบบ National Agricultural and Food Research System ใช้ ICT เป็นเครื่องมือในการวิจัยและส่งเสริมการเกษตร การสร้างนวัตกรรมการเกษตร-อาหาร

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจะมีผลกระทบต่อผลผลิตการเกษตรอย่างมีนัยสำคัญ คือ อากาศร้อนขึ้นและจำนวนวันที่ฝนไม่ตกเพิ่มขึ้น กระทบกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช ภาวะฝนแล้งทำให้มีน้ำชลประทานลดลง ภาวะน้ำท่วมทำให้ผลผลิตเสียหาย รัฐบาลต้องมีนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

ในขณะที่คุณสมบัติของเกษตรกรในอนาคตต้องใช้ความรู้มากขึ้น เช่น ปราชญ์ชาวบ้าน ไม่ใช่เกษตรกรมือถือ มีการผลิตที่หลากหลาย ฟาร์มครัวเรือนอาชีพแปลงใหญ่ รวมกลุ่มทำไร่นา ฟาร์มบริษัท เกษตรอินทรีย์ เกษตรทางเลือก ซึ่งการทำไร่นากำลังเริ่มเปลี่ยนจากฟาร์มขนาดเล็ก 20-40 ไร่ เป็นฟาร์มขนาดกลาง-ใหญ่ 100-500 ไร่ ใช้แรงงานน้อย อาศัยเครื่องจักร คล้ายยุโรป

วิธีการนี้ ซึ่งจะลดปัญหาคนหนุ่มสาวละทิ้งไร่นา เกษตรกรมีรายได้มากขึ้นและลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้

————————

หมายเหตุ: พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 25 พฤษภาคม 2558 ในชื่อ “ทีดีอาร์ไอเตือนเกษตร ‘ขาลงยาว’ เร่งดันนวัตกรรม-อาหาร”