ลดคอร์รัปชั่นและสร้างความทั่วถึงในการพัฒนาผ่านการทำงบฯ แบบมีส่วนร่วม(2)

ปี2015-05-07

 ธร ปีติดล

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในบทความตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้กล่าวถึงการทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม (Participatory Budgeting) ว่าจะเป็นทางออกที่ช่วยให้การกระจายอำนาจในประเทศไทยนั้นมีความโปร่งใสและสร้างความทั่วถึงในการพัฒนาได้

การทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วมเป็นนวัตกรรมทางประชาธิปไตยที่ถูกพัฒนาขึ้นมาที่เมือง Porto Alegre ในประเทศบราซิล โดยได้อาศัยการออกแบบกฎเกณฑ์การมีส่วนร่วมอย่างชาญฉลาดเพื่อที่จะให้ประชากรในเมือง Porto Alegre ที่มีมากกว่าล้านคนได้เข้ามามีส่วนในการกำหนดงบประมาณประมาณสิบเปอร์เซ็นต์ของเมืองที่ใช้ในด้านการลงทุนทางสังคม

ผู้ที่สนใจเรื่องการมีส่วนร่วมทั้งในด้านการพัฒนาและในทางการเมืองอยู่บ้าง คงพอเข้าใจว่าแม้การมีส่วนร่วมจะถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายว่าเป็นกระบวนการที่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้นานัปการ แต่ในความเป็นจริงแล้วการมีส่วนร่วมที่มีคุณภาพกลับเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากด้วยมักจะต้องประสบปัญหาพื้นฐาน เช่น คนทั่วไปมักจะไม่อยากเสียเวลาของตนเองเข้าไปมีส่วนร่วม (แต่กระนั้นก็มักจะอยากให้คนอื่นเสียสละเวลาแทน) หากจะให้การมีส่วนร่วมเกิดขึ้นได้ก็จะต้องอาศัยแรงผลักดันกำกับซึ่งก็มักจะทำให้คนที่เข้ามาผลักดันกำกับกระบวนการมีส่วนร่วมเข้ามากำหนดเป้าหมายของกระบวนการได้อีก

ผู้ที่ออกแบบกระบวนการทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วมที่เมือง Porto Alegre เข้าใจถึงปัญหาเหล่านี้ จึงได้พยายามออกแบบกฎเกณฑ์ในการมีส่วนร่วมให้แก้ปัญหาข้างต้นได้ โดยกฎเกณฑ์ในการมีส่วนร่วมที่ถูกออกแบบขึ้นนี้ แบ่งโครงสร้างของการมีส่วนร่วมออกเป็นสามระดับ

ระดับแรก คือ การมีส่วนร่วมในระดับที่ประชุมท้องถิ่น (regional assemblies) ซึ่งเป็นการมีส่วนร่วมทางตรงที่จะจัดไปตามพื้นที่ย่อยๆของเมือง ระดับที่สอง คือ ระดับตัวแทนท้องถิ่น (regional forum) ซึ่งจะเป็นการมีส่วนร่วมโดยตัวแทนที่ได้รับเลือกให้เข้าไปทำงานจากที่ประชุมท้องถิ่นโดยจะทำงานร่วมกันตลอดปี และระดับสุดท้าย คือ ระดับสภาการมีส่วนร่วมของเมือง (council of participation) ซึ่งเป็นระดับที่ตัวแทนที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมท้องถิ่นได้เข้าไปทำหน้าที่คู่ขนานไปกับสภาผู้แทนในระดับเมืองในการตัดสินใจด้านงบประมาณที่เกิดจากการมีส่วนร่วม

ความน่าสนใจในการออกแบบระบบการมีส่วนร่วมที่ Porto Alegre นั้นอยู่ที่การผสมผสานและเชื่อมโยงกระบวนการมีส่วนร่วมในสามระดับนี้

การมีส่วนร่วมทางตรงในระดับที่ประชุมท้องถิ่น (regional assemblies) ไม่ได้ถูกใช้เพียงเพื่อเลือกตัวแทนไปทำงานที่ระดับอื่นๆ แต่ยังถูกใช้เพื่อให้คนทั่วไปไม่ว่าใครก็ได้สามารถเข้ามามีส่วนในการตั้งคำถามกับผู้ที่ดำรงตำแหน่งบริหารในรัฐบาลท้องถิ่น โดยผู้บริการจำเป็นจะต้องเข้าไปชี้แจงสภาพการใช้งบประมาณที่ผ่านมาของเมืองในการประชุมระดับนี้ นอกจากนี้กลไกการเลือกตัวแทน จากระดับที่ประชุมเข้าสู่ระดับตัวแทนท้องถิ่น (regional forum) ยังใช้ระบบที่ให้พื้นที่ที่ระดมคนมาร่วมที่ประชุมได้มากมีโอกาสได้ตัวแทนมากกว่าเพื่อเป็นแรงจูงใจให้แต่ละคนในแต่ละพื้นที่ช่วยกันมาร่วม

แต่ผู้ที่ออกแบบการทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วมที่เมือง Porto Alegre ก็เข้าใจเช่นกันว่า การมีส่วนร่วมทางตรงจากคนทั่วไปนั้นไม่ได้เกิดขึ้นได้อยู่ตลอด จึงได้ออกแบบการมีส่วนร่วมตัวแทนท้องถิ่น (regional forum) ไว้ด้วยเพื่อให้มีตัวแทนจากแต่ละพื้นที่เข้ามาทำงานร่วมกันตลอดทั้งปีในการพัฒนาข้อเสนอด้านการใช้งบประมาณของเมือง ตัวแทนจากทุกพื้นที่จะต้องร่วมกันลงสำรวจความต้องการของทุกพื้นที่ย่อยของเมือง การทำงานร่วมกันนี้ช่วยให้ตัวแทนจากแต่ละพื้นที่ย่อยได้เห็นสภาพของพื้นที่อื่นๆ และไม่ได้มุ่งเพียงแต่จะหางบประมาณเข้าสู่พื้นที่ตัวเอง

สำหรับการมีส่วนร่วมที่เกิดขึ้นในระดับสูงสุดซึ่งก็คือ ระดับสภาการมีส่วนร่วม (council of participation) นั้น สัดส่วนตัวแทนที่มาจากแต่ละพื้นที่ย่อยจะเท่ากัน และพวกเขาจะมีหน้าที่ตัดสินใจเลือกลงทุนไปตามข้อเสนอที่ถูกพัฒนาขึ้นมาจากระดับตัวแทนท้องถิ่น ทั้งนี้การตัดสินใจจะต้องอิงกฎเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณที่ถูกออกแบบมาจากปีก่อนหน้า สาเหตุที่การออกแบบกฎเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณต้องทำไว้ล่วงหน้านั้นก็ด้วยความต้องการให้กฎเกณฑ์ที่ใช้มีความเป็นกลาง ไม่ได้ถูกกดดันได้จากสมาชิกในแต่ละปี

ผู้ที่รับเลือกเป็นตัวแทนทั้งในระดับตัวแทนท้องถิ่นและระดับสภาการมีส่วนร่วมของเมืองจะมีวาระการทำงานเพียงได้ 1 ปี และจะไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้มากกว่า 2 ครั้งติดต่อกัน เพราะผู้ที่ออกแบบกฎเกณฑ์เกรงว่าการที่คนคนเดียวได้อยู่ในตำแหน่งได้นานก็จะนำไปสู่การสร้างฐานอำนาจของตนเองเหนือกระบวนการได้

และที่สำคัญ แง่มุมที่ผู้ออกแบบการทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วมของเมือง Porto Alegre คำนึงถึงอยู่ตลอดก็คือความโปร่งใส โดยทุกข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการมีส่วนร่วมและงบประมาณจะต้องถูกเปิดเผย และการประชุมในทุกระดับก็จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปร่วมสังเกตการณ์ได้

ด้วยการออกแบบกระบวนการดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น การทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วมของ Porto Alegre ได้ช่วยส่งผลให้งบประมาณการลงทุนของเมืองถูกกระจายไปสู่พื้นที่ที่ยากจนมากขึ้น และยังสร้างความพอใจในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มคนชั้นกลางว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นในการใช้งบประมาณนั้นลดลง

สิ่งที่เกิดขึ้นใน Porto Alegre ชวนให้คิดไปว่า หากจะทำให้การเมืองท้องถิ่นของไทยมีการใช้งบประมาณที่โปร่งใสและเกิดประโยชน์อย่างทั่วถึงก็ย่อมมีหนทางที่จะทำได้ ขอเพียงให้เชื่อมั่นในกระบวนการกระจายอำนาจและความสามารถของกลไกที่เป็นประชาธิปไตย

———————-

ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 7 พฤษภาคม 2558 ใน “ลดคอร์รัปชั่นและสร้างความทั่วถึงในการพัฒนาผ่านการทำงบฯ แบบมีส่วนร่วม(2)”