ทีดีอาร์ไอจับมือธนาคารโลกเสนอปฏิรูประบบจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก

ปี2014-04-29

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย


ทีดีอาร์ไอและธนาคารโลกร่วมนำเสนอ “สูตรจัดสรรงบประมาณ” เป็นแนวทางใหม่ของการบริหารจัดการทรัพยากร เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ หวังเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่าย ลดความเหลื่อมล้ำ และช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็กและนักเรียนที่ยากจน


ในการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การบริหารจัดการทรัพยากรการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ” จัดโดย กระทรวงศึกษาธิการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ธนาคารโลก และสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2557 ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า การศึกษาไทยยังมีปัญหาด้านคุณภาพและมีความเหลื่อมล้ำสูง ทั้งที่งบประมาณการศึกษาเพิ่มขึ้นโดยตลอด การเพิ่มงบประมาณเพียงอย่างเดียวจึงไม่ได้ช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษา การปฏิรูปการศึกษาจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการจัดสรรงบประมาณใหม่

ปัจจุบัน การจัดสรรงบประมาณไม่ได้ส่งเสริมให้โรงเรียนปรับปรุงพัฒนาคุณภาพ แม้โรงเรียนบางแห่งมีผลการเรียนตกต่ำและนักเรียนย้ายออก แต่ผู้อำนวยการและครูยังได้รับงบประมาณและเงินเดือนเท่าเดิมหรือมากขึ้น ขณะเดียวกัน โรงเรียนที่ต้องการปรับปรุงคุณภาพ กลับบริหารทรัพยากรได้อย่างจำกัด เช่น โรงเรียนไม่สามารถคัดเลือกครูได้เอง และโรงเรียนบางแห่งได้รับงบประมาณต่ำกว่าต้นทุนจริงในการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมากมักมีครูไม่ครบชั้นเรียนและสาระวิชา ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อคุณภาพการเรียนการสอน

ในด้านความเหลื่อมล้ำ นักเรียนฐานะยากจนกลับได้รับเงินอุดหนุนรายหัวใกล้เคียงกับนักเรียนฐานะดี  โรงเรียนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ยากลำบากจำเป็นต้องได้รับงบประมาณมากกว่าเดิม เพื่อเพิ่มคุณภาพการศึกษา

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า สูตรการจัดสรรงบประมาณที่นำเสนอโดยคณะนักวิจัยจากธนาคารโลกจะเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการปฏิรูประบบการเงินเพื่อการศึกษา สูตรนี้จะคำนวณเงินอุดหนุนรายหัวที่สะท้อนต้นทุนการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ โดยพิจารณาจากผลการเรียนที่คาดหวัง ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียน และสภาพแวดล้อมของโรงเรียน เช่น ขนาดของโรงเรียน

จากสูตรนี้ นักเรียนที่ยากจนจะได้รับเงินอุดหนุนมากกว่า โรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลจะได้รับงบประมาณต่อหัวมากกว่าโรงเรียนในเมือง และนักเรียนทุกคนจะมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากงบประมาณที่จำกัด ภาครัฐอาจไม่สามารถเพิ่มงบประมาณให้กับโรงเรียนขนาดเล็กทุกแห่งได้ ภาครัฐจึงควรวางแผนจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก โดยแบ่งกลุ่มโรงเรียนและออกแบบนโยบายที่เหมาะสมสำหรับแต่ละกลุ่ม ไม่ใช้นโยบายเหมารวมอย่างการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กทั้งหมด เช่น กลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลไม่ควรถูกยุบรวม เพราะนักเรียนจะเข้าถึงโรงเรียนได้ยากขึ้น โรงเรียนควรได้รับความช่วยเหลือด้านทรัพยากรเพิ่มเติม กลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ไม่ไกลกันอาจร่วมกันจัดการศึกษาตามแบบ “แก่งจันทร์โมเดล” ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเลย เขต 1 ซึ่งมีโรงเรียนขนาดเล็ก 4 แห่งร่วมกันจัดการศึกษา โดยโรงเรียนแต่ละแห่งจะจัดการสอน 2 ระดับชั้น ซึ่งช่วยลดการขาดแคลนครูได้

นอกจากระบบการเงินเพื่อการศึกษา การปฏิรูปการศึกษาจำเป็นต้องทำในมิติอื่นพร้อมกันไปด้วย เช่น การพัฒนาคุณภาพการศึกษาก่อนวัยเรียน หรือระบบการบริหารบุคลากรครู ตั้งแต่การคัดเลือกครู การฝึกอบรมในคณะศึกษาศาสตร์ และการจัดสรรครู ซึ่งล้วนเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่ง แต่สังคมไทยยังขาดสถาบันวิจัยด้านการศึกษาโดยเฉพาะ ทีดีอาร์ไอจึงมีแนวความคิดที่จะจัดตั้ง “สถาบันวิจัยระบบการเรียนรู้” ขึ้น เพื่อทำวิจัยเชิงระบบและนำเสนอแนวทางการปฏิรูปการศึกษาสู่สังคมต่อไป