สัมภาษณ์พิเศษ: วิรไท สันติประภพ “ดอกเบี้ย” แค่เยียวยา ศก.

ปี2015-06-02

ศรัณย์ กิจวศิน

การเติบโตของเศรษฐกิจไทยช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำได้อย่าง “น่าผิดหวัง” ..ทุกต้นปี “ประมาณการ” เศรษฐกิจของแต่ละสำนักวิจัยมักออกมา “สูง” ก่อนจะถูก “ปรับลด” ในเวลาถัดมา จนหลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า “ศักยภาพเศรษฐกิจไทย” ที่ว่ากันว่าอยู่ระดับ 4-5% ยังเป็นเช่นนั้นอยู่หรือไม่

วิรไท สันติประภพ” ที่ปรึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ หนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ล่าสุดยังเป็น 1 ใน 5 แคนดิเดต ผู้สมัครคัดเลือกผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” โดยตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า การเติบโตอย่างเต็มศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในเวลานี้เริ่มชะลอลงอย่างชัดเจน

สาเหตุเพราะความสามารถการแข่งขันของเราลดลง โดยสิ่งที่เศรษฐกิจไทยกำลังขาดแคลน คือ “การลงทุนใหม่” ..วิรไท บอกว่า เราไม่เห็นสิ่งนี้มาตั้งแต่ช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนของภาครัฐหรือเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนที่เพิ่มประสิทธิภาพหรือศักยภาพของภาคการผลิต

“การลงทุนในที่นี้ไม่ได้หมายถึง การลงทุนประเภทสร้างบ้าน สร้างคอนโดมิเนียม หรือสร้างสนามกอล์ฟ แต่หมายถึงการลงทุนที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือที่ทำให้สามารถเพิ่มศักยภาพของการผลิตใหม่ๆขึ้นได้ เพราะการลงทุนในลักษณะนี้เริ่มชะลอลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงที่ผ่านมา”

วิรไท บอกด้วยว่า การจะสร้างฐานการผลิตใหม่ในอนาคต เราต้องดูด้วยว่าจะทำยังไงให้มีการส่งเสริมการลงทุนที่ดี ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะเกี่ยวข้องกับนโยบายอื่นๆอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านโลจิสติกส์ เพื่อลดต้นทุนขนส่ง นโยบายการเปิดเสรีในหลายๆภาคส่วน นโยบายเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ หรือแม้แต่นโยบายการค้ากับต่างประเทศ

ที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับ “นโยบายการค้าระหว่างประเทศ” น้อยมาก อาจเป็นเพราะเราอยู่ในช่วงรัฐบาลทหารทำให้บางประเทศไม่อยากคุยกับเรา แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่กำหนดตำแหน่งของตัวเอง เพราะของพวกนี้เราต้องทำงานล่วงหน้า เมื่อไหร่ที่มีการเลือกตั้ง เราต้องพร้อมเริ่มเจรจาได้ทันที

“ความชัดเจนในข้อตกลงทีพีพี(ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก) และ เอฟทีเอ(ข้อตกลงการค้าเสรี) กับยุโรป หรือแม้แต่อาเซียน เรายังให้ความสำคัญน้อยมาก ซึ่งประเทศที่ได้ประโยชน์ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่อยู่ในข้อตกลงเหล่านี้”

วิรไท ชี้ให้เห็นว่า การลงทุนในเวียดนามที่โตแบบก้าวกระโดด ส่วนหนึ่งเพราะประเทศเขาได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีด้านศุลกากร (จีเอสพี) เขาเซ็นสัญญาเอฟทีเอกับยุโรป เขาอยู่ในข้อตกลงทีพีพีทำให้บริษัทต่างชาติขนาดใหญ่หลายรายหันไปลงทุนในเวียดนามกันมากขึ้น เวียดนามในเวลานี้จึงกลายเป็นประเทศที่น่าสนใจลงทุนอย่างมาก

“เรื่องพวกนี้บ้านเราแทบไม่มีเลย ดังนั้น เวลานี้เวียดนามและมาเลเซียจึงกลายเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจของนักลงทุนต่างชาติ เพราะมีมติของการค้าเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งบ้านเราสถานการณ์ที่ผ่านมาอาจจะไม่เอื้อให้มาคิดเรื่องยาวๆแบบนี้ ดังนั้นที่ผ่านมาการทำนโยบายของ กนง. จึงเป็นลักษณะที่ช่วยสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการปรับตัว แต่การจะทำให้เศรษฐกิจโตได้ต้องมาจากนโยบายเศรษฐกิจอื่นๆ ด้วย”

สำหรับในมุมของนโยบายการเงิน ซึ่งเวลานี้หลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า กนง. หันมาใช้อัตราแลกเปลี่ยนในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นใช่หรือไม่ เรื่องนี้ วิรไท ซึ่งเป็นหนึ่งใน กนง. บอกว่า แม้การประชุมรอบนี้จะมีการพูดถึงอัตราแลกเปลี่ยนที่มากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า กนง. จะพุ่งเป้าไปที่อัตราแลกเปลี่ยนเพื่อกดให้ค่าเงินบาทอ่อน แล้วหวังผลต่อการส่งออกโดยตรง เนื่องจากสภาพแวดล้อมภายนอกในเวลานี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างการค้าระหว่างประเทศ

การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้มาจาก 2 เรื่องหลัก อันแรก คือ เศรษฐกิจจีนชะลอ ทำให้หลายประเทศในเอเชียไม่เฉพาะแค่ไทยที่ภาคส่งออกได้รับผลกระทบ อันที่สอง คือ ห่วงโซ่อุปทานในหลายประเทศเริ่มยาวขึ้น เช่น การผลิตรถยนต์ในอินโดนีเซีย เดิมที่ต้องนำเข้าชิ้นส่วนจากไทย ปัจจุบันเขาก็ผลิตเองในประเทศ

“ค่าเงินไม่ได้ช่วยทำให้การส่งออกดีขึ้น แต่อย่างน้อยก็ช่วยบรรเทาภาระของผู้ส่งออก โดยเฉพาะในภาวะที่รอบบ้านเรายังมีการทำนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งพวกนี้ก็มีผลต่อค่าเงิน”

ส่วนการตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 1.5% ในการประชุม กนง. เมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา วิรไท บอกว่า กนง.เสียงส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจอ่อนแอกว่าที่คาด ขณะที่ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพเริ่มลดลง และเงินเฟ้อก็อ่อนกำลังลง ดอกเบี้ยนโยบายจึงสามารถปรับลงได้ เพื่อเป็นการดำเนินนโยบายในลักษณะ Pre-emtive คือ ทำล่วงหน้าเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจตามมา

“ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพไม่ได้เยอะเหมือนอดีต ราคาสินค้าหลายตัวเริ่มลดลง แบงก์พาณิชย์ก็เริ่มระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ทำให้สินเชื่อไม่ได้โต ในขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจมีความเสี่ยงในด้านต่ำมากขึ้น โดยเฉพาะแรงส่งแบบไตรมาสต่อไตรมาส ซึ่งพวกนี้ acknowledge อยู่ในมติของการทำนโยบาย เราจึงทำนโยบายกึ่ง Pre-emtive รองรับสถานการณ์ได้”

นอกจากนี้แล้ว การตัดสินใจลดดอกเบี้ยของ กนง. รอบที่ผ่านมา ไม่ได้หวังจะให้สินเชื่อใหม่เติบโตขึ้น แต่หวังผลในเรื่องต้นทุนการเงินภาคเอกชนและประชาชนที่ลดลง ทุกวันนี้เครื่องมือ “ดอกเบี้ย” เป็นเครื่องมือที่ใช้เยียวยา

“นโยบายการเงินไม่สามารถเป็นเครื่องมือที่ทำให้เศรษฐกิจกลับมาโตแรงๆได้ แต่เป็นเหมือนน้ำมันหล่อลื่นช่วยประคับประคองไปในทิศทางที่ถูก และช่วยในการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจจริง เพียงแต่ตรงนี้จำเป็นต้องมีการส่งผ่านที่ดีด้วย”

————————

หมายเหตุ: พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 2 มิถุนายน 2558 ในชื่อ “สัมภาษณ์พิเศษ: วิรไท สันติประภพ “ดอกเบี้ย” แค่เยียวยา ศก.”