ดันตั้งองค์กรกลางควบรวม 3 กองทุนประกันสุขภาพรัฐ

ปี2015-06-05

วงถกอนุกรรมการศึกษาพัฒนากลไกกลาง ลดเหลื่อมล้ำ เตรียมเสนอร่างกฎหมายจัดตั้งองค์กรระดับกรมดูแลระบบประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบเข้าคณะกรรมการประสานระบบสุขภาพแห่งชาติฯ 8 มิ.ย.นี้ เชื่อแก้เหลื่อมล้ำการเข้าถึงบริการสาธารณสุขชาติ

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดประชุมระดมความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใต้โครงการกลไกกลางเพื่อการบูรณาการระบบหลักประกันสุขภาพ เมื่อวานนี้ (4 มิ.ย.)

นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานอนุกรรมการศึกษาและจัดทำข้อเสนอการพัฒนากลไกกลางเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กล่าวว่า เรามีความพยายามที่จะสร้างกลไกกลางให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด และท้ายที่สุดจะขับเคลื่อนเพื่อให้ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมมากที่สุดในด้านสาธารณสุข

เขากล่าวว่า ในการประชุมระดมความคิดเห็นวานนี้ (4 มิ.ย.) คณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอฯ จะนำไปปรับปรุงและนำเข้าที่ประชุม ในวันที่ 8 มิ.ย.นี้ เพื่อสรุปเป็นข้อเสนอสุดท้าย ก่อนที่จะเสนอให้คณะกรรมการประสานระบบสุขภาพแห่งชาติ 3 กองทุนที่มีนายอัมมาร สยามวาลา เป็นประธานทำการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขและส่งต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

นางวรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านประกันสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ กล่าวว่า ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของไทยแบ่งเป็น สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ 5 ล้านคน ระบบประกันสังคม 11 ล้านคน และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 48 ล้านคน

เธอเห็นว่า แหล่งที่มา วิธีการจ่ายเงิน และการให้บริการของทั้ง 3 ระบบนั้นแตกต่างกัน ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่อประชากรผู้มีสิทธิในการรับบริการด้านสุขภาพ

นางวรวรรณ กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบความเหลื่อมล้ำด้านผลลัพธ์ทางสุขภาพระหว่างระบบสวัสดิการถ้วนหน้ากับระบบข้าราชการของโอกาสการอยู่รอดของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 5 โรค ติดตามตั้งแต่อายุ 60 ปี หลังจากเข้ารับการรักษา 10 วัน พบว่า 82% ผู้ป่วยระบบข้าราชการยังคงมีชีวิตอยู่ และ 68% ผู้ป่วยระบบสวัสดิการถ้วนหน้ายังคงมีชีวิตอยู่ แต่ถ้าหลัง 40 วัน พบว่า 57% ผู้ป่วยระบบข้าราชการยังคงมีชีวิตอยู่ และ29% ผู้ป่วยระบบสวัสดิการถ้วนหน้ายังคงมีชีวิตอยู่

จากการประชุมอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอฯ ที่ผ่านมาได้มีข้อเสนอให้จัดทำร่าง พ.ร.บ. กำกับระบบประกันสุขภาพภาครัฐเพื่อกลไกกลาง โดยมีการจัดตั้งสภาประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการหรือองค์การมหาชนซึ่งมีองค์ประกอบในการสร้างความกลมกลืนหรือเป็นกลไกกลางระหว่างภาครัฐกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น กองทุน สมาชิก และผู้ให้บริการที่มีกรรมการอย่างน้อย 2 ชุด คือ กรรมการนโยบาย และกรรมการด้านประกันสุขภาพ

แต่ทั้งนี้ที่ประชุมอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอฯได้มีข้อสรุปใหม่ว่า ให้มีกรรมการเพียงชุดเดียวในการทำงานทั้ง 2 กลไก คือ กลไกที่สนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ และกลไกการกระจายทรัพยากรให้บรรลุเป้าหมายระบบประกันสุขภาพ

โดยองค์ประกอบของกรรมการมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการพร้อมด้วยกรรมการที่สำคัญ ภาครัฐ ประกอบด้วย รัฐมนตรีจากกระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงแรงงาน ผู้แทนหน่วยงานผู้รับประกัน (กองทุน) จำนวน 3 คน ได้แก่ กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ส่วนผู้แทนผู้ให้บริการ 3 คน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอื่น และภาคเอกชน ขณะที่ผู้แทนผู้รับบริการ (สมาชิก) 3 คน ได้แก่ ข้าราชการ ผู้ประกันตน และประชาชน ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตลอดจนผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และผู้ทรงคุณวุฒิที่ ครม. แต่งตั้งอีก 3 คน มาจากสาขาการแพทย์และสาธารณสุข สาขาการเงินการคลังและการประกันสุขภาพ และสาขาสังคมศาสตร์และการคุ้มครองผู้บริโภค

ทั้งนี้ นายจักรกฤษณ์ ควรพจน์ นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. เกี่ยวกับกองทุนประกันสุขภาพฉบับนี้ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอฯแล้ว ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในด้านการเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขของทั้ง 3 ระบบให้มีการบริหารจัดการที่เป็นเอกภาพ

เขากล่าวต่อว่า สำหรับร่างกฎหมายฉบับนี้จะเป็นการแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยการจัดตั้ง “สำนักงานสภาประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือหน่วยงานกลางขึ้นเป็นส่วนราชการที่มีฐานะเทียบเท่ากรม สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ภายใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรีเพื่อเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารจัดการระบบสุขภาพของรัฐทั้ง 3 ระบบอย่างเป็นบูรณาการ โดยยึดหลักความเสมอภาค มีคุณภาพ และเกิดประสิทธิภาพ

————————

หมายเหตุ: พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 5 มิถุนายน 2558 ในชื่อ “ดันตั้งองค์กรกลางควบรวม 3 กองทุนประกันสุขภาพรัฐ”