tdri logo
tdri logo
8 มิถุนายน 2015
Read in Minutes

Views

ค้านเลิกค่าแรงขั้นต่ำ “300” “ทีดีอาร์ไอ” หวั่นเอื้อนายจ้างเลี่ยงกฎหมาย-ธุรกิจตั้งโรงงานใหม่

เตือนกระทบผู้มีรายได้น้อย ส่งผลการเคลื่อนย้ายแรงงาน หวั่นขาดแคลนหนัก

นักวิชาการค้านเลิกค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ชี้ “นายจ้าง-ลูกจ้าง” ส่วนใหญ่ได้ประโยชน์น้อย เนื่องจากปรับตัวไปแล้วหลังประกาศใช้มา 3 ปี ระบุเอื้อประโยชน์ผู้ประกอบการ “เลี่ยงกฎหมาย-สร้างโรงงานใหม่” แนะนโยบายค่าแรงต้องมีข้อมูล ไม่ใช้การเมืองตัดสินใจ เตือนระวังปัญหาตามมา เกิดกระแสเคลื่อนย้ายแรงงานรุนแรง

กรณีข้อเสนอให้ยกเลิกการประกาศใช้อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ และกลับไปใช้การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำตามแบบเดิมผ่านคณะกรรมการค่าจ้าง กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริง นอกจากเอื้อประโยชน์ธุรกิจที่ต้องการสร้างโรงงานใหม่ และอาจทำให้เกิดปัญหาแรงงานเคลื่อนย้ายตามมา

คณะกรรมการค่าจ้างเตรียมพิจารณาโครงสร้างค่าจ้างใหม่ ซึ่งหากมีการกลับไปใช้หลักการเดิมจะทำให้ต้องยกเลิกค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 300 บาท ตามมติคณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2556 ทั้ง 77 จังหวัด

นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าจากข้อมูลที่ได้จากการศึกษาวิจัย พบว่าภายหลังจากการประกาศค่าแรง 300 บาท จนถึงปัจจุบันยังมีอีกหลายจังหวัดที่นายจ้างไม่สามารถจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทได้ตามที่กฎหมายกำหนด

จากแรงงาน 14 ล้านคน พบว่า มีแรงงานอีกประมาณ 2 ล้านคน ที่ยังได้รับค่าแรงขั้นต่ำในอัตราต่ำกว่า 300 บาท โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือตอนบน ที่เป็นพื้นที่ที่ไม่มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขณะที่ในกรุงเทพฯก็ยังมีแรงงานที่ไม่ได้ค่าจ้าง 300 บาท ประมาณ 2-3%

หากประกาศยกเลิกกฎหมายค่าจ้างแรงงาน 300 บาททั่วประเทศจริง ประโยชน์ที่ภาคเอกชนจะได้อาจมีไม่มากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่ปรับตัวเพื่อรองรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งการใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรเพิ่มเติม การปรับลดแรงงาน หรือนายจ้างบางส่วนใช้วิธีการเจรจากับแรงงานในการจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ทั้งสองฝ่าย

ต้นทุนค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มขึ้นไปแล้ว คาดว่าจะไม่ปรับลดลง เช่นเดียวกับนายจ้างที่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายกำหนดก็คงไม่ปรับลดค่าจ้างลงมา แม้จะยกเลิกกฎหมาย

การประกาศยกเลิกค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท อาจทำให้ภาคเอกชนที่เคยตัดสินใจไม่เข้าไปลงทุนในพื้นที่หลายจังหวัด เนื่องจากคำนวณต้นทุน และค่าจ้างแรงงานแล้ว ไม่จูงใจในการลงทุนหันมาให้ความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในพื้นที่ห่างไกลมากขึ้น หากสามารถตกลงค่าจ้างกับแรงงานได้ในอัตราที่เหมาะสม
นายจ้างที่ไม่ปรับแรงงานได้ประโยชน์

“มองว่ากลุ่มที่จะได้ประโยชน์ก็คือ กลุ่มนายจ้างที่ยังไม่ปรับค่าแรง 300 บาท ตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งมีอยู่ในหลายจังหวัด โดยเฉพาะในภาคบริการที่นายจ้างตกลงกับลูกจ้างว่า ขอยังไม่ปรับค่าแรงหากยกเลิกกฎหมายในส่วนนี้ก็เหมือนการนิรโทษกรรมให้ คือ ไม่มีความผิด แต่ผมมองว่าจะประกาศยกเลิก หรือไม่ ไม่มีผลในทางปฏิบัติมากนัก เพราะภาคธุรกิจปรับตัวกันไปมากแล้ว

ขณะที่ในหลายจังหวัดที่ไม่มีธุรกิจขนาดใหญ่มีแต่โอทอป หรือธุรกิจบริการขนาดกลางและขนาดเล็กตรงนี้ นายจ้างกับลูกจ้างเขาตกลงกันเพื่อให้อยู่ได้ทั้งสองฝ่าย บางพื้นที่ก็ยังจ่าย 250-260 บาทต่อวัน” นายยงยุทธ กล่าว

นายยงยุทธ กล่าวว่า ในการกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละพื้นที่ สิ่งที่คณะกรรมการไตรภาคีกำหนดค่าจ้างควรพิจารณาก็คือ พิจารณาจากตัวเลขที่เป็นตัวแทนค่าครองชีพคือ ตัวเลขดัชนีผู้บริโภค (CPI) ซึ่งในส่วนนี้กระทรวงพาณิชย์ควรเข้ามามีบทบาทในการจัดทำตัวเลขดัชนีผู้บริโภคจังหวัดและมีการปรับปรุงให้สะท้อนภาวะค่าครองชีพในแต่ละพื้นที่ให้มากที่สุดเพื่อให้คณะกรรมการกำหนดค่าจ้างสามารถนำมาใช้พิจารณาตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสม

นอกจากนี้ตัวเลขที่ควรจะมีการนำมาพิจารณาก็คือ ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในจังหวัด (จีดีพีจังหวัด) ซึ่งตัวเลขส่วนนี้เป็นเสมือนตัวแทนภาวะการทำธุรกิจของนายจ้างซึ่งตัวเลขจีดีพีจังหวัดมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาซึ่งต้องมีการเก็บข้อมูลส่วนนี้อย่างสม่ำเสมอเพื่อนำมาใช้ในการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสม ซึ่งในจังหวัดที่มีจีดีพีสูงส่วนใหญ่นายจ้างจ่ายค่าแรงขั้นต่ำสูงกว่า 300 บาทอยู่แล้ว ขณะที่จังหวัดที่จีดีพีต่ำนายจ้างบางส่วนก็ไม่สามารถจ่ายค่าจ้าง ขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันได้
ไม่เห็นด้วยขึ้นค่าแรง340-360บาท

นายยงยุทธ กล่าวถึงการขอปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำซึ่งมีการเรียกร้องขอปรับขึ้นเป็นวันละ 340-360 บาททั่วประเทศว่า เป็นแนวทางที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากการกำหนดอัตราค่าแรงเท่ากันทุกพื้นที่ไม่สะท้อนความจริงของค่าครองชีพซึ่งก็ไม่แตกต่างจากการประกาศขึ้นค่าแรง 300 บาทเหมือนที่ผ่านมาซึ่งในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้จริง

สิ่งที่ควรพิจารณาคือ ค่าครองชีพในแต่ละพื้นที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากน้อยเท่าไรอาจจะมีการกำหนดสัดส่วนการเพิ่มขึ้นลดลงเป็นเปอร์เซ็นต์เพื่อให้มีค่ากลางในการวัดซึ่งคณะกรรมการจะสามารถพิจารณาได้ว่าค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มขึ้นในแต่ละปีควรปรับเพิ่มขึ้นค่าแรงขั้นต่ำหรือไม่ และควรปรับเพิ่มขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์

“ปัจจุบันเป็นช่วงที่ปลอดจากการเมืองอยู่แล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องทำนโยบายอะไรที่สนองการเมือง สิ่งที่ภาครัฐควรทำคือ ปล่อยให้การปรับเพิ่มค่าแรงเป็นไปตามภาวะความเป็นจริง หากจะมีนโยบายที่เข้าไปเปลี่ยนแปลงก็ต้องมีตัวเลขและข้อมูลที่ชัดเจนรองรับ ไม่ใช่สุ่มสำรวจแค่ 1,000- 2,000 ตัวอย่างแล้วมาสรุปเป็นข้อมูลแล้วตัดสินเป็นนโยบายเพราะอาจไม่ได้ข้อมูลที่ถูกต้องจากกลุ่มตัวอย่างที่แท้จริง”
ชี้กระทบผู้มีรายได้น้อย

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศจะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานผู้มีรายได้น้อย

“ส่งผลต่อการบริภาคภายในประเทศ และจะทำให้เศรษฐกิจโดยภาพรวมชะลอตัวลง หากกำหนดค่าแรงขั้นต่ำไม่เท่ากันจะทำให้อำนาจต่อรองของผู้ใช้แรงงานลดลง เกิดการกระจุกตัวของผู้ใช้แรงงานในเขตเมืองใหญ่ๆ เกิดปัญหาสถาบันครอบครัวต่อแรงงานระดับล่าง เนื่องจากจะมีการอพยพย้ายถิ่นไปทำงานในเมืองใหญ่เพื่อต้องการค่าแรงที่สูงกว่า การกำหนดอัตราเดียวทั่วประเทศจะทำให้ปัญหานี้บรรเทาลง และลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในต่างจังหวัด”

ส่วนกิจการขนาดกลางขนาดเล็กในต่างจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลต้องมีมาตรการอื่นเยียวยา แต่ไม่ควรไปปรับลดค่าแรงขั้นต่ำลงมา เพราะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยภาพรวม และกระทบต่อผู้ใช้แรงงานอย่างมาก

“ค่าแรง 300 ใช้มาระยะหนึ่งแล้ว กิจการและอุตสาหกรรมต่างๆก็ปรับตัวได้ระดับหนึ่ง และบางส่วนก็ย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงขั้นต่ำต่ำกว่าไทย แม้ยกเลิกค่าแรง 300 บาทจะไม่ได้ส่งผลบวกอย่างมีนัยยสำคัญต่อภาคการลงทุนภาคส่งออก”
ยันส่งออกไม่ได้รับผลกระทบค่าแรง300บาท

ส่วนที่กล่าวว่า ภาคส่งออกได้รับผลกระทบจากค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ไม่น่าเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง การที่ส่งออกติดลบเป็นผลจากปัจจัยอื่นๆ มากกว่า

นอกจากนี้จากการศึกษาวิจัยยังพบอีกว่า ผลิตภาพของแรงงานไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่ผลิตภาพของทุนปรับตัวดีขึ้นน้อยมาก ปัญหาเรื่องความสามารถในการแข่งขันของไทยจึงอยู่ที่ผลิตภาพของทุนมากกว่าผลิตภาพของแรงงาน ซึ่งขณะนี้เองในหลายกิจการหลายอุตสาหกรรมก็จ่ายค่าจ้างสูงกว่า 300 บาทอยู่แล้ว เพราะหากจ่ายต่ำกว่าก็หาแรงงานมาทำงานไม่ได้

นายอนุสรณ์ กล่าวเห็นด้วยกับการกำหนดค่าแรงตามประเภทอุตสาหกรรมและตามการพัฒนาการเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ และให้กำหนดจากความรู้ความสามารถของคนงาน และอุปสงค์อุปทานของตลาดแรงงานในแต่ละอุตสาหกรรมและแต่ละพื้นที่ซึ่งต้องแยกออกจาก
ระบุหัวเมืองใหญ่แรงงานหนี้สินท่วม

ระบบค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นค่าจ้างขั้นต่ำสุดที่จ่ายให้กับแรงงานไร้ฝีมือเพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ ค่าแรงขั้นต่ำที่จ่ายกันวันนี้ก็ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพอยู่แล้วสำหรับแรงงานในเมืองใหญ่ คนเหล่านี้เกือบ 80-90% จึงมีหนี้สินล้นพ้นตัวทั้งสิ้น ส่วนใหญ่เป็นแรงงานอพยพมาจากต่างจังหวัดโดยเฉพาะอีสาน

ในต่างจังหวัดบางจังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน แพร่ พิจิตร พะเยา เดิมค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 151 บาท ปรับมาเป็น 300 บาท แรงงานในพื้นที่ก็พออยู่ได้ น่าน ศรีสะเกษ เดิมได้ค่าแรงขั้นต่ำที่ 152 บาท สุรินทร์ และ ตากเดิมได้ค่าแรงขั้นต่ำที่ 153 บาท ปรับมาเป็น 300 บาท

คนทำงานในพื้นที่พออยู่ได้เพราะไม่ต้องเสียค่าเช่าบ้าน ไม่มีค่าใช้จ่ายค่าเดินทาง แต่ต้องมีชีวิตอยู่อย่างพอเพียงแม้ยังไม่ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทในต่างจังหวัดก็เกิดผลกระทบแล้วเมื่อผู้ใช้แรงงานคาดว่ารายได้ตัวเองจะลดลงในอนาคตหลังใช้ค่าจ้างลอยตัวตามพื้นที่ก็จะระมัดระวังในการใช้จ่ายส่งผลกระทบเศรษฐกิจชะลอตัวลง

ระบบค่าจ้างขั้นต่ำนั้นมีความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเป้าหมายความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ อย่างไรก็ได้เพื่อให้บรรลุความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจเพียงมิติเดียวโดยไม่ใส่ใจต่อการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ความสามารถในการแข่งขัน

หากไม่ได้กำหนดขึ้นบนความเข้าใจต่อการทำงานของกลไกตลาดของตลาดแรงงาน การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำโดยไม่ศึกษาอุปสงค์และอุปทานในตลาดแรงงานรวมทั้งการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีย่อมนำมาสู่ภาวะการว่างงานของแรงงานไร้ฝีมือได้

“ขณะนี้ประเทศอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงานจึงไม่มีปัญหาดังกล่าว การจ่ายค่าแรงงานขั้นต่ำหรือจ่ายค่าแรงต่ำเกินไปต่างหากกลับจะสร้างปัญหาการขาดแคลนรุนแรงมากขึ้นไปอีก”
ชนวน “ขาดแรงงาน” หนักขึ้น

นายพิบูลย์ มนัสพล กรรมการผู้จัดการบริษัท กู๊ดสตาร์ท จำกัด อดีตรองประธานสภาอุตสาหกรรมนครปฐม เจ้าของโรงงานสิ่งทอใน จ.นครปฐม สะท้อนความเห็นว่า การที่กระทรวงแรงงานมีมติให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามพื้นที่จังหวัดเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่แท้จริง โดยหลักการมองว่า เป็นสิ่งที่ดีที่จะกำหนดค่าจ้างแรงงานให้สอดคล้องค่าครองชีพที่แตกต่างกันในแต่ละจังหวัด

“อยากให้รัฐบาลคำนึงถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา อย่างกรณีจังหวัดที่ค่าแรงแตกต่างกันแต่มีพื้นที่ใกล้กันมาก เช่น รอยต่อของกรุงเทพฯ และนครปฐม อาจทำให้แรงงานจากนครปฐมแห่มาทำงานในกรุงเทพฯ” นายพิบูลบย์กล่าว

ขณะที่ จ.สุพรรณบุรี จ่ายค่าแรงถูกกว่า แรงงานอาจเคลื่อนมาที่จังหวัดนครปฐม เพราะพื้นที่ใกล้กันมาก จึงอาจก่อให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานขึ้นในบางจังหวัด ซึ่งการขาดแคลนแรงงานถือเป็นปัญหาใหญ่ของเอสเอ็มอี ทำให้ผู้ประกอบการต้องตัดสินใจจ้างแพงขึ้น กระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน
หวั่นเกิดปัญหาแรงงานเคลื่อนย้าย

สำหรับการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำที่ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ นายพิบูลย์มองว่า ผู้ประกอบการได้ปรับตัวมาระยะหนึ่งแล้ว และปัจจุบันส่วนใหญ่ก็มีการจ้างงานแพงกว่า 300 บาทอยู่แล้ว เนื่องจากปัญหาขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะกลุ่มสิ่งทอที่มักถูกแย่งคนไปโดยธุรกิจขนาดใหญ่ ตลอดจนไฮเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ เพราะแรงงานไม่อยากทำงานโรงงานแต่เลือกไปทำงานห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อแทนทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับค่าแรงให้สูงขึ้นเพื่อดึงแรงงานกลุ่มนี้กลับมาทำงาน

“ผมว่าการันตีขั้นต่ำไว้ที่ 300 บาท แล้วปล่อยลอยตัวไปเลยดีกว่า ใครอยากจ้างแพงกว่านี้ก็จ้าง เพราะจ้างถูกก็ไม่มีคนทำ คุณไปจ้างตามอัตราของแต่ละพื้นที่ พื้นที่ไหนจ้างแพงว่าแรงงานก็ข้ามไปทำ อยู่ฝั่งนี้ได้ 250 ข้ามถนนไปได้ 350 ถามว่าเขาจะไปที่ไหน คนงานหนีหมด ไม่คุ้มหรอก ผมว่าอย่าไปพลิกเลย มันช้าไปแล้ว”
แนะแก้ปัญหาที่ต้นตอ

ถามถึงปัญหาแรงงาน นายพิบูลย์ กล่าวว่าสำคัญสุดคือ การขาดแคลนแรงงานซึ่งมาจากหลายสาเหตุ ตั้งแต่คนเข้ามาสู่ระบบแรงงานน้อยลง จากคนไทยที่มีลูกน้อยลง การขยายตัวของประชากรไม่สอดรับกับการขยายตัวของอุตสาหกรรม ขณะร้านค้าสมัยใหม่เข้ามาแย่งแรงงานภาคอุตสาหกรรมไทยยังมีปัญหาเรื่องแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย และแรงงานถูกใช้เป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ในประเด็นการค้ามนุษย์

เหล่านี้เป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข โดยต้องแก้ที่ต้นเหตุ เช่น การเข้าไปบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้สามารถเข้ามาทำงานได้อย่างถูกต้อง ทำทุกอย่างให้เป็นระบบ เพื่อแก้ปัญหาแรงงานในระยะยาว

ปัจจุบัน โรงงาน กู๊ดสตาร์ท มีแรงงานประมาณ 80 คน เป็นต่างด้าว (พม่า) ราว 10 คน ที่เหลือเป็นคนไทย โดยในจำนวนนี้เกือบ 60 คน จ่ายค่าแรงเกิน 300 บาท เขาย้ำว่าค่าแรงไม่ใช่ปัญหา ปัญหาใหญ่คือ ขาดคน

————————

หมายเหตุ: พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 8 มิถุนายน 2558 ในชื่อ “ค้านเลิกค่าแรงขั้นต่ำ “300” “ทีดีอาร์ไอ” หวั่นเอื้อนายจ้างเลี่ยงกฎหมาย-ธุรกิจตั้งโรงงานใหม่”

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด